หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ /’ตอนที่ยังมีชีวิต’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - การติดอยู่กับแม่ของลูกกวาง คือ การฝึกฝน เรียนรู้ รับถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อดำรงชีวิตไปตามวิถี นี่คือเรื่องสำคัญของพวกมัน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ตอนที่ยังมีชีวิต’

 

มีความจริงอยู่ในป่า

หรือพูดอีกแบบว่า มี “บทเรียน” มากมายให้ได้เรียนรู้

ถ้าเราเปิดใจรับฟัง และตั้งใจเรียน

 

เพราะในป่ามีทั้งสัตว์ที่เป็นเหยื่อ และสัตว์ซึ่งเป็นผู้ล่า

สัตว์กินพืชตกอยู่ในสถานภาพของความเป็นเหยื่อ พวกมันทำหน้าที่ดูแลควบคุมปริมาณพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ให้มีจำนวนพอเหมาะ

แน่นอนว่า หากมีสัตว์กินพืชมากเกินไป ย่อมไม่เป็นผลดี

เหล่าสัตว์ผู้ล่าจึงต้องเข้ามามีบทบาท ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืชให้มีจำนวนพอเหมาะ

นี่คือบทเรียนต้นๆ ที่ทุกคนรู้

และรู้โดยดูจากรูปร่างหน้าตาสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ว่า เมื่อสัตว์ชนิดใดได้รับมอบหมายมาให้ทำหน้าที่ใด

พวกมันจะได้รับการออกแบบร่างกาย รวมทั้งมอบทักษะมาให้อย่างเหมาะสมกับงาน

ทั้งผู้ทำหน้าที่ล่า และผู้อยู่ในสถานภาพเป็นเหยื่อ

“เหยื่อ” มีร่างกาย รวมทั้งทักษะระวังภัยเยี่ยมยอด

นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ยึดถือหลัก ดวงตาหลายคู่ย่อมดีกว่าดวงตาคู่เดียว

พวกมันมีดวงตาค่อนมาทางหู ทำให้สามารถเหลือบตามองรอบๆ ได้โดยไม่ต้องเงยหน้าขณะกินน้ำหรืออาหาร

อีกทั้งกฎระเบียบในฝูงก็เคร่งครัด ขณะกินจะต้องมีตัวหนึ่งทำหน้าที่ดูรอบๆ ระวัง

มีจมูกรับกลิ่นดี สัมผัสกลิ่นผู้ล่าได้ไว หูรับเสียงได้ในระยะไกลแม่นยำ มีดวงตาที่มองเห็นได้ในความมืด

กีบตีนออกแบบมาให้เกาะพื้นวิ่งได้รวดเร็ว

การล่าอย่างประสบผลสำเร็จของสัตว์ผู้ล่าไม่ง่ายเลย

กระนั้นก็เถอะ ในป่ามีความตายเพราะคมเขี้ยวเกิดขึ้นเสมอ

มีสัตว์เกิดใหม่ เช่นเดียวกับมีชีวิตที่ตาย

คือ ความเป็นจริง ซึ่งชีวิตหลีกเลี่ยงไปไม่พ้น

 

ปลายฤดูฝน

แคมป์ของเราอยู่ริมลำห้วยสายเล็กๆ พื้นที่มีลักษณะเป็นหุบแคบๆ ขนาบด้วยแนวเขาสูงชัน สภาพรอบๆ เป็นป่าดิบเขา อยู่ในระดับความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ไม่มีที่ราบให้เดิน

ทุกคนต้องผูกเปลกับต้นไม้ บนพื้นที่เอียงๆ

ผมร่วมมากับชุดลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

พวกเขาถูกเรียกว่า “ชุดม้าศึก” ทุกคนคือชายหนุ่มจากหมู่บ้านรอบๆ ป่า ร่างสันทัด แกร่ง และมีทักษะในงานสูง

พวกเขาทุกคนผ่านการฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทั้งการเข้าจับกุมผู้ต้องหา การปะทะ หาข่าว และตรวจหาปัจจัยคุกคาม

