อภิญญา ตะวันออก : ฮวด ตาด สังฆราช ในอ้อมกอดแห่งความตาย

อภิญญา ตะวันออก

ราวปลายปี พ.ศ.2512 ขณะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพิ่งจะว่างลงนั้นได้เกิดเหตุมิคาดฝันที่สมเด็จพระสังฆราชจวน นาต ทรงถึงแก่ทิวงคตโดยอุบัติเหตุ

พลัน สมเด็จพระโพธิวงษ์ (ฮวด ตาด) ชันษา 78 ซึ่งดำรงพระผู้ช่วยในกิจการสำคัญของอดีตพระสังฆราชจวนนานมากว่า 5 ทศวรรษทั้งฉบับพระไตรปิฎกและพจนานุกรม ทรงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาสุเมธีธิบดี-สมเด็จพระสังฆราชกัมพูชาองค์ที่ 5 แห่งคณะมหานิกายอย่างเป็นที่รับทราบ

ทว่าเดือนมีนาคมปีถัดมา เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองมิคาดฝัน นายเจียง เฮียง ประธานรัฐสภาจึงถวายพระนามใหม่ เป็นสมเด็จพระสังฆวิทยา (สังฆวิเจีย)

แม้ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกสมเด็จฮวด ตาด บรรพชิตผู้มีจริยวัตรงดงาม

แต่อนิจจาในห้วงปลายชีวิตที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น

กลับเต็มไปด้วยวิบากกรรม

 

เกิดในปี พ.ศ.2435 (นับแบบเขมร) อายุเพียง 7 ขวบถูกส่งตัวไปเล่าเรียนในวัดใกล้บ้านเกิดเมืองอุดงค์ เมื่ออายุครบ 13 ปีจึงบวชเป็นสามเณรที่วัดปรางค์ อุดงค์ ก่อนย้ายไปเป็นศิษย์พระธรรมลิขิต (โส) วัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานพระธรรมโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปรางค์ที่มรณภาพลง

สามเณรฮวด ตาด มีความฉลาดไวในการศึกษาเล่าเรียน และสามารถสอบเปรียญสี่ประโยคได้สำเร็จเมื่ออายุเพียง 22 พรรษา

โดยการสอบดังกล่าวจัดขึ้น ณ บริเวณเขตพัทธสีมาวัดพระแก้ว บรมมหาราชวัง ซึ่งในปีนั้นนอกจากพระฮวด ตาดแล้ว ยังมีพระจวน นาต ศิษย์อาวุโสจากสำนักเดียวกันร่วมสอบด้วย

สร้างความปีติยินดีแก่คณะวัดอุณาโลมในปีนั้น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสำนักตักศิลาที่เต็มไปด้วยพระหนุ่มผู้ปราดเปรื่องแถวหน้า ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์คณะชุมนุมชำระพระไตรปิฎกเกือบทั้งสิ้น

อาทิ พระอาจารย์เหม เจียว พระจวน นาต พระปัง ขัด พระแปน สก และพระฮวด ตาด ผู้โดดเด่นสายปริยัติ ความอ่อนน้อม แม้จะอ่อนพรรษากว่าพระจวน นาต ร่วม 10 ปี แต่ก็ไม่เป็นที่คัดค้านในการส่งตัวไปศึกษาภาษาโบราณเพิ่มเติมที่กรุงฮานอยแต่อย่างใด

เมื่อกลับมาพนมเปญ พระฮวด ตาด ได้บรรจุเป็นครูสอนภาษาสันสกฤต-บาลีที่โรงเรียนบาลีระดับสูงโดยทันที

เช่นเดียวกับพระจวน นาต ที่สอนแต่เฉพาะบาลีเท่านั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยพระจวน นาต จัดทำพจนานุกรมภาษาเขมร และชุมนุมชำระพระไตรปิฎก ซึ่งมีสมเด็จพระธรรมลิขิต (ลิว งอม) เจ้าคณะวัดลังกาเป็นองค์ประธานและพระหัวแถวจากคณะวัดต่างๆ ในกรุงพนมเปญอีก 3-4 แห่ง

