สุจิตต์ วงษ์เทศ / โคราชเก่า สูงเนิน จ. นครราชสีมา คือ เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง

แผนที่เส้นทางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเสมา (เมืองโคราชเก่า) ต้นลำน้ำมูล (ที่ราบสูงอีสาน) กับนครวัดและนครธม (ที่ราบลุ่มเขมร)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

โคราชเก่า สูงเนิน จ. นครราชสีมา

คือ เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง

 

โคราชเก่า [เมืองเสมา] อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา นักปราชญ์ไทยกลุ่มหนึ่งพบหลักฐานสนับสนุนจำนวนไม่น้อย

ว่าเป็นที่ตั้งเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง [สมัยต้นประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย] ราวหลัง พ.ศ.1800

 

เมืองราด อยู่เมืองโคราชเก่า สูงเนิน

 

เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง อยู่โคราชเก่า [เมืองเสมา] อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นข้อสันนิษฐานแรกสุดของ มานิต วัลลิโภดม นักปราชญ์สามัญชน [อดีตนักโบราณคดี ข้าราชการกรมศิลปากร] อยู่ในหนังสือ นำเที่ยวเมืองพิมายฯ [กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2502]

โดยอ้างถึงชื่อเก่าของสูงเนินว่า คอนราช, นครราช ตรงกับเมืองราด อยู่ในเอกสารเก่า ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ และพงศาวดารเหนือ

จิตร ภูมิศักดิ์ สนับสนุนเมืองโคราชเก่า คือ เมืองราด เขียนไว้ (ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2509) ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526) ดังนี้

“ข้าพเจ้ายืนยันว่าความสันนิษฐานของ นายมานิต วัลลิโภดม ว่า โคราช เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก นครราช นั้น ถูกต้องที่สุด.”

“ชาวเขมรในกัมพูชายังคงเรียกเมืองนครราชสีมาตามชื่อเดิมว่า นครราช อยู่จนทุกวันนี้”

จิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่มหลักฐาน 2 เรื่อง สนับสนุนแนวคิดของ มานิต วัลลิโภดม ดังนี้

ผู้นำเมืองสุโขทัยสมัยแรก ล้วนคุ้นเคยใกล้ชิดผู้นำของบ้านเมืองต้นลุ่มน้ำมูล มีข้อความบอกไว้ในจารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัย หลักที่ 2) เล่าประวัติเจ้านายเมืองสุโขทัยชื่อ มหาเถรศรีศรัทธา ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมือง ดังนี้

  1. ก่อนบวช ท่านศรีศรัทธาวัยฉกรรจ์ขี่ช้างรบกับท้าวอีจาน [ผู้นำท้องถิ่นอยู่แถบเชิงเขาพนมดงรัก] อยู่บริเวณที่ปัจจุบันเรียก “ดงอีจาน” เขตนครราชสีมาต่อเขตบุรีรัมย์
  2. หลังบวช ท่านศรีศรัทธาเป็นภิกษุธุดงค์จากเมืองสุโขทัยไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ “รัตนภูมิ” ปัจจุบันคือ ปราสาทพนมวัน (อ.เมือง จ.นครราชสีมา)

ศรีศักร วัลลิโภดม สนับสนุนเมืองราด อยู่เมืองโคราชเก่า มีคำอธิบายว่า

“ถ้าหากนำตำแหน่งเมืองนครราชสีมาไปเปรียบเทียบกับเมืองสุโขทัย………ในช่วงเวลานั้นยังเป็นเมืองไม่ใหญ่โตเท่าใด เพราะอยู่ในที่ห่างไกลบ้านเมืองที่เจริญแล้วในลุ่มทะเลสาบและในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง เพราะความเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเจริญกว่าของเมืองราดนี้เอง ที่ทำให้พ่อขุนผาเมืองไม่คิดเอาราชสมบัติเมืองสุโขทัย”

[จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 137-139]

 

เมืองเสมา คือ เมืองราด

 

