วงค์ ตาวัน | ศึกใน-ศึกนอก และศึกปากท้อง

วงค์ ตาวัน

ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล นับจากเข้าเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในกลางเดือนกรกฎาคม เห็นได้ว่าไม่ได้อยู่บนความราบรื่นมั่นคงอะไรเลย อาจจะยังประคับประคองตัวเองไปได้ แต่ก็ต้องอาศัยอะไรต่อมิอะไรมากมายเป็นตัวช่วย ไม่ได้เดินไปได้ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ

แค่ประเด็นเสียงปริ่มน้ำในสภาก็เป็น “รายจ่าย” ที่หนักหนาสาหัส ในทุกครั้งที่ต้องมีการโหวต

จนกระทั่งมาเกิดเหตุสภาล่ม เนื่องจากญัตติขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา แล้วพยายามดิ้นเพื่อขอให้นับคะแนนใหม่ จนเกิดการโต้แย้งในข้อบังคับการประชุมข้อ 85 ว่านำมาใช้อย่างสมควรหรือไม่

ลงเอยฝ่ายค้านใช้วิธีวอล์กเอาต์ ทำให้สภาไม่สามารถประชุมต่อไปได้

เป็นเรื่องเสียหายต่อพรรครัฐบาล ไปจนถึงกระทบต่อการทำหน้าที่ของประธานสภา นายชวน หลีกภัยด้วย

“เป็นบทเรียนอีกครั้ง เป็นการประจานสภาพเสียงปริ่มน้ำว่า ไม่มีความมั่นคงแน่นอนให้เห็นอีกครั้ง!”

แม้สถานการณ์ที่เสียงในสภามีความเป็นวิกฤตเช่นนี้ เท่ากับกลายเป็นโอกาสของบรรดางูเห่า อิ่มเอมไปตามๆ กัน

“แต่คือรายจ่ายอย่างมหาศาลในการประคองรัฐบาลให้อยู่ต่อไป ภายใต้ความไม่แน่นอน”

เพราะแม้จะใช้วิธีเลี้ยงงูเห่าในทุกครั้งที่มีการโหวต แต่ก็รับประกันไม่ได้ว่า แล้วเสียงของ ส.ส.รัฐบาลเอง จะสามารถกะเกณฑ์ให้มาร่วมนั่งประชุม นั่งโหวต ครบถ้วนทุกเก้าอี้ ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามป่วยเป็นอันขาดได้หรือ

ขณะที่รัฐบาลยังต้องเผชิญกับศึกใหญ่ในสภาอีกมากมายในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้

ท่ามกลางความแข็งขันอย่างน่าสะพรึงกลัวของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ที่อาจจะมีแตกแถวแปรสภาพเป็นงูเห่าอยู่บ้าง แต่ก็ไม่กระทบภาพรวมอันน่าเกรงขามเลย

“นับว่าความชอบธรรมของพรรคฝ่ายค้าน ในการทำงานในสภายิ่งมีเพิ่มมากขึ้นในสายตาประชาชน”

รวมไปถึงคณะกรรมาธิการหลายชุด ที่ฝ่ายค้านยึดกุมเอาไว้ ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ไปจนถึงผู้นำเหล่าทัพ มือไม้ของคณะ คสช. ซึ่งสร้างความหนักใจให้กับกลุ่มผู้กุมอำนาจไม่น้อยเลย

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีนักกับรัฐบาลและกับกลุ่มอำนาจที่หนุนหลังอยู่

ขณะที่ศึกจากพรรคฝ่ายค้านก็เหน็ดเหนื่อยไม่ธรรมดาอยู่แล้ว เพียงแค่ 4 เดือนเอง ก็เกิดศึกในรัฐบาล ที่สร้างความแตกร้าวอย่างน่าหวาดหวั่นไม่น้อยเลย เป็นอีกแนวรบที่อาจส่งผลต่ออายุของรัฐบาลนี้อย่างน่าจับตา

กรณีฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนธันวาคม แล้วเกิดศึกระหว่างสื่อในเครือข่ายพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย

นั่นก็คือความขัดแย้งระหว่างซีกหนึ่งของพลังประชารัฐ ที่ไม่พอใจในช่วงเจรจาตั้งรัฐบาล โดยไม่เห็นด้วยที่กระทรวงคมนาคมไปอยู่กับภูมิใจไทย

เมื่อได้จังหวะที่ฝ่ายค้านเริ่มวางเป้าหมายจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีกระทรวงคมนาคมอยู่ในข่ายแน่นอน

“ก็มีสัญญาณให้สื่อในเครือข่ายโหมข้อมูลผสมโรงกับฝ่ายค้าน เพื่อเขย่ากระทรวงคมนาคม โดยเป้าหมายคือ ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องปรับ ครม. แล้วดึงคมนาคมให้มาอยู่กับปีกเศรษฐกิจของพลังประชารัฐนั่นเอง!!”