การมีพระระดับหัวกะทิที่ส่วนใหญ่มาจากวัดอุณาโลม และเกือบทั้งหมดเป็นนักภาษาศาสตร์ รอบรู้ 4-5 ภาษาเป็นอย่างน้อย ทั้งบาลีและจารึกโบราณ ซึ่งมีบริเวณใกล้กับสำนักพุทธศาสนบัณฑิต

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนองค์คณะชุมนุมชำระพระไตรปิฎกเขมรนี้กลับมีแต่ความร้าวลึกและแตกแยกอย่างนัยที

ทั้งในกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่ และกลุ่มพระเขมรหนุ่มซึ่งจะเติบโตและแตกแยกต่อไปเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม อันมีพระจวน นาต เป็นสายหลัก

ส่วนปีกเสรีนิยมหัวก้าวหน้าที่ไม่ยึดโยงขนบเดิม มีปลัดโฆษนาคพระเหม เจียว ศิษย์สมเด็จจวน นาต และสมเด็จฮวด ตาด ร่วมสำนักอารามวัดอุณาโลมรุ่นต่อมาที่เป็นกำลังหลักขององค์ชุมนุมชำระพระไตรปิฎกผู้เก่งการเทศนาอบรมให้ประชาชนกัมพูชาใฝ่หาเสรีภาพและอุดมการณ์ นอกเหนือจากอาหารและเสื้อผ้าเพื่อยังชีพ

ในที่สุดชุมนุมชำระพระไตรปิฎกก็ถึงแก่การสะดุดลง เพราะสมาชิกบางรูปติดร่างแหในคดีก่อกบฏ

 

พระฮวด ตาด แม้จะติดตามท่านจวน นาต เหมือนเงา แต่ความที่ท่านอาวุโสน้อย ในสายตามหายานบางฝ่าย พระฮวด ตาด ไม่ใช่เป้าหมายของการโจมตีว่าเป็นหุ่นเชิดกษัตริย์และรัฐบาลอินโดจีน ตั้งแต่ที่ทั้งสองรูปถูกส่งไปโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศที่ฮานอย (2466) เมื่อเสร็จภารกิจ ทั้งสองรูปถูกบรรจุเป็นครูโรงเรียนบาลีระดับสูง ต่างกันตรงที่ตารางสอนของพระฮวด ตาด มีทั้งบาลีและสันสกฤต

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่พระจวน นาต ถูกต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคราวหนึ่ง ถึงขั้นถูกปาด้วยสิ่งของขณะขึ้นธรรมาสน์

บทเรียนนี้น่าจะสอนใจให้พระฮวด ตาด เรียนรู้วิกฤตความแตกแยกเกลียดชังที่ตามมาหลังเหตุการณ์ “ปฏิวัติร่ม” การกวาดล้าง พระเหม เจียว ถูกจับสึก ติดคุกและมรณภาพที่เกาะตรอลาจ สะเทือนต่อชาวมหานิกายโดยรวม แต่กลับไม่เคยได้รับการปกป้องจากราชสำนัก ทั้งต่อมาพรรคราชนิยมของสีหนุก็กลับมาใช้วิธีการเดียวกัน คือกวาดล้างเมล็ดพันธุ์กลุ่มนี้

เมื่อกลับมาได้อีกครั้ง บรรพชิตผู้ร่วมอุดมการณ์พระเหม เจียว เช่น พระเขียว จุม และสานุศิษย์ จึงพากันรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บาดแผลสอดคล้องกันดีระบอบเขมรเสรี การแยกหน้าศาสนาจากราชสำนักซึ่งไม่มีอยู่แล้วเวลานั้น และส่งเสริมพุทธศาสนิกยึดโยงชีวิตของตนกับอุดมการณ์และเสรีภาพ

แต่นั่นมิใช่ภารกิจที่จะลุล่วงโดยง่าย

ในบางครั้ง พระเขียว จุม และศิษย์กระทรวงธรรมการจึงทูลขอสมเด็จพระสังฆราชฮวด ตาด ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประชาชน ทว่ามีที่มาจากนโยบายทางการเมือง

สมเด็จฮวด ตาด ผู้ได้ชื่อว่าประนีประนอมมาตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม และความเมตตาของพระองค์ที่ให้ความร่วมมือแก่ทุกฝ่าย ร่วมภารกิจเพื่อบ้านเมืองครั้งนี้

โดยเฉพาะความพยายามที่จะอาศัยภาพลักษณ์แบบพระฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งประชาชนบางกลุ่มยังรู้สึกต่อความสูญเสียไปในกรณีระบอบกษัตริย์

ขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาก็มองว่าพระองค์เป็นศัตรูและเพียงเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเบอร์ต้นๆ ของฝ่ายเขมรเสรีที่พึงต้องกำจัด

 

18 เมษายน พ.ศ.2518 ราวเวลา 9 นาฬิกา บริเวณวัดอุณาโลม ชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือซึ่งพากันลงมาจากรถยนต์สีดำคันหนึ่งและตรงไปยังกุฏิที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชฮวด ตาด

อา.. 2 ครั้งแล้วสินะที่อารามแห่งนี้ถูกจู่โจมคุกคามจับกุมพระเถระบางรูปอย่างต่างกรรมต่างวาระซึ่งแม้จะต่างยุค (2485, 2518) แต่ก็พบว่ามีข้อเท็จจริงที่พระเหล่านั้นบางรูปต่อมาถูกกวาดล้างและกระทำอย่างทารุณ ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จสังฆราช ซึ่งถูกนำตัวไปสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติในสายวันนั้น

ประชาชนชาวพนมเปญได้ยินพระดำรัสสั้นๆ ของพระองค์

ทว่าทันใดนั้น พล.อ.ไม สิจอน เสนาธิการกองโยธาธิการเขมรเสรี ก็ประกาศผ่านรายการ :

“เนื่องจากขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับพี่น้องเขมรอีกฝ่ายหนึ่งข้าพเจ้าขอประกาศให้นายทหารของกองทัพเขมรเสรีทุกฝ่าย จงวางอาวุธ”

แต่ยังมิทันจะจบความอันระทึก ทันใดนั้นเสียงที่ดุดันของฝ่ายที่ 3 ที่ต่อมาทราบกันว่าคือกลุ่มเขมรแดงก็แผดขึ้น

“นี่ไม่ใช่การเจรจาจากเราผู้ชนะ สงครามจบแล้ว กองทัพเขมรเสรีเท่านั้นที่ต้องวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข และคอยฟังคำสั่งของเราต่อไป”

ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงในวันนั้น แม้พอจะคาดเดาได้ว่า พล.อ.ไม สิจอน ถูกสำเร็จโทษอย่างไร แต่สำหรับสมเด็จพระสังฆราชฮวด ตาด และผู้ติดตามแล้ว มีใครทราบชะตากรรม

 

บันทึกบางฝ่ายให้การว่า ทรงถูกส่งตัวกลับมาที่วัดอุณาโลม จากนั้นชายชุดดำกลุ่มเดิมได้นำตัวพระองค์ขึ้นรถสีดำตรงไปยังสถานที่แห่งหนึ่งของเมืองอุดงค์ (ปิญ ยาไท : กรมพระโสริยา, 2019)

และอนุสรณ์สุดท้ายที่ทิ้งไว้แก่ชาวกัมพูชาคือ พระดำรัส :

“ขอให้ญาติโยมทุกฝ่ายอย่าได้หวาดกลัว การสู้รบสิ้นสุดแล้ว ประเทศเรากำลังมีสันติภาพ หลุดพ้นจากวิบากเวทนา และต่อจากนี้ไปขอให้ท่านทั้งหลายร่วมกันสร้างประเทศนี้อีกครั้ง”

อีกบันทึกบางฉบับที่อ้างว่า สมเด็จพระสังฆราชฮวด ตาด สมเด็จพระมหาสุเมธีธิบดี ทรงถูกเขมรแดงกระทำการสำเร็จโทษ ที่บริเวณเนินพนมเมืองเก่าอุดงค์ (เวง กุดเฮง)

ราวกับโชคชะตาบันดาลให้กลับสู่เขตคามอันอบอุ่นร่วมกับพระธรรมโฆษาจารย์ผู้เป็นอาจารย์

ทรงเลือกแล้วกาลนั้น อ้อมกอดนิรันดร์แห่งความเป็นบรรพชิต