เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ แม่นาค เดอะ มิวสิคัล

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

แม่นาค เดอะ มิวสิคัล

 

วันก่อนผมได้มีโอกาสไปชมละครเวทีเรื่อง “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” ซึ่งเป็นละครเรื่องที่ 3 สำหรับการฉลอง 33 ปีของดรีมบอกซ์ ที่ปีนี้นำเอาละครที่เคยแสดงไปแล้วกลับมาแสดงใหม่ให้ผู้ชมได้ประทับใจอีกครั้ง

นับว่าเป็นโอกาสดีมาก เพราะที่จัดการแสดงไปครั้งก่อนๆ ผมมีอันพลาดชมตลอด ต้องขอบคุณทางดรีมบอกซ์อย่างมากที่นำกลับมาแสดงอีก

สำหรับนักแสดงนำตัว “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” ยังเป็นคนเดิมที่แสดงมาทุกครั้ง คือ น้ำมนต์-ธีรนัยน์ ณ หนองคาย ผู้มีแก้วเสียงหวานกังวานเสียเหลือเกิน จับคู่กับ “พี่มาก” คนใหม่ คือ ไต้ฝุ่น-กนกฉัตร มรรยาทอ่อน ซึ่งเคยผ่านงานละครเวทีครั้งแรกกับละครชุดสุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล ของเจ เอส แอล เวลาผ่านไป 6-7 ปี เขาพัฒนาไปไกลมาก

เรื่องนักแสดงเดี๋ยวจะกลับมาว่ากันใหม่

แต่สิ่งที่อยากเขียนถึงมากๆ ในคอลัมน์นี้คือ “การตีความ” เพราะแม่นาคฉบับดรีมบอกซ์ ได้นำมาตีความใหม่ มีรายละเอียดที่แปลกแตกต่างออกไปกว่าที่เราเคยรับรู้กัน

และนี่แหละคือ “เสน่ห์ของงานศิลปะ”

 

หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง “โรมิโอ-จูเลียต” ฉบับแรกเมื่อ 50 ปีก่อน คงมีความประทับใจแบบหนึ่ง แต่เมื่อ 27 ปีผ่านไปได้นำกลับมาทำใหม่ที่มีพระเอก “ลีโอนาร์โด ดิคราปิโอ” แสดงนำ ก็ถูกตีความในเชิงโปรดักชั่น ดีไซน์ ที่แปลกใหม่ เป็นโรมิโอ-จูเลียตในยุคนี้ ที่มีความทันสมัย แต่บอกเล่าในเนื้อหาที่เป็นรักต้องห้ามระหว่างตระกูลเช่นเดิม

และอีกงานหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ “นางนาก” ฉบับ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร และ “พี่มากพระโขนง” ของค่าย GDH ที่เป็นหนึ่งในหนังพันล้านมาแล้ว

ส่วนละครเวทีแม่นาค เดอะ มิวสิคัล ฉบับนี้ได้เพิ่มเติมเรื่องของครอบครัวของพ่อมากและแม่นาค เข้ามา ทำให้ตัวละครเอก 2 ตัวนี้มีมิติของคนจริงๆ และมีเหตุในการกระทำที่แตกต่างออกไปจากของเดิม เพราะของเดิมแม่นาคก็เป็นคนพื้นถิ่นนั่นแต่เดิม อยู่ร่วมกับชาวบ้านชาวช่องอย่างปกติสุข จนมาคลอดลูกตายนั่นแหละ ที่กลายเป็นผีมาหลอกหลอนชาวบ้านเพราะความรักสามี

แต่แม่นาคในฉบับนี้เป็นคนต่างถิ่นที่หนีตามพ่อมากมาอยู่ด้วย จึงถูกการต้อนรับที่ไม่ดีจากชาวบ้าน รวมทั้ง “สายหยุด” หญิงสาวที่หมายปองตัวพ่อมากอยู่เดิม และเมื่อมีการเพิ่มตัวละคร “แม่” ของพ่อมากเข้ามา ก็ทำให้เรื่องราวเข้มข้นไปอีก