ใช้เครื่องมือคล่องแคล่ว

เป็นเรื่องปกติของพวกเขา ที่ปีๆ หนึ่งจะเดินลาดตระเวนในระยะทางรวมราว 2,000 กิโลเมตร

 

หน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ไกล เดินทางเข้าถึงยาก โดยเฉพาะในฤดูฝน แต่ “เจริญ” บ้านพักมีน้ำประปาภูเขา มีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งโทรศัพท์รับสัญญาณจากจานดาวเทียม ติดต่อถามข่าวคราวทางบ้านได้ และจานรับสัญญาณโทรทัศน์

“อยู่หน่วยสบายครับ ไม่ลำบากหรอก” หลายคนพูด

“อยู่บ้านลำบาก เหนื่อยกว่าอีก เมียใช้งานตลอด”

คนในป่าส่วนใหญ่พูดคล้ายๆ กันแบบนี้

 

ฝนโปรยเบาๆ ตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืด และหยุดราวๆ หนึ่งทุ่ม

ผมขึ้นเปลนอนอ่านหนังสือ กองไฟมอดดับ เหลือแค่ถ่านแดงๆ

มีเสียงหวีดร้องอย่างเจ็บปวด แทรกเสียงน้ำไหลรินๆ และเสียงอึ่งกราย ที่ส่งเสียงอยู่รอบๆ แคมป์

เสียงลักษณะนี้ผมเคยได้ยิน

มันคือเสียงสุดท้ายของเหยื่อ ที่การล่าประสบผลสำเร็จ

เสียงแหลมเล็ก ผมแยกไม่ออกว่าเป็นเสียงกวางหรือเก้ง ไม่มีเสียงขู่คำราม หรือเห่าหอน

เงียบเช่นนี้ ผู้ลงมือคงเป็นเสือ เพราะขณะเสือทำงาน จะเงียบ ไร้เสียง

เหตุเกิดห่างจากแคมป์ไม่เกิน 50 เมตร

ผมไม่รู้ว่าผู้ลงมือ และ “เหยื่อ” เป็นตัวอะไร

รู้แต่เพียงว่า ไม่ไกลจากที่ผมอยู่

มีชีวิตหนึ่งจากไป…

 

รุ่งเช้า ผมเดินออกไปดูที่เกิดเหตุกับอุไร ผู้เป็นหัวหน้าชุด

เขาเดินนำ หยุด และหันมาบอก

“เลียงผาครับ”

ร่างเลียงผาโตเต็มวัย นอนอยู่ข้างด่านริมห้วย เจ้าของเสียงหวีดร้องที่เราได้ยินเมื่อคืน

“ตัวที่ลงมือน่าจะเป็นเสือดาว” อุไรสำรวจและชี้ให้ดูร่องรอย

ซากยังไม่มีรอยกิน เสืออาจระแวงเพราะอยู่ใกล้แคมป์เรามาก

เราเดินกลับมาที่แคมป์ อุไรสั่งทุกคนเก็บของเพื่อเคลื่อนย้าย

ถ้าเราอยู่ เสือระแวงไม่เข้ากินซาก การทำงานของมันย่อมสูญเปล่า

ผมเดินผ่านซากเลียงผา ดวงตาเบิกโพลง รอยเขี้ยวฝังลึกตรงคอ

 

ในป่า ชีวิตดำเนินไป มีผู้ล่าและผู้ถูกล่า

ทั้งสัตว์กินพืช และสัตว์ผู้ล่า การกินของพวกมัน เป็นแค่ผลพลอยได้จากการทำงานในหน้าที่

ในป่ามีบทเรียน มีความจริงจะบอก

เปิดใจรับ ตั้งใจฟัง เราจะรู้

เมื่อคืนผมไม่รู้หรอกว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร ไม่รู้ว่าเลียงผาตัวนี้ตายอย่างไร ผมไม่จำเป็นต้องรู้

เพราะสำหรับสัตว์ป่า สิ่งที่เราควรกระทำ

คือ นึกถึงพวกมันตอนที่ยังมีชีวิต…