ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ในจอมคนป่าอสรพิษ / Embrace of the Serpent (1)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

อยู่ดีๆ เทศกาลหนังคานส์ที่ทั้งประเทศไทยมีคนไปดูเป็นประจำไม่เกิน 20 คน ก็กลายเป็นข่าวให้คนไทยได้ยินชื่อเมืองคานส์ไปด้วย

แต่ถึงแม้การมีดารารับจ้างทุนเครื่องสำอางไปแต่งตัวถ่ายรูปบนพรมแดงแล้วตั้งตัวเองเป็น Queen of Cannes จะทำให้คนไทยคุ้นชื่อคานส์มากขึ้น ความสนใจต่อหนังซึ่งเป็นหัวใจของคานส์กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นระดับเดียวกัน

ท่ามกลางความสำเร็จของอุตสาหกรรมโฆษณาที่แปลงคานส์เป็นโรงถ่ายให้ครีเอทีฟใช้ลัทธิชาตินิยมปั้นนิยายเรื่องดาราไทยเป็นราชินีแห่งคานส์ให้คนไทยฮึกเหิมจนช่วยกันส่งใบปลิวอิเล็กทรอนิกส์โฆษณาสินค้าฟรีๆ

เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพกลับเรียกอาการนี้ว่า “เมาพรมแดง”

ส่วน ก้อง ฤทธิ์ดี เทียบอารมณ์นี้กับคนถ่ายรูปหน้าสนามแข่งฟุตบอลโลกแล้วแชร์ภาพให้โลกรู้เหมือนตัวเองไปเตะฟุตบอลโลกมา

ขณะที่นักการตลาดประโคมข่าว “ราชินีแห่งคานส์” อย่างซื่อสัตย์กับครีมทาหน้าต่อไป Embrace of the Serpent หนังรางวัลเมืองคานส์ก็เข้าฉายในไทยอย่างเงียบๆ

สวนทางกับคำชื่นชมทั่วโลกที่สูงระดับนักวิจารณ์บางคนยกย่องว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของปี 2015 สมกับตัวหนังที่ได้รางวัล C.I.C.A.E อันเป็นรางวัลซึ่งเน้นไปที่ความเป็นศิลปะของภาพยนตร์โดยตรง

Embrace ถูกพูดถึงในไทยในฐานะหนังจากประเทศโคลอมเบียที่เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่ความเป็นหนังโคลอมเบียไม่ใช่จุดขายแน่ในประเทศซึ่งแค่รู้จักประเทศนี้ระดับรู้ชื่อ การ์เบรียล การ์เซีย มาเกซ ก็บุญแล้ว

ส่วนคำว่าออสการ์สาขาหนังต่างประเทศก็อาจเข้าหูบ้างเวลาหนังบางเรื่องตั้งตัวเป็น “หนังแห่งสยามประเทศ” เพื่อประโคมตัวเองเป็นตัวแทนประเทศไปชิงรางวัลนี้ ถึงแม้จะไม่เคยได้เข้าชิงเลยก็ตาม

Embrace of the Serpent หรือที่มีชื่อไทยว่า “จอมคนป่าอสรพิษ” มีอะไรที่ทำให้นักวิจารณ์ชื่นชมขนาดนี้?

ในแง่ตัวเรื่อง Embrace เล่าเรื่องการเดินทางเข้าลุ่มน้ำอเมซอนของฝรั่งสองคนที่เดินทางสู่ป่าลึกที่ไม่เคยมี “ฝรั่ง” คนไหนเข้าถึงมาก่อน

คนแรกเป็นนักชาติพันธุ์วิทยาที่ต้องการบันทึกสภาพธรรมชาติและคนพื้นเมืองไปเขียนหนังสือและสร้างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนีช่วงต้นศตวรรษ 1900

ส่วนคนหลังตามรอยบันทึกฝรั่งคนแรกเพื่อหาพันธุ์ยางไปปลูกให้อเมริกายุคสงครามโลกครั้งที่สองไม่ต้องพึ่งยางจากเอเชียแถบที่ญี่ปุ่นยึดครอง

อนึ่ง ควรระบุด้วยว่าหนังเรื่องนี้พัฒนาขึ้นจากบันทึกประจำวันของฝรั่งทั้งสองคนซึ่งมีตัวตนอยู่จริงๆ

แน่นอนว่าฝรั่งทั้งคู่เดินทางเข้าป่าลึกของอเมซอนไม่ได้ หากไม่มีคนพื้นเมืองนำทาง

และคาราคามาเต้ซึ่งถูกคนพื้นเมืองด้วยกันมองว่าเป็น “ผู้เปิดโลก” หรือ “ผู้วิเศษ” คือตัวละครหลักที่เป็นผู้นำการเดินทางให้ตัวละครทั้งหมด