เป็นธรรมดาที่แม่ย่อมไม่พอใจลูกสะใภ้ต่างถิ่นที่หนีตามลูกชายตนมา ซ้ำตนเองยังพลาดหวังจากการจับคู่สายหยุดให้ลูกชายด้วย

ความขัดแย้งระหว่างแม่ของมากกับนาคจึงเกิดขึ้นและลามเป็นเรื่องใหญ่

และเมื่อแม่เอ่ยปากถามพ่อมากว่า การที่ตนได้เลี้ยงดูพ่อมากมาแต่ยังเด็กมันไม่มีค่าเลยหรือ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

 

อีกตัวละครหนึ่งที่เพิ่มบทบาทและสีสันขึ้นมาจากเดิมคือ “หมอตำแย” ซึ่งในฉบับนี้ได้ออกแบบให้เป็นตัวละครที่เห็นใจและอยู่ข้างแม่นาคมาตั้งแต่แรก แม้ตอนที่นาคคลอดลูกตาย หมอตำแยก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ

ซึ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากละครเวทีเรื่องนี้ที่ช่างสอดคล้องกับสังคมยุคปัจจุบันของบ้านเราก็คือ “การถูกพิพากษาจากกระแสสังคม” ในเรื่องนี้ ปากต่อปากและสายตาของชาวบ้านที่มีให้ต่อ “แม่นาค” นั้นไม่ได้เป็นมิตรมาตั้งแต่แรก และจากการพูดเองเออเอง จินตนาการเอาเอง นาคก็ถูกพิพากษาไปแล้วว่าเป็นหญิงไม่ดี หนีตามผู้ชาย เป็นลูกผู้ดีทำอะไรก็ไม่เป็น คงทำได้แต่ออดอ้อนผัว และยิ่งพูดกันไปคนก็ยิ่งเชื่อ ด้วยความมันส์ปาก

ชั้นเมื่อนาคมีอาการแพ้ท้อง ก็คิดสงสัยว่า อาจจะเป็นลูกติดท้องมา ไม่ใช่ลูกพ่อมากก็เป็นได้

เมื่อนาคตายลง ก็เหมือนต้องมีคนรับผิด และแพะก็มาตกที่ “แม่หมอตำแย” ผู้ซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่ชาวบ้านก็พิพากษาไปแล้วว่าเพราะหมอมัวแต่เมาเลยไม่ได้ไปทำคลอดให้นาค นาคจึงตาย มิไยแม่หมอจะพูดยังไงก็ไม่มีใครฟัง

อีกกรณีหนึ่งคือ “สายหยุด” ที่ตั้งตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนาคมาตั้งแต่แรก โดยมีเหล่าชาวบ้านเป็นม็อบสนับสนุน แต่เมื่อสายหยุดมีอันสติผิดเพี้ยนจากการได้เห็นสภาพการตายของแม่นาค พวกชาวบ้านก็หันกลับมาเยาะเย้ย รังเกียจสายหยุดที่มีอาการผิดปกตินั่น

เป็นกระแสสังคมที่ทำต่อคนไม่มีทางสู้

เทียบได้กับยุคนี้ ที่เรื่องราวเหล่านี้ก็เกิดขึ้นทุกวัน จากกระแสการพิพากษาทางโลกโซเชียล ที่มีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวให้รับรู้กัน

ความร้ายกาจของโลกโซเชียลนี่ จะว่าไปร้ายกาจกว่าผีอย่างแม่นาคเสียอีก แม่นาคยังทำร้ายเฉพาะคนที่ทำร้ายตนและที่ตนรู้จัก แต่สำหรับโลกโซเชียลแล้วสามารถทำร้ายและทำลายใครก็ได้ แม้จะเป็นคนที่เราไม่รู้จักสักหน่อย แค่เพียงอ่าน เสพ และมีอารมณ์ร่วม เชื่อตาม และกดไลค์ กดแชร์เท่านั้น

