Under the Rainbow การขจัดความไม่เข้าใจกันด้วยศิลปะแห่งสายรุ้ง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ Under the Rainbow

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า “Under the Rainbow / ภายใต้สายรุ้ง”

โดยศิลปินสาวชาวเกาหลีใต้ ยูจินลี (Yujin Lee) ศิลปินเชิงสหวิทยาการผู้ผสมผสานสื่อและศาสตร์หลายหลากแขนง

Under the Rainbow (2019)

เธอสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดสองมิติและศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ ที่ประกอบขึ้นจากภาพและตัวหนังสือ

โดยมีจุดประสงค์ในการเป็นสื่อกลางที่สร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่พื้นที่ในโลกที่ร่างกาย ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อ ถูกแบ่งแยกออกจากกัน

“นิทรรศการนี้มีแนวคิดหลักมาจากความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับปัจจุบัน ที่มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งจากความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างมากในทั่วโลก ตัวฉันเองก็ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างหลายประเทศ ทั้งในเกาหลีและประเทศอื่นๆ การอยู่ในที่ที่ห่างไกลจากบ้านทำให้ฉันรู้สึกเหมือนกำลังมองจากมุมมองของบุคคลที่สาม ทำให้ฉันตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วเราต่อสู้กับอะไรและเพื่ออะไรอยู่กันแน่?”

ยูจินลีกล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ของเธอ

เริ่มต้นที่ผลงานชิ้นแรกในห้องนิทรรศการเล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ อย่าง In The Beginning Was___(2019)

The Beginning Was___(2019)

ผลงานวาดเส้นเหมือนจริงบนกระดาษ ภาพยูจินกับหญิงสาวอีกคนที่ถูกแยกออกเป็นหลายร่าง หลากอากัปกิริยา

ทำท่าทางราวกับกำลังสนทนาอะไรบางอย่าง ในภาพยังถูกแต่งเติมด้วยตัวหนังสือและสัญลักษณ์ที่แสดงการไหลผ่านของกาลเวลาเอาไว้

“งานชิ้นนี้มีที่มาจากโครงการศิลปะที่ฉันทำร่วมกับนิโคล มาลูฟ (Nicole Maloof) ศิลปินอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่ถูกชาวอเมริกันรับเป็นบุตรบุญธรรม งานชุดนี้เป็นงานศิลปะแสดงสดและวิดีโอที่สำรวจตัวตนและพื้นเพของพวกเรา โดยเป็นภาพของศิลปะแสดงสดที่เราสวมเสื้อผ้าเหมือนกัน นั่งตรงกันข้ามและพูดคุยกัน โดยมีกล้องวิดีโอถ่ายเราเอาไว้เป็นเวลา 5 ชั่วโมง”

“ตอนที่ฉันตัดต่อวิดีโอนี้ ฉันคิดว่าท่าทางเวลานั่งคุยของเราน่าสนใจมาก เพราะเวลาพูดคุย มือของฉันกับนิโคลมักจะขยับตามไปด้วย”

“ฉันสังเกตเห็นว่าท่าทางของเรามีความเข้มข้นกว่าสิ่งที่เราพูดมาก เพราะเรามีความปรารถนาที่จะเข้าใจกันและกัน เพื่อแสดงออกถึงอะไรก็ตามที่เราพูดอย่างกระจ่างแจ้ง เมื่อคนสองคน ร่างกายสองร่าง สมองสองก้อน ถูกแยกขาดออกจากกันโดยธรรมชาติ”

“งานชิ้นนี้จึงเกี่ยวกับการหาทางสร้างความเชื่อมโยง พยายามทำความเข้าใจมุมมอง ตำแหน่งแห่งที่ รวมถึงร่างกายและจิตใจของกันและกัน”

“ครึ่งปีหลังจากที่เราทำโครงการศิลปะนี้ ฉันรู้สึกว่าฉันต้องการสำรวจแก่นสารอีกครั้ง ฉันจึงขออนุญาตนิโคลเพื่อนำภาพในฟุตเทจในวิดีโอนี้มาวาดเป็นภาพลายเส้นออกมา”

“เหมือนเป็นการตีความของฉันเกี่ยวกับโครงการศิลปะที่เราทำร่วมกันครั้งนั้น และนิโคลกับฉันได้ไปเชียงใหม่เมื่อสามปีที่แล้ว การเดินทางในคราวนั้นเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตขึ้นมาเป็นนิทรรศการครั้งนี้ของฉัน ฉันจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ฉันจะรำลึกถึงโครงการศิลปะที่ฉันทำกับเธอครั้งนั้น”