หนังเผยให้เห็นตั้งแต่ต้นว่าคาราคามาเต้แยกตัวเองจากคนพื้นเมืองด้วยกัน อยู่เป็นเอกเทศจากมนุษย์ และในที่สุดเราจะรู้ว่าคาราคามาเต้เชื่อว่าฝรั่งฆ่าคนเผ่าเขาจนเขาเป็นคนเดียวของเผ่าที่หลงเหลือมา

ตัวละครที่เดินทางคนละห้วงเวลาทำให้เวลาในหนังมีสองชุด และหนังก็เล่าเหตุการณ์ซึ่งเกิดคนละเวลาสลับไปมาจนทั้งสองเหตุการณ์เหลื่อมซ้อนเป็นเหตุการณ์เดียวกันไปหมด

เส้นแบ่งของเวลาและตัวละครที่เลือนรางลงขณะที่หนังเดินหน้าไปเรื่อยๆ ส่งผลให้เวลาและตัวละครทั้งสองชุดเป็นแค่จุดเล็กๆ บนวัฏฏะของประวัติศาสตร์แบบช่วงยาวจากต้นศตวรรษ 1900 ถึงทศวรรษ 1940 และอาจเป็นเช่นนั้นจนปัจจุบัน

กล่าวอีกนัย Embrace of the Serpent นำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่าง “ฝรั่ง” กับคนพื้นเมืองที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงในเวลาราวครึ่งศตวรรษระดับที่ผู้ชมคงรู้สึกได้เองว่าความสัมพันธ์คงจะเป็นเช่นนั้นจนปัจจุบัน

ตัวละครและเวลาที่ผิดกันเป็นเครื่องมือแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่คงเดิม เป็นแบบแผนซ้ำซาก และด้วยน้ำเสียงที่ไม่มีความเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “ฝรั่ง” กับคนพื้นเมืองจะเปลี่ยนแปลง

พูดในเชิงเปรียบเปรยคือหนังเรื่องนี้เล่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งหมดในภาพใหญ่ที่แทบไม่ต่างกับสิ่งที่นิทเช่เรียกว่า Eternal Recurrence เวลาในหนังจึงไม่ใช่เส้นตรง แต่เป็นวัฏจักร ส่วนเหตุการณ์และสถานการณ์ระดับรูปธรรมนั้นเป็นเพียงการแสดงออกของการดำรงอยู่ที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นไปตามวงรอบซึ่งจะเป็นคงเดิมไปนิรันดร์

แล้วความสัมพันธ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร?

มองโดยผิวเผินแล้ว หนังเรื่องนี้เดินเรื่องผ่านความตึงเครียดที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างตัวละคร เราจะเห็นว่าในความเคลื่อนไหวแรกพบระหว่าง “ฝรั่ง” ทั้งสองคนกับคนพื้นเมืองที่เป็น “ผู้เปิดโลก” หรือ “ผู้วิเศษ” นั้น ฝ่ายแรกต้องการให้ฝ่ายหลังนำทาง แต่ฝ่ายหลังก็ยืนยันทุกครั้งว่าไม่ต้องการนำทางตามที่ถูกร้องขอ ส่วนการเปลี่ยนใจไปนำทางนั้นเกิดขึ้นเพราะ “ฝรั่ง” ยอมให้บางอย่างคนที่พื้นเมืองต้องการ

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือความรู้ที่ฝรั่งได้จากการสำรวจอเมซอนที่หมอผีพื้นเมืองไม่มี

แม้ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้จะไม่น่าตื่นเต้นสำหรับนักสังคมศาสตร์ยุคหลังฟูโกต์ใน ค.ศ.2015 แต่หนังเรื่องนี้ผลักประเด็นนี้ไปจนถึงขีดสุด ฝรั่งคนแรกเดินทางสู่ป่าลึกของอเมซอนพร้อมความรู้แบบตะวันตกด้านชาติพันธุ์วิทยา ฝรั่งคนที่สองเดินทางเพราะความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ในป่าเขตร้อน ส่วนคนพื้นเมืองมีความรู้เรื่องภูมิประเทศ ยาพื้นบ้าน รวมทั้งพันธุ์ไม้ในเขตร้อนชื้น

ความรู้เรื่องคนพื้นเมืองและความรู้ของคนพื้นเมืองแบบนี้นั่นเองคือสิ่งที่ฝรั่งต้องการ

อาจสรุปง่ายๆ ว่าหนังเต็มไปด้วยคู่ขัดแย้งระหว่างความรู้ที่เป็นศาสตร์ VS ความรู้ที่ “ไม่เป็น” ศาสตร์, ความรู้สากล VS ความรู้พื้นบ้าน, ความรู้ “ตะวันตก” VS ความรู้ที่ “ไม่ใช่” ตะวันตก และความรู้แบบวิทยาศาสตร์ VS ความรู้ด้านจิตวิญญาณ