จะอยู่กันอย่างไร ในสภาวะแบบนี้ ?

จะอยู่กันยังไง

หลังจากพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลแบบอำนาจนิยม ยังสร้างความหวังที่จะประคับประคองภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนในระดับปากท้อง กระทั่งชีวิตประจำวันของผู้คนจะอยู่อย่างยากลำบาก มาได้ระยะหนึ่ง

หรือจะว่าไปคนของรัฐบาลสามารถกล่อมประสาทให้ชาวบ้านร้านตลาดเชื่อในแบบที่อยากให้เชื่ออยู่ยาวนานพอสมควร

แต่แล้วก็มาถึงห้วงเวลาที่ปฏิเสธความจริงไม่ได้

อย่าว่าแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจ แม้แต่คนของรัฐบาลระดับขุนพลเศรษฐกิจ ยังอ้อมแอมออกมาขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันร่วมรับผิดชอบ หรือกระทั่งตัวนายกรัฐมนตรีเองที่เริ่มบ่นถึงการเลิกจ้างของบริษัทห้างร้านต่างๆ

นั่นไม่นับเสียงบ่นของคนทำมาหากินบนท้องถนนที่ชีวิตอยู่ยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องของเรื่องก็คือ กว่าฟากรัฐบาลจะยอมรับ ชีวิตของผู้คนในประเทศนี้ก็ไปไกลแล้ว

ในระดับที่แทบจะเรียกว่าสิ้นหวัง ต่างคนต่างหาวิธีที่จะช่วยเหลือตัวเอง ประคับประคองชีวิตให้อยู่ต่อไปได้ท่ามกลางความเดือดร้อนที่รุมเร้า

การสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ล่าสุดมีคำตอบที่น่าสนใจ

เช่น เมื่อถามว่า “จากภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ประชาชนมีวิธีการประหยัดที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง” ร้อยละ 69.38 ตอบว่าลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง งานเลี้ยงสังสรรค์ ของฟุ่มเฟือย, ร้อยละ 40.74 ตอบว่า ไม่ออกนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น ทำอาหารทานเองที่บ้าน, ร้อยละ 22.85 ตอบว่าวางแผนการเงิน แบ่งเงินเป็นส่วนๆ ทำบัญชีรายจ่าย รายรับ, ร้อยละ 21.23 ซื้อสินค้าเฉพาะช่วงลดราคา จัดโปรโมชั่น, ร้อยละ 19.60 ทำงานพิเศษ หารายได้เสริม เก็บออมเงิน

หมายความว่า ต่างคนต่างหาทางช่วยตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นไปในทาง “ลดคุณภาพชีวิตของตัวเองลง” และเมื่อถามว่า “ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยวิธีไหน”

ทางหนึ่งจากค่าอาหาร ซึ่งร้อยละ 62.83 ทำอาหารทานเอง ลดทานข้าวนอกบ้าน, ร้อยละ 37.59 ใช้วิธีกำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละมื้อไม่เกินกี่บาท, ร้อยละ 23.46 ไม่กินทิ้งกินขว้าง กินพอดี เหลือเก็บใส่กล่อง

อีกทางหนึ่งในเรื่องที่อยู่อาศัย ร้อยละ 65.63 ประหยัดน้ำ ไฟ ปิดไฟ ถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน, ร้อยละ 39.35 หมั่นดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ซ่อมเอง, ร้อยละ 15.77 เลือกเช่าราคาถูก หารกับเพื่อน อยู่กับญาติ

ในเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 54.58 ช้อปปิ้งน้อยลง รอซื้อช่วงโปรโมชั่น, ร้อยละ 40.16 ใส่ชุดเดิม แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากับเพื่อน พี่น้อง, ร้อยละ 16.71 ซื้อของมือสอง ไม่ซื้อแบรนด์เนม

ในเรื่องยารักษาโรค ร้อยละ 60.12 แก้ปัญหาด้วยการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี, ร้อยละ 32.36 ใช้สิทธิประกันสังคม, ร้อยละ 28.07 กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่

มองในภาพรวมของการใช้ชีวิตในกรอบการบริโภคปัจจัย 4 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความระมัดระวังกันเต็มที่ ชัดเจนว่าส่งผลในทางลดกำลังซื้อที่จะเป็นกลไกหมุนเศรษฐกิจกันแบบเข้มข้น

และนี่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้กระตุ้น “ชิม ช้อป ใช้” กันเอาเป็นเอาตาย เพิ่มกำลังซื้อในตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนจะตั้งสติ มุ่งดูแลตัวเองกันเข้มข้นแค่ไหนก็ตาม

แต่ภาระของชีวิตที่ช่วยตัวเองไม่ได้ยังมีอยู่ท่วมท้น

กับคำถามที่ว่า “สิ่งที่ประชาชนประหยัดไม่ได้ มีอะไรบ้าง” ร้อยละ 63.52 ตอบว่า ค่าเดินทาง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าน้ำมัน, ร้อยละ 50.80 ตอบว่าค่ายา ค่ารักษาพยาบาล, ร้อยละ 27.79 ตอบว่า ค่าเช่า ค่าผ่อนชำระต่างๆ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต, ร้อยละ 20.64 ตอบว่าค่าเทอม ค่าเล่าเรียน, ร้อยละ 18.66 ตอบว่าค่าภาษีสังคม งานบุญ งานแต่ง งานศพ

เป็นคำตอบที่ยืนยันว่า ไม่ว่าจะทุกข์ร้อน และพยายามช่วยเหลือตัวเอง ลดคุณภาพชีวิตมากมายแค่ไหน แต่ทุกชีวิตก็มีรายจ่ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่อีกมากมาย

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบคือ จะอยู่กันอย่างไร การสร้างกำลังซื้อต้องสร้างงาน ซึ่งต้องอาศัยการลงทุน

แต่ความกล้าที่จะลงทุนต้องอาศัยความเชื่อมั่น

เชื่อมันว่าบ้านเมืองใช้อำนาจกันอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่ตามอำเภอใจ