“ภาพวาดลายเส้นชิ้นนี้จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้”

ตามมาด้วยผลงานชิ้นที่สองในห้องแสดงงานหลัก อย่าง Whisper (2017) ภาพพิมพ์สี่สี แสดงภาพของหญิงสาวคู่เดิมที่ทำท่าทางเหมือนกำลังกระซิบกระซาบความลับแก่กันอยู่

Whisper (2017) ภาพพิมพ์โฟโตกราวัวร์ (Photogravure ภาพพิมพ์โลหะจากแม่พิมพ์ภาพถ่าย

“ภาพนี้มีที่มาจากภาพถ่ายของฉันกับนิโคลตอนกำลังทำโครงการศิลปะที่ถ่ายที่เชียงใหม่ ถ้าสังเกตดูในภาพดีๆ จะเห็นว่าเราทำตัวเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนซึ่งกันและกัน ด้วยการใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน นั่งประจันหน้ากัน ฉันเอาภาพถ่ายที่ว่านี้ทำเป็นภาพพิมพ์ออกมา”

“ต่อด้วยผลงานชิ้นที่สามที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการอย่าง Under the Rainbow (2019) ภาพวาดลายเส้นบนผนังขนาดใหญ่สูงเกือบจรดเพดาน ซึ่งเป็นผลงานหลักในนิทรรศการครั้งนี้”

“ภาพวาดฝาผนังชิ้นนี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้ชมจะเห็นเมื่อเข้ามาในนิทรรศการครั้งนี้ และเป็นเหมือนการบ่งบอกว่าตอนนี้ตัวตนของฉันอยู่ที่ไหน มันเป็นภาพของมือที่กำลังทำรูปหัวใจ (กลับหัว) เป็นลักษณะหนึ่งของการสื่อสารและการใช้ภาษามือ ซึ่งเป็นภาษาที่ไร้คำพูด”

“ส่วนรูปทรงโค้งด้านบนเป็นรูปทรงของสายรุ้ง องค์ประกอบทั้งสองประกอบกันเป็นเหมือนสัญลักษณ์อินฟินิตี้ (?) เป็นเส้นที่ต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ ที่ฉันวาดภาพขนาดใหญ่แบบนี้เพราะต้องการเล่นกับขนาดและความรู้สึกที่แสดงถึงภาพรวมของความเป็นมนุษย์ ตัวหนังสือภาษาไทยสองข้างที่เขียนว่า “ความรัก”

“นอกจากจะสะท้อนกลับซึ่งกันและกันแล้ว ยังแสดงถึงการร่วมกันทำโครงการศิลปะของฉันกับนิโคลที่มีลักษณะเป็นการสะท้อนตัวตนของกันและกันด้วย”

มาที่ผลงานชุดที่สี่อย่าง Rainbow Portraits (2019) ภาพวาดหลากสีสันประกอบประโยคตัวหนังสือจากสีน้ำและหมึกบนกระดาษจำนวนแปดภาพ แขวนเรียงรายบนผนังห้องแสดงงาน

Rainbow Portraits (2019)

ดูๆ ไปภาพวาดเหล่านี้ก็คลับคล้ายคลับคลากับบรรดาสเตตัสในโซเชียลมีเดียอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

“งานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนชาวเกาหลีของฉันที่เติบโตและเรียนหนังสือในโลกตะวันตก ภาพวาดพวกนี้มีที่มาจากภาพและข้อความจาก Story ในอินสตาแกรมของเธอ โดยฉันใส่สีรุ้งเข้าไปเป็นฉากหลัง”

“สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินสตาแกรมก็คือ ทุกคนสามารถอ่านสิ่งที่คุณโพสต์ได้ แต่ในขณะเดียวกันภาพเหล่านี้จะถูกลบไปภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่โพสต์ ฉันสนใจในวัฒนธรรมการโซเชียลมีเดียที่แสดงออกอะไรบางอย่างและลบทิ้งไปตลอดเวลา”

ผลงานชิ้นสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดในนิทรรศการนี้มีชื่อว่า Learning Thai (2019) ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่รูปกระดานดำทรงโค้งเหมือนเงาของสายรุ้ง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงานได้

Learning Thai (2019)
Learning Thai (2019)

