จรัญ มะลูลีม : นักศึกษาไทยมุสลิมไปเปิดโลกต่างแดน

จรัญ มะลูลีม

นักศึกษาไทยมุสลิมในอินเดีย (2)

การพบปะนักศึกษาของดารุลอุลูมฯ นัดวาตุล อุลามา ที่ห้องประชุมของโรงแรมทัชมาฮาล เมืองลัคเนาว์ เต็มไปด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น มีนักศึกษาเข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง

งานเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอานโดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งนี้ มีนักศึกษาเป็นผู้ดำเนินรายการทั้งหมด

ในช่วงเช้าก่อนหน้าการพบปะนักศึกษานายกสมาคมของดารุลอุลูมฯ ได้นำอัครราชทูต ธีรภัทร มงคลนาวิน และผมเข้าพบกับรองผู้อำนวยการดารุลอุลูมฯ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการติดภารกิจอยู่ในรัฐอื่นของอินเดีย

การพบปะพูดคุยกับรองผู้อำนวยการของดารุลอุลูมฯ จะเป็นเรื่องสถานภาพของนักเรียนไทย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมกับสถาบันแห่งนี้ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการศึกษาต่อหลังจากจบการศึกษา โดยการพบปะพูดคุยเป็นไปอย่างฉันมิตร

รองผู้อำนวยการได้กล่าวถึงบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ของนักศึกษาไทยที่เคยเดินทางมาศึกษาที่นี่ และการเดินทางของคณะผู้บริหารที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ส่งบุตร-หลานมาเรียนที่สถาบันแห่งนี้

ทั้งนี้ ดารุลอุลูมฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจากประเทศไทยได้มาศึกษาต่อที่ดารุลอุลูมฯ

 

กิจกรรมพบปะแนะแนวเริ่มต้นโดยอัครราชทูตธีรภัทร มงคลนาวิน ที่นำเสนอภาพรวมทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวไทยและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ASEAN

จากนั้นผมก็ได้กล่าวถึงระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและการเดินทางไปศึกษาในประเทศต่างๆ ของนักศึกษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษามุสลิมที่เดินทางไปศึกษาในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป (ตุรกี) เอเชียและแอฟริกา และการกลับมาทำงานหลากหลายอาชีพในประเทศไทย

ทั้งนี้ หากจำแนกนักศึกษาไทยมุสลิมที่เดินทางไปศึกษาในดินแดนต่างๆ ก็จะกล่าวโดยภาพกว้างๆ ได้

ดังนี้

แอฟริกา นักศึกษาไทยมุสลิมจะเดินทางไปศึกษาในประเทศต่อไปนี้คือ อียิปต์ ตูนิเซีย โมร็อกโก ลิเบีย แอลจีเรีย (อันเป็นสองประเทศที่มีน้ำมันดิบชั้นยอด (light Crude Oil) ของโลก) ซูดาน (เหนือ)

(ปัจจุบันซูดานแยกออกเป็นซูดานเหนือและซูดานใต้ น้ำมันที่ซูดานค้นพบจะอยู่ในซูดานใต้ โดยก่อนแยกประเทศได้มีข้อตกลงแบ่งรายได้ที่มาจากน้ำมันระหว่างสองประเทศอย่างเท่าเทียมกัน)

ทั้งนี้ มีนักศึกษาไทยมุสลิมจำนวนหนึ่งศึกษาอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่มุ่งศึกษาวิธีการจดจำคัมภีร์อัล-กุรอานทั้งเล่มที่เรียกว่าฮาฟิซ (Hafiz)

เอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน เลบานอน โอมาน กาตาร์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน (สำหรับผู้ถือนิกายชีอะฮ์ (Shi”ah School of thought)) ซีเรีย และอิรัก (ซึ่งมีทั้งนักศึกษาไทยที่เป็นผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์และซุนนี)

เอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และศรีลังกา ทั้งนี้ ในเอเชียใต้ยังไม่เคยมีนักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาในประเทศมัลดีฟส์และอัฟกานิสถาน