1.ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ต่อเนื่องดินแดนกัมพูชา มีช่องเขาเป็นเส้นทางสะดวกไปมาหากัน

  1. การคมนาคมกับกรุงสุโขทัย ผ่านเมืองศรีเทพ ลุ่มน้ำป่าสัก (จ.เพชรบูรณ์) มีเส้นทางสะดวก 2 เส้นทาง [1.] ผ่านทางเมืองพระบาง (จ.นครสวรรค์) และเมืองพิจิตร แล้วเข้าถึงสุโขทัย และ [2.] ขึ้นตามแม่น้ำป่าสัก ผ่านเมืองเพชรบูรณ์, เมืองหล่มสัก, เมืองนครไทย (พิษณุโลก), เมืองตรอน (อุตรดิตถ์) ลงแม่น้ำน่าน เข้าถึงสุโขทัย
  2. ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องสุโขทัย อยู่ในจารึกวัดศรีชุม เล่าประวัติมหาเถรศรีศรัทธา เป็นขุนศึกรบกับท้าวอีจาน อยู่บริเวณเชิงเขาพนมดงรัก [ปัจจุบันเรียก ดงอีจาน จ.บุรีรัมย์] หลังออกบรรพชา เสด็จธุดงค์ถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกรัตนภูมิ อยู่ลุ่มน้ำมูล [ปัจจุบันเรียก ปราสาทพนมวัน จ.นครราชสีมา]
  3. เกี่ยวข้องละโว้ (ลพบุรี) ตั้งแต่พ่อขุนศรีนาวนำถุม สถาปนากรุงสุโขทัยโดยได้รับการอุดหนุนจากละโว้
  4. เกี่ยวข้องอยุธยา ผ่านเจ้านายรัฐละโว้ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นมรดกตกทอดถึงพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา, คำแหงพระราม [บิดาของมหาเถรฯ] ชื่อนี้สืบเนื่องเป็นนามเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้แก่ “คำแหงพระอินทร์” เจ้าเมืองพระงาม สมัยเจ้าสามพระยา และ “คำแหงสงคราม” สมัยบรมไตรโลกนาถ [อยู่เมืองเสมา สูงเนิน]

 

พ่อขุนผาเมือง

 

พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด [ในจารึกบางทีเรียก “พระยาผาเมือง”] เป็นลูกชายพ่อขุนศรีนาวนำถุม [กษัตริย์สถาปนา “ศรีสัชนาลัยสุโขทัย”]

กษัตริย์กัมพูชาแห่งกรุงศรียโสธร [“ผีฟ้าเจ้าเมืองศรียโสธรปุระ”] คือเมืองพระนครหลวง [นครธม] พระราชทานหลายอย่างให้พ่อขุนผาเมือง ดังนี้ พระนามสามัญว่า “กมรเตงอัญผาเมือง”, พระนามเกียรติยศว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์”, ลูกสาวชื่อ “นางสุขรมหาเทวี”, พระแสงดาบ “ขรรค์ชัยศรี”

มีอธิบายขยายความดังต่อไปนี้

[1.] “กมรเตงอัญ” เป็นคำภาษาเขมร แปลว่า เจ้า ดังนั้น “กมรเตงอัญผาเมือง” ตรงกับเจ้าผาเมือง หมายถึงผาเมืองเป็นเจ้า มีตัวอย่างพระนามในรัฐสุพรรณภูมิว่าเจ้านครอินทร์ มีโอรส 3 องค์เรียงกัน เจ้าอ้ายพระยา, เจ้ายี่พระยา, เจ้าสามพระยา

[2.] “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” หลังยึดเมืองสุโขทัยได้จากขอมสบาดโขลญลำพง ผาเมืองยกให้บางกลางหาวครองเมืองสุโขทัย แล้วกร่อนคำเหลือว่า “ศรีอินทราทิตย์”