ขณะที่ภูมิใจไทยก็เปิดศึกเอาคืนอย่างไม่ยอมถอย ปูพรมแจ้งความทั่วประเทศ

ไปจนถึงคำขู่ถึงขั้นถ้าเสียคมนาคม ก็ต้องไปกันทั้งยวง

“รวมถึงกรณีแบน 3 สารเคมีทางเกษตร ที่ภูมิใจไทยเหมือนโดนเตะตัดขา ก็โดนเกมจากกลุ่มเดียวกันของพลังประชารัฐนั่นเอง จากที่เดินหน้าไปดีๆ ได้หน้าได้ตาไปทั้งพรรค จู่ๆ ก็เจอทีเด็ดในวงประชุมคระกรรมการวัตถุอันตราย ทำให้ต้องชะงัก”

อีกด้านยังมีความขัดแย้งระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ กรณีที่ไม่ยอมให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าประชาธิปัตย์ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเชื่อมโยงไปถึงความร้าวลึกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับนายอภิสิทธิ์

ภาพที่เป็นรัฐบาลโดยการรวมตัวกันเกือบ 20 พรรค และมีพรรคขนาดกลางที่มีพลังต่อรองสูงถึง 2 พรรคคือประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย

ความขัดแย้งที่เกิดจากภายในรัฐบาลเอง เริ่มปรากฏให้เห็นได้จากภายนอกชัดขึ้นๆ

จริงอยู่ รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มีกลุ่มอำนาจเช่นกองทัพให้การสนับสนุนอย่างเต็มตัว มีเสียงในวุฒิสภาเป็นฐานหนักแน่น และยังมีพลังค้ำยันให้อีกหลายด้าน จนเหมือนกับว่าน่าจะเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ

ขนาดกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ซึ่งเท่ากับไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีใครทำอะไรได้

“เปรียบกันว่าเป็นรัฐบาลเส้นใหญ่อย่างแท้จริง”

ขณะเดียวกัน การที่กองทัพให้การสนับสนุน ก็ดูเหมือนจะทำให้ภาพรวมของบ้านเมืองดูสงบเรียบร้อย

เป็นรัฐบาลที่โดดเด่นด้านควบคุมความมั่นคง

“แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ ในด้านเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน เป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถตอบสนองความฝืดเคืองของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เรื่องปากท้องความอดอยากของผู้คนนี่แหละ ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้มานักต่อนักแล้ว

ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับสภาพเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ด้านธุรกิจการค้า เงินทองในกระเป๋าชาวบ้าน ก็หนักหนาสาหัสมาหลายปี

การสะสมของปัญหาเศรษฐกิจ มีแนวโน้มสูงมากที่จะปะทะและพังทลายในปีหน้าเป็นต้นไป

“ที่ว่าปีหน้าเผาจริง น่าจะได้เห็นกันชัดเจน”

การปิดตัวของโรงงาน ธุรกิจการค้า ทำให้คนตกงาน รายได้หดหาย จะยิ่งเด่นชัดในปีหน้า

จนกล่าวกันว่า รัฐบาลอาจจะเอาตัวรอดได้ในด้านฐานอำนาจที่สนับสนุน

แต่ปัญหาเสียงปริ่มน้ำในสภา ที่ดูง่อนแง่น

“รวมถึงปัญหาปากท้องชาวบ้าน จะกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญ ที่รัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์รวมไม่อยู่”

ปัญหาเศรษฐกิจ การกินอยู่ของชาวบ้านนี่แหละ ที่อาจเป็นตัวเร่งไปสู่จุดเปลี่ยนของรัฐบาลในปีหน้า

ทั้งศึกในรัฐบาล ศึกภายนอกจากฝ่ายค้านและเสียงปริ่มน้ำ สุดท้ายกระหน่ำซ้ำด้วยมรสุมเศรษฐกิจเงินทอง

แนวโน้มเหล่านี้ ชี้ให้เห็นอนาคตของรัฐบาลว่า กำลังเดินเข้าสู่วิกฤตที่รุนแรงมากขึ้น!