ในทำนองเดียวกันยังพบว่าไม่เคยมีนักศึกษาไทยไปศึกษาในเอเชียกลาง อย่างอุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน หรือทาจิกิสถานแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับที่ยังไม่เคยมีนักศึกษาไทยไปเรียนในประเทศยุโรป ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่แยกตัวออกมาจากอดีตยูโกสลาเวียอย่างบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาหรือโคโซโวเช่นกัน

หากกล่าวถึงจำนวนนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของโลกเรียงตามจำนวนอาจมีดังนี้

แอฟริกาเหนือ ได้แก่ อียิปต์ ซูดาน (เหนือ) ลิเบีย (ก่อนอาหรับสปริง) แอลจีเรีย ตูนิเซีย และโมร็อกโก ส่วนในแอฟริกาใต้ (ดังได้กล่าวมาแล้ว) มีนักศึกษาชาวไทยมุสลิมจำนวนหนึ่งเรียนการท่องจำคัมภีร์อัล-กุรอานอยู่ในประเทศนี้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีสถิติว่ามีนักศึกษาไทยมุสลิมไปเรียนในภาคพื้นทวีปอินโดจีนอย่างกัมพูชา พม่า ลาว ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่แต่อย่างใด

แม้ว่าประเทศอย่างกัมพูชาจะมีดินแดนกัมปงโสมที่มีชาวมุสลิมอยู่จำนวนมากและทั่วประเทศกัมพูชาจะมีมัสญิดอยู่นับร้อยแห่งก็ตาม

 

หลังการพบปะกับนักศึกษาของดารุลอุลูมฯ ผมได้รับเชิญให้ไปเยือนอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองลัคเนาว์ที่มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ 3 คน

มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อว่ามหาวิทยาลัยอินติกรัล (Integral) อันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักศึกษาไทย โดยมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ได้รับการรับรองจากองค์การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม (Scientific & Industrial Research Organization หรือ SIRO) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย

Integral เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสาขาสำคัญต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เกษตรศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การจัดการทางคอมพิวเตอร์ พาณิชยศาสตร์และการจัดการศึกษา มานุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การวิจัยในระดับปริญญาเอก กฎหมาย สาธารณสุขและการแพทย์ การจัดการห้องสมุดและศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสารและโปลีเทคนิค

ในการเยือนครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยให้เกียรติพาผมไปดูการผ่าตัดของคณะแพทยศาสตร์ในหลายห้องผ่าตัดอย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อการศึกษาด้านการแพทย์และการบริการทางการแพทย์สำหรับประชาชน โดยในวันนั้นมีคนไข้นับร้อยคนเข้ามารอรับการรักษา ตรวจโรคและส่วนหนึ่งเข้าผ่าตัด

โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยมีอุปกรณ์ทันสมัย ประกอบด้วยเตียงคนไข้จำนวน 550 เตียง มีห้องผ่าตัดรวม 14 ห้อง และห้องคนไข้ 26 ห้อง มีรถของโรงพยาบาลจำนวนมากที่เดินทางไปรับคนไข้ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาล

โดยทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่าแพทย์ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้มีประสบการณ์ในการให้บริการแก่นักศึกษา คนงานและผู้เข้ามารับการรักษาตลอด 24 ชั่วโมง

 

มหาวิทยาลัย Integral เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเมืองลัคเนาว์ที่ได้รับการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติที่ 9 แห่งปี 2004 โดยรัฐบาลแห่งรัฐ (State Government)

ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกองทุนมหาวิทยาลัย (University Grants Commission หรือ UGC) ตามพระราชบัญญัติ UGC 1956 สภาการแพทย์ของอินเดีย สภาเภสัชกรรมของอินเดีย สภาการพยาบาลของอินเดีย และสภาสถาปัตยกรรมของอินเดีย

มหาวิทยาลัย Integral จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักศึกษาไทยในอนาคต

แม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ยังใหม่อยู่มากก็ตาม