[3.] ประเพณียกลูกสาวแต่งงานกับกษัตริย์หรือเจ้าเมืองในเครือข่าย แล้วดองเป็นเครือญาติ พบบ่อยๆ ในประวัติศาสตร์เพื่อขยายอำนาจทางการเมือง เช่น กษัตริย์เขมรยกลูกสาวให้เจ้าฟ้างุ้มแห่งหลวงพระบาง, พระมหาจักรพรรดิ อยุธยา ยกลูกสาวให้เจ้าไชยเชษฐา เวียงจัน, พระมหาธรรมราชา ยกลูกสาว [พี่สาวพระนเรศวร] ให้บุเรงนอง

[4.] “ขรรค์ชัยศรี” ของพ่อขุนผาเมือง เป็นมรดกตกทอดถึงกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เป็นพยานอย่างหนึ่งว่าพ่อขุนผาเมืองขึ้นครองอยุธยา จึงยกสุโขทัยให้สหายบางกลางหาว เพราะอยุธยาใหญ่กว่าและสำคัญกว่าสุโขทัย

“ขรรค์ชัยศรี” เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของอำนาจการเมืองของกัมพูชา และเชื้อวงศ์เขมร ดังต่อไปนี้

อำนาจการเมืองของกัมพูชามีเหนืออยุธยา พบหลักฐานจำนวนมากเป็นที่รับรู้ทั่วโลก ผ่านทางรัฐละโว้

อยุธยาเชื้อวงศ์เขมร พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสืบวงศ์จากกษัตริย์กรุงศรียโสธร (เมืองพระนครหลวง) แห่งกัมพูชา เกี่ยวดองเครือญาติผ่านทางขอมละโว้ (ลพบุรี) เป็นที่รับรู้ในราชสำนักพระนารายณ์ (พบในคู่มือทูตสยามไปยุโรป ซึ่งเป็นเอกสารราชการกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. 2224 พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 หน้า 90-94) นอกจากนั้น ตำนานล้านนาบางฉบับระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสืบวงศ์ขอมละโว้ คำให้การชาวกรุงเก่าบอกตรงๆ ว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา สืบวงศ์จากพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แห่งเมืองพระนครหลวง กัมพูชา

 

พ่อขุนผาเมือง คือพระยาแกรก?

 

พ่อขุนผาเมืองมีพระขรรค์ชัยศรี อาจตรงกับตำนานพระยาแกรก บรรพกษัตริย์อยุธยา

พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงของพระยาแกรก บรรพกษัตริย์อยุธยา

คำให้การขุนหลวงหาวัด [เรื่องธรรมเนียมถือน้ำ] บอกว่าพิธีถือน้ำพระพัทธ์ต้องเชิญพระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นประธานพระแสง 12 ราศี

คำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่า พระเจ้าท้ายสระทิวงคต มีจลาจลชิงอำนาจในอยุธยา ระหว่างพระมหาอุปราช (บรมโกศ) กับเจ้าฟ้าอภัย (และเจ้าฟ้าปรเมศร์) เมื่อสู้ไม่ได้เจ้าฟ้าอภัยรวบรวมของมีค่าจากในพระราชวังหนีลงเรือ ได้แก่ “พระแสงชื่อ—-ที่กำจัดภัย เป็นของตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก” และของมีค่าอื่นๆ อีกมาก พระแสงนี้มีบอกอีกตอนหนึ่งว่าเป็น “พระแสงสำหรับพระนคร”

พระเจ้าบรมโกศขึ้นเสวยราชย์ ให้กองเรือออกตามจับ ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยเห็นจวนตัว “ให้ล่มเรือจมน้ำเสีย” “พระแสงก็จมอยู่ในน้ำกับเรือนั้น”

พระยาแกรกเป็น “ผู้มีบุญ” มาทางทิศตะวันออก [ของอยุธยา] พร้อมเครื่องกกุธภัณฑ์ [ซึ่งมีพระแสงขรรค์ชัยศรีอยู่ด้วย] จากพระอินทร์ [ที่แปลงเป็นคนชราจูงม้า] แล้วได้เป็นกษัตริย์ครองอยุธยาว่า “พระเจ้าสินธพอำมรินทร์” มีในพงศาวดารเหนือ และในคำให้การชาวกรุงเก่า