“ด้วยความที่ฉันเป็นคนต่างชาติ และไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเลย ฉันต้องการแสดงออกถึงแนวคิดเกี่ยวกับการที่คนต่างชาติพยายามสร้างความเชื่อมโยงและก้าวข้ามช่องว่างของความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรม”

“ฉันจึงตัดสินใจเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับประเทศไทยจากเพลงไทยหนึ่งเพลง โดยให้ผู้ชมงานเขียนชื่อเพลงไทยอะไรก็ได้ที่พวกเขาคิดว่าอยากให้ฉันเรียนรู้ แล้วฉันก็จะเลือกเพลงมาหนึ่งเพลง และวานให้ล่ามไทย/เกาหลีช่วยสอนฉันเกี่ยวกับเพลงที่ว่านี้”

“หลังจากจบงานแสดง ฉันคิดว่า ถ้าฉันร้องเพลงนี้ก็คงจะน่าสนุกดี”

นอกจากผลงานที่ว่ามาแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานศิลปะแสดงสด Drawing Conversation 2.0 (2019) ที่ยูจินลีทำร่วมกับศิลปินไทยเจ็ดคน อย่าง ดุจดาว วัฒนปกรณ์, นัทพล สวัสดี, ธนพล อินทร์ทอง, โอ๊ต มณเฑียร, ธนชัย อุชชิน, อุทิศ เหมะมูล และดุษฎี ฮันตระกูล เป็นจำนวนหกรอบ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 9, 16, 29 พฤศจิกายน และ 14, 21 ธันวาคม เวลา 14:30 น. ที่ห้องแสดงงานเล็กของหอศิลป์ และนอกสถานที่ที่ Siri House Bangkok วันที่ 23 พฤศจิกายน เวลา 11:30 น.

Drawing Conversation 2.0
Drawing Conversation 2.0

“งานชุดนี้ฉันจะทำการวาดภาพลายเส้นแบบอัตโนมัติ (Automatic drawing) บนกระดาษร่วมกับศิลปินที่ถูกเชิญมาเป็นเวลา 108 นาที ซึ่งอ้างอิงถึงปรัชญาศาสนาพุทธ (ตัณหา 108 ประการ) ที่ฉันศึกษามา โดยพวกเราจะทำการวาดภาพเงียบๆ โดยไม่พูดจากันเลย เมื่อวาดเสร็จ ภาพวาดจะถูกนำไปแขวนบนผนังห้องแสดงงานจนจบนิทรรศการ บนเพดานห้องนี้จะติดกล้องวิดีโอที่ถ่ายภาพแบบ Time-Lapse ที่ถูกเร่งความเร็วเอาไว้ และฉายในห้องแสดงงานเวลาที่ไม่มีการแสดงสด”

นอกจากนี้ ในนิทรรศการยังมีศิลปะแสดงสด Learning Thai ที่ยูจินลีเรียนเพลงไทยจากล่ามชาวเกาหลี จีโน่คิม ที่จัดแสดงในวันที่ 1, 15, 22 ธันวาคม 2562 อีกด้วย

“สิ่งที่ฉันต้องการนำเสนอในนิทรรศการนี้คือบางสิ่งบางอย่างที่นอกเหนือจากภาษา สำหรับฉัน สายรุ้ง เป็นสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสา และความทรงจำในวัยเด็กๆ ช่วงเวลาแรกเริ่มที่เราไม่มีอคติซึ่งกันและกัน แนวคิดของงานนี้เป็นอะไรที่เรียบง่าย คือเมื่อมีสายรุ้งบนท้องฟ้า และเราทุกคนอยู่บนพื้นดิน และต่างก็อยู่ใต้สายรุ้งนั้น โดยไม่มีใครอยู่เหนือสายรุ้ง นั่นทำให้เราทุกคนเท่าเทียมกัน และสามารถขจัดความขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่แบ่งแยกเราออกจากกันและกันได้”

Under the Rainbow (2019)

หลังจากดูผลงานในนิทรรศการนี้ ทำให้เราตระหนักได้ว่า ถึงแม้มนุษย์เราจะแตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม แต่ถ้าเราเปิดใจสื่อสารกันด้วยเครื่องมืออันเรียบง่ายและเป็นสากลอย่างศิลปะ เราก็อาจจะเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ไม่มากก็น้อย

นิทรรศการ Under the Rainbow / ภายใต้สายรุ้ง โดยยูจินลี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน – 22 ธันวาคม พ.ศ.2562 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15), เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์