วิรัตน์ แสงทองคำ : “ขาใหญ่” แผ่เครือข่ายร้านอาหาร

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ปรากฏการณ์เป็นกระแสในปีกำลังจะผ่านพ้น เครือข่ายธุรกิจร้านอาหารใหญ่เข้าซื้อกิจการร้านอาหารอย่างเป็นกระบวน

ตั้งแต่กรณีเอ็มเค (MK) ซื้อกิจการร้านอาหาร แหลมเจริญ ซีฟู้ด (กันยายน)

เครือข่ายบุญรอดบริวเวอรี่ซื้อกิจการ Santa fe (ตุลาคม)

และไมเนอร์กรุ๊ป ซื้อเครือข่ายร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทยในแบรนด์ BonChon (พฤศจิกายน)

ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นไปอย่างมีความสัมพันธ์กับบทสรุป บทวิเคราะห์ทางธุรกิจของสถาบันสำคัญที่มีขึ้นก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะเรื่อง “ส่องเทรนด์ธุรกิจร้านอาหาร…ยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่?” โดยอีไอซี หรือ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (25 กรกฎาคม 2562–https://www.scbeic.com/) และ “ธุรกิจร้านอาหาร ยังแรงต่อเนื่อง” โดย Bangkok Bank SME ของธนาคารกรุงเทพ (29 สิงหาคม 2562–https://www.bangkokbanksme.com/)

“ธุรกิจร้านอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงและการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการชะลอตัวของการบริโภคจากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อีกทั้งรายได้ภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่ายอดขายธุรกิจบริการอาหาร (Food service) ของไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 4% ต่อปีในช่วงปี 2556-2561 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตเฉลี่ยราว 2.4% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 8.8 แสนล้านบาทในปี 2561” (EIC)

หากพิจารณาในภาพย่อยในบางกรณี บางตัวอย่าง ได้สะท้อนความสัมพันธ์กับภาพใหญ่อย่างสอดคล้องกัน

 

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เครือข่ายธุรกิจใหญ่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมามากกว่า 3 ทศวรรษ

“ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย โครงการพักผ่อนแบบปันส่วนเวลา และให้เช่าศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบันเทิงและธุรกิจจัดจำหน่าย” ธุรกิจอาหาร (Minor Food) เป็นธุรกิจสำคัญหนึ่งซึ่งมีสัดส่วนรายได้ราวๆ 30% โดยภาพรวมมีอัตราการเติบโตค่อนข้างต่อเนื่อง จนมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท

ส่วนกรณีบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชนที่น่าสนใจในฐานะผู้นำธุรกิจร้านอาหารอย่างโฟกัส

“ประกอบธุรกิจร้านอาหาร “เอ็ม เค สุกี้” ร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” ซึ่งได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์อื่นๆ อีก 2 แบรนด์ ได้แก่ “ฮากาตะ” และ “มิยาซากิ” ร้านอาหารไทย “ณ สยาม” และ “เลอสยาม” ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ “เลอ เพอทิท””

ที่สำคัญ แสดงผลประกอบการซึ่งเติบโตตลอดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2558-2561) จากรายได้รวมประมาณ 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 17,000 ล้านบาทในอีก 4 ปีต่อมา ขณะผลกำไรได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 1,856 ล้านบาท (2558) เป็น 2,574 ล้านบาท (2561) ทำให้อัตรากำไรอยู่ในระดับน่าพอใจเกือบๆ 15% (2560-2561)

ทั้งนี้ EIC ได้คาดการณ์ในช่วงบวกต่อไปอีก

“ธุรกิจบริการอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องที่ราว 4-5% ในช่วงปี 2562-2563 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ครัวเรือนมีขนาดเล็กลงและต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเมือง (urbanization) ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของศูนย์การค้าใหม่ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมากินอาหารนอกบ้าน หรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมากินที่บ้านมากขึ้น”

Bangkok Bank SME มีบทวิเคราะห์ไปทำนองเดียวกัน ทั้งให้ความสำคัญเชื่อมโยง ด้วยปัจจัยการเติบโตของการท่องเที่ยวที่มีอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ

“ภาคการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อพิจารณาสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2561) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 38,277,300 คน จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวถึง 7.54% และรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

และนำเสนอภาพความสัมพันธ์ในเชิงบวกมายังธุรกิจร้านอาหารโดยตรง

“โดยในปี 2561 มีรายได้สูงถึง 2,007,503 ล้านบาท มีการขยายตัวอยู่ที่ 9.63% โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงสุด 3 อันดับแรก ใช้ไปกับที่พัก, สินค้าและของฝาก, อาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีโดยในปี 2560 มีมูลค่าถึง 376,131.80 ล้านบาท เติบโตถึง 14.27% เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายของอาหารและความคุ้มค่า จึงทำให้อาหารไทยเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย”

 

จากภาพใหญ่ข้างต้น สู่ดีลที่สำคัญ จะให้ภาพความเชื่อมโยง ด้วยแผนการมีรายละเอียดที่น่าสนใจในสังคมธุรกิจยิ่งขึ้น

ดีลเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป-แหลมเจริญ ซีฟู้ด เปิดฉากขึ้นด้วยข้อมูลแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (วันที่ 6 กันยายน 2562) สรุปสาระสำคัญ โดยบริษัทย่อยซึ่งเอ็มเคถือหุ้น 99.99% ลงทุนถึง 2,060 ล้านบาทในการเข้าถือหุ้นข้างมาก 65% ในบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด คาดว่าการเข้าลงทุนในกิจการจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562

แหลมเจริญ ซีฟู้ด จะกลายเป็นเครือข่ายร้านอาหารซีฟู้ดราว 20 สาขาของเอ็มเค ซึ่งเป็น portfolio ที่แตกต่างจากเดิมซึ่งเน้นอาหารชื่อแบบญี่ปุ่นแต่สไตล์จีน อย่างเอ็มเคสุกี้ ซึ่งมีสาขามากที่สุดราวๆ 450แห่ง บวกร้านอาหารญี่ปุ่นอีกกว่า 100 แห่ง

เท่าที่ติดตามก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น แหลมเจริญ ซีฟู้ด มีพัฒนาการที่น่าสนใจ จากร้านธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมราวๆ 40 ปีที่แล้ว ปักหลักชายทะเลฝั่งตะวันออก ก่อนจะขยายเครือข่ายสู่กรุงเทพฯ ในยุครุ่นที่สอง ปรับตัวให้ทันสมัยมากขึ้นสัก 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ดูจะมีความตั้งใจตอบสนองนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นพิเศษ

 

ส่วนดีลสิงห์ คอร์เปอเรชั่น-Santa fe steak นั้นเป็นเรื่องราวค่อนข้างเงียบ เนื่องจากไม่ใช่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น

“บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทในเครือที่สำคัญของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่อบริหารการดำเนินงานของบริษัทในเครือบุญรอดกว่า 150 บริษัท และรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” (http://www.singha.com/) ข้อมูลจากต้นแหล่ง พอขยายความได้ว่าบุญรอดบริวเวอรี่ได้กลายเป็น holding company ขณะการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังผ่านสิงห์ คอร์เปอเรชั่น

จากแหล่งข้อมูลข้างต้น ไม่พบว่าสิงห์ คอร์เปอเรชั่น มีธุรกิจร้านอาหารอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนเมื่อไม่นานมานี้ (มิถุนายน 2562) มีข่าวคราวเกี่ยวกับบริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด สะท้อนแผนการใหม่ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ให้ความสำคัญธุรกิจอาหารอย่างจริงจัง จัดการโครงสร้างธุรกิจที่กระจัดกระจายให้เป็นระบบมากขึ้น

จากนั้นจึงตามมาด้วยดีลครั้งล่าสุดซึ่งมีความสำคัญ

เรื่องราวอันเนื่องมาจาก Lakeshore Capital Partners กองทุนซึ่งมีฐานอยู่ที่ Chicago, Illinois เน้นลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขายหุ้น Santa fe steak ที่ถืออยู่ให้กับสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในราคากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท

Lakeshore Capital Partners ลงทุนใน Santa fe steak มาตั้งแต่ปี 2558 สัดส่วน 26% ขณะที่ Santa fe steak เปิดตลาดในประเทศไทยมากว่า 14 ปี เริ่มจากสาขาแรกที่แฟชั่นไอส์แลนด์ (ปี 2546) ปัจจุบันมีถึง 111 สาขาแล้ว

 

ดีลล่าสุด MINT – BonChon นั้นก็น่าสนใจไม่น้อย

“Minor Food หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,200 สาขาใน 27 ประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้า The Pizza Company, The Coffee Club, Riverside, Thai Express, Benihana, Swensen”s, Sizzler, Dairy Queen และ Burger King” (https://www.minor.com/)

MINT ประกาศเข้าลงทุนในบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “Bonchon Chicken” กว่า 40 สาขาในประเทศไทยในสัดส่วน 100% ด้วยเงินลงทุนถึง 2 พันล้านบาท กลายเป็นผู้ดำเนินการร้านที่มีอยู่เดิมทั้งหมดในประเทศไทย

ทั้งนี้ “การลงทุนดังกล่าวจะไม่รวมสิทธิแฟรนไชส์ในการเปิดสาขาใหม่ แต่ MINT อยู่ในระหว่างการเจรจากับเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์หลัก ในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้ MINT มีสิทธิในการขยายสาขาบอนชอนทั่วประเทศต่อไป” อ้างจาก WMINT เข้าซื้อกิจการร้านไก่บอนชอนในประเทศไทย” (https://www.minorfood.com/)

เมื่อพิจารณาภาพกว้าง MINT พยายามปรับตัวจาก Fast foods อเมริกันหลังยุคสงครามเวียดนามสู่ทิศทางใหม่อาคารแบบเอเชีย ไม่ว่าการลงทุนธุรกิจร้านอาหารในจีนครั้งแรก (ปี 2548) ในช่วงราวๆ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ จากนั้นดูจริงจังมากขึ้นในระยะใกล้ๆ อย่างการลงทุนในร้านอาหารญี่ปุ่น (ปี 2561) ก่อนจะมาถึงดีลล่าสุด