ในละครเวทีเองก็ทิ้งท้ายประเด็นนี้ไว้ในฉากจบได้อย่างฉลาดและมีชั้นเชิง

 

ย้อนมาพูดถึงรายละเอียดของละครเวทีอีกหน่อย ละครเรื่องนี้รวบรวมเอานักแสดงที่มีความสามารถในการร้องแบบละครเวทีมาไว้แบบจัดเต็ม

น้ำมนต์ ธีรนัยน์ นั้นไม่ต้องพูดถึง เสียงร้องที่โหยหวนเจือด้วยความรักแท้ ช่างกินใจเหลือเกิน โดยเฉพาะเพลงสุดท้ายที่ปิดฉากครึ่งแรก เนื้อร้องพูดถึงการไม่พร้อมจะตายของตัวละครนาค ได้รับเสียงปรบมือลั่นโรง

ไต้ฝุ่น กนกฉัตร พัฒนาการแสดงและการร้องแบบละครเวทีขึ้นมาก แต่ก็น่าเห็นใจเมื่อต้องมาร้องประกบกับตัวแม่อย่างน้ำมนต์ จึงทำให้เห็นถึงความต่างชั้นกันบ้างในบางเพลง แต่โดยรวมก็ทำได้ดี เอาตัวรอดในบทพ่อมากได้ประทับใจทีเดียว

ส่วน 2 นักแสดงที่ต้องพูดถึงคือ “อ้วน-มณีนุช เสมรสุต” ในบทแม่ของพ่อมาก และ “เอ๋-นรินทร ณ บางช้าง” ในบท “หมอตำแย” นำเอาความเป็นมืออาชีพในการร้องแบบละครเวทีมาสร้างอารมณ์และสีสันให้อย่างมาก เสียงแน่น มีพลัง และฟังชัดทุกคำ

นอกจากนั้น ก็มี “ลูกโป่ง” ในบท “สายหยุด” ที่เนื้อเสียงเพราะ ร้องมีอารมณ์ไปกับเรื่องราวอย่างดี

ซึ่งต้องยกนิ้วให้บทเพลงและดนตรีที่เป็นพระเอกมาก ประพันธ์โดยไกวัล กุลวัฒโนทัย, สุธี แสงเสรีชน และพลรักษ์ อมาตย์ธนเสฐ มือประจำของค่ายนี้ที่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง มีหลายเพลงที่ทำออกมาได้คึกคักน่ารักมีสีสันดี อย่างเพลงโต้กันระหว่าง “หมอตำแยกับสัปเหร่อ” มีความน่ารักในความหมายที่ดี คนหนึ่งมีอาชีพสัมพันธ์กับการเกิดของชีวิต ส่วนอีกคนมีอาชีพหลังการจบชีวิตลง และเมื่อละครถึงคราวหลอกหลอนที่เป็นฉากเอกของเรื่อง ดนตรีก็ทำออกมาดูวังเวงไม่น้อยเลย

ฉากและแสงสี ทำหน้าที่เสริมอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม เปลี่ยนฉากฉับไว ล้อไปกับแสงที่สวยงามได้อารมณ์

โดยเฉพาะในฉากเรือวิญญาณที่แล่นมาเพื่อรับแม่นาคให้ละจากโลกมนุษย์ไปด้วยกันนั้นมีมิติ ดูลึกลับดีมาก

 

ละคร “แม่นาค เดอะ มิวสิคัล” นี้เขียนบทและคำร้องโดยดารกา วงศ์ศิริ และกำกับการแสดงโดยสุวรรณดี จักราวรวุธ 2 ผู้หญิงตัวจริงงานละครที่สร้างงานร่วมกันมานาน

จะแสดงไปอีก ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์เดียว คือ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคมนี้เท่านั้น

เชียร์ให้ไปชมกัน ไม่อย่างนั้นไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสกลับมาแสดงอีกหรือไม่

แล้วคุณอาจเห็นด้วยกับผมว่า โลกโซเชียลของคน น่ากลัวกว่าโลกมืดๆ ของผีเสียอีก