คำ ผกา | ของมันต้องมี – รัฐบาลที่ทำงานเป็น

คำ ผกา

Gen Y ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ และจากจำนวนนี้ 20.2% คือหนี้เสีย ขณะมูลค่าสินค้าฟุ่มเฟือยสูงถึงเกือบ 100,000 บาท/ปี จากเงินเดือนเพียง 377,694 บาท/ปี

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล TMB Analytics สะท้อนว่า Gen Y กว่าร้อยละ 48 อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ขณะที่ความฝันรองลงมาคือการครอบครองรถยนต์ในสัดส่วนร้อยละ 22 และมีการออมทรัพย์ในอันดับที่ 3 ที่ร้อยละ 13

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูความเป็นจริง ตัวเลขร้อยละ 48

ที่เป็นความฝันในการซื้อบ้านสามารถทำได้จริงเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

ขณะที่ความจริงของการครอบครองรถก็อยู่ที่ร้อยละ 10

และน้อยลงไปอีกในการมีเงินออมที่ร้อยละ 9

“นริศ” ชี้ว่า ตัวการสำคัญที่ขัดขวางการเดินไปถึงความฝันของ Gen Y คือ “ของมันต้องมี” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายในความเป็นจริงถึงร้อยละ 69 หรือประมาณ 95,518 บาท/ปี คิดเป็น 1/4 รายได้ทั้งหมดของเจนวายต่อปี เมื่อค่าเฉลี่ยรายรับอยู่ที่ 377,694 บาท/ปี

6 อันดับแรก “ของมันต้องมี” ของเจนวาย ได้แก่ 1.โทรศัพท์ (22%) ในราคาเฉลี่ย 23,574 บาท 2.เสื้อผ้า (11%) ในราคาเฉลี่ย 13,719 บาท 3.เครื่องสำอาง (8%) ในราคา 11,934 บาท 4.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (5%) ในราคา 16,486 บาท 5.กระเป๋า (4%) 15,466 บาท 6.นาฬิกา/เครื่องประดับ (2%) ในราคา 14,324 บาท

https://voicetv.co.th/read/bQ2jIflnV

ก่อนที่จะได้อ่านข่าวเกี่ยวกับ “ของมันต้องมี” และภาวะหนี้สินของคนเจนวาย ฉันกำลังอ่านบทความชื่อ This is what life without retirement looks like จาก https://www.theatlantic.com/business/archive/2018/02/pensions-safety-net-california/553970/

ที่พูดถึงภาวะยากจนของคนหลังเกษียณในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ว่าดูจากสถิติแล้วมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่า เราจะไม่ให้คนต้องจนหลังจากเกษียณได้อย่างไร? สามเสาหลักแห่งความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณในระบบอเมริกันประกอบไปด้วย

1. เงินจากประกันสังคม

2. กองทุนบำนาญจากบริษัทที่เราเป็นลูกจ้าง

3. เงินออมส่วนตัว

ดังนั้น ความกังวลที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนี้คือ

คนหลังเกษียณอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เงินเก็บส่วนตัวน้อยลง

ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและการดูแลสุขภาพสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน คนในวัยทำงานเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชะลอตัว บ้างตกงานในวัยกลางคน

วงจรที่เกิดขึ้นคือ คนที่แก่ไปแล้ว ยังใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม

แต่คนวัยทำงานมีเงินไปสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมน้อยลง เช่น อาจเป็นเพราะตกงาน ไม่มีงานประจำ ไม่มีรายได้ที่แน่นอน

จึงน่ากังวลว่า ภาวะยากจนของคนวัยเกษียณในระบบคลื่นถัดไปและถัดไป จะยิ่งน่าเป็นกังวลมากขึ้นไปอีกหลายเท่า (พูดภาษาชาวบ้านคือ คนเริ่มกลัวว่ากองทุนประกันสังคมจะเจ๊ง)

แล้วคนยุคเบบี้บูมเมอร์ที่กลายเป็นคนวัยเกษียณเหล่านั้นเดินมาสู่ความยากจนกว่าที่พวกเขาควรจะเป็นได้อย่างไร?

จากการสำรวจพบว่า คนเหล่านี้สูญเสียเงินออมส่วนตัว (ที่ควรเป็นหลังพิงอีกอันนอกเหนือจากบำนาญจากบริษัท และเงินประกันสังคม) ไปกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

หรือแม้กระทั่งบางคนที่ตัดสินใจกู้เงินซื้อบ้านในช่วงที่ทำงานอยู่ ยังไม่เกษียณ และตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในอเมริกา ดังนั้น พวกเขาจึงซื้อบ้านในราคาแพง

แต่พลันที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก บ้านราคาห้าล้านก็เหลือเพียงแค่ห้าแสน

ความเศร้าคือ มันทำให้คนที่ไปกู้เงินซื้อบ้านราคาห้าล้าน ก็เท่ากับมีหนี้ห้าล้านบวกดอกเบี้ย

แต่พลันที่ฟองสบู่แตก บ้านที่ยังผ่อนไม่หมด ราคาเหลือห้าแสน แถม ณ เวลานั่น ยังเกษียณอายุแล้วเสียด้วย!

โศกนาฏกรรมความจนหลังเกษียณในจังหวะนี้คือ การที่คุณเกษียณพร้อมหนี้สินก้อนใหญ่ อันหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในมือไม่สามารถ cover หนี้ก้อนนั้นได้เลย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้องขายบ้านเพื่อโปะหนี้ได้บ้างก็ยังดี จากนั้นคุณก็กลายเป็นคนแก่เกษียณไร้บ้าน มีเงินบำนาญเพียงน้อยนิดที่คุณต้องเจียดไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ซึ่งค่าเช่าบ้านนั้นอาจจะเป็นรายจ่ายร้อยละสี่สิบของรายได้

ถ้าคุณโชคดีอาจจะหารูมเมตมาช่วยหารค่าห้องหรือบ้านเช่า

แต่ถ้าวันไหนรูมเมตทนพิษความชราไม่ไหวมาตายก่อนคุณ วันนั้นคุณก็จะกลายเป็นคนที่แก่มากๆ แล้ว และยังต้องอยู่คนเดียว มีรายได้น้อยนิดที่ต้องเจียดมาจ่ายค่าเช่าบ้านจำนวนเต็ม

และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนแก่อายุเจ็ดสิบปลาย แปดสิบต้นๆ จำนวนไม่น้อย ต้องระเห็จตัวเองออกมาทำงานรับจ้างแลกค่าแรงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประทังชีวิตให้อยู่ไปได้

หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน

ถามว่านี่เป็นสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นกับชีวิตเราหลังเกษียณหรือเปล่า?

ถามให้น่าน้อยเนื้อต่ำใจไปกว่านั้นคือ “เราทำอะไรผิด?”

คนแก่ที่กลายมาเป็นคนยากจนเหล่านี้ล้วนแต่เคยเป็นเด็กที่พยายามเรียนหนังสือ เข้าวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย พยายามเอาตัวเองเข้าไปทำงานประจำหวังความมั่นคง หวังเงินบำนาญ พยายามเก็บหอมรอมริบเอาเงินนั้นไปลงทุนในอสังหาฯ บ้าง ในกองทุนต่างๆ บ้าง สุดท้าย กับปัจจัยที่คาดไม่ถึงควบคุมไม่ได้ กลายเป็นคนจน ต้องแบกสังขาร่วงโรยออกหางานทำอีกรอบ – I am working woman again – หญิงวัย 76 กล่าวกับนักข่าวอย่างนั้น

ถามว่า แล้วคนเหล่านี้ไม่มีลูกไม่มีหลานหรือ?

คำตอบคือ ถ้าลูกของเขาคือคนเจน x ซึ่งตอนนี้อยู่ในวัยสี่สิบบวกๆ พวกเขาก็กำลังหัวหมุนกับการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของลูก จ่ายประกัน อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกเลย์ออฟ และกำลังกังวลเรื่อง “เงินบำนาญ” หรือเงินเก็บหลังเกษียณของตนเองเช่นเดียวกัน

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “คนชั้นกลาง” จะแบกรับภาระดูแลพ่อ-แม่พวกเขาได้

หรืออาจกล่าวได้ว่า การที่พวกเขาไม่กลายเป็นภาระของพ่อ-แม่ซ้ำเติมลงไปอีกบุญหัวแล้ว!

ในรุ่นหลานหรือคนเจน y ยิ่งหนักเข้าไปอีก เป็นที่รู้กันว่า คนเจนวายในอเมริกานั้นเป็นเจนที่มีภาระหนักหน่วงทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด (และน่าจะอีกหลายประเทศ)

ไหนจะเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาอันกลายเป็นหนี้ก้อนที่พวกเขาต้องเริ่มต้นชีวิตด้วยต้นทุนที่ติดลบ

โอกาสในการได้งานดีๆ หายาก งานดีๆ อยู่ในเมืองใหญ่ เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ค่าครองชีพสูง ค่าเช่าบ้านนั้นเรียกได้ว่าหฤโหด รับเงินเดือน หักเงินกู้ หักค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ค่าจิปาถะ ก็อาจจะไม่เหลืออะไร

หันมาดูที่อัตราเงินเฟ้อก็พบว่า คนเจนวายวันนี้เมื่อคำนวณค่าแรงพวกเขากับอัตราเงินเฟ้อแล้ว พวกเขามีรายได้ไม่ต่างจากค่าแรงของทศวรรษที่ 70s ในขณะที่ต้นทุนอย่างอื่นในชีวิตแพงขึ้นหมด

นั่นคือวิกฤตของอเมริกาที่ตอนนี้คนก็หน้าแห้งจาก “ความเหลื่อมล้ำ” มีสถิติมาให้ดูกันเบาๆ ว่า

“สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างคนยากจนและคนร่ำรวย โดยผลสำรวจบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันประมาณ 550,000 คนเป็น “คนไร้บ้าน” และชาวอเมริกันประมาณ 40 ล้านคนมีฐานะยากจน ส่วนอีก 18.5 ล้านคน มีฐานะยากจนอย่างรุนแรง และ 5.3 ล้านคนมีสภาพความเป็นอยู่เทียบเท่ากับคนในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ทั้งยังมีอัตราประชากรวัยเยาว์ที่ยากจนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)”

https://voicetv.co.th/read/ryDfLQex7

แถมอีกนิดว่า สถิติปี 2017 คนร้อยละ 1 ของอเมริกาครอบครองความมั่งคั่งร้อยละ 40 ของประเทศ

หันกลับมาที่ประเทศไทยที่เขาบอกว่าคนเจนวายจะฉิบหายขายตัวเพราะ “ของมันต้องมี” นั้น ข้อมูลปี 2018 คนร้อยละ 1 ครอบครองความมั่งคั่ง ร้อยละ 66.9 ขึ้นมาจากปี 2016 ซึ่งครอบครองที่ร้อยละ 58.7

ความเหลื่อมล้ำที่สูงขนาดนี้บอกเราว่ายิ่งเราทำงาน แรงงานของเราก็ยิ่งไปสร้างความมั่งคั่งให้คนอื่น ส่วนเรานั้นก็จะค่อยๆ เหี่ยวเฉาไปจากภาวะเบิร์นเอาต์บ้าง เครียดบ้าง

สุดท้ายก็ตายไปอย่างยากจน

หันกลับไปดูชีวิตคนไทยที่สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เว็บไซต์ ออมมันนี่ ให้ตัวเลขมาว่า ถ้าพอประทังชีวิต ต้องมีสองล้าน

อยู่สบายพอดี ห้าล้าน

อยู่สบายมากๆ ประมาณ 16 ล้าน (ตัวเลขนี้ไม่มีค่าเช่าบ้าน หรือค่าดูแลบ้าน และคนที่มีบ้านจะรู้ว่าค่า maintain บ้านนั้นสูงใช่น้อย)

หันมาดูข้อมูลเงินฝากคนไทย ร้อยละ 88 มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท และคนที่มี 500,000-1,000,000 บาทนั้นมีแค่ร้อยละ 1.11 ย้ำ แค่ 1.11% เท่านั้นจ้า

ทีนี้ขอถามง่ายๆ เลยนะว่า คนเจนวาย ต่อให้ไม่ซื้อโทรศัพท์ ไม่ซื้อเครื่องสำอาง ไม่รูดการ์ด 0% 10 เดือนไปเที่ยวญี่ปุ่น พวกเขาจะมีเงินออมถึงห้าล้าน-สิบล้านไหมในวัยหลังเกษียณ

ในกรณีที่พ่อ-แม่พวกเขาเป็นชนชั้นกลางที่ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ฝากชีวิตหลังเกษียณไว้กับกองทุนประกันสังคมที่กำลังง่อนแง่นคล้ายอเมริกาเพราะคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนเท่าที่คาดการณ์

คนวัยทำงานตกงาน ถูกเลย์ออฟโรงงานปิด คนเกษียณก็เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นภาวะเงินออกมากกว่าเข้า แถมนายกฯ ยังแหย่ๆ หยอกๆ จะให้เอาเงินกองนี้มาปล่อยกู้อีก

ก่อนที่จะประณามว่าคนเจนวายถูกล่อซื้อฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ สร้างแต่หนี้ไม่มีเงินออม โปรดดูด้วยว่ารายได้สองหมื่นเศษๆ ต่อเดือน พวกเขามีรายจ่ายอะไรบ้าง?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม. ที่คนหมดเงินไปกับค่าเดินทางมากที่สุด และถ้าไม่มีรายจ่ายเป็นตัวเงิน ยอมขึ้นรถเมล์ นั่งรถตู้ หรืออยู่บ้านที่ไกลขึ้น คนเหล่านี้ก็ต้องเอา “เวลา” เข้าแลก นั่นก็หมายถึงการเอาสุขภาพกายและจิตเข้าแลกนั่นแหละ ทำงานเก้าโมง ออกจากบ้านตีสี่ ตื่นตีสาม กว่าจะถึงบ้านสามทุ่ม

ชีวิตแทบจะไม่เหลืออะไร

โทรศัพท์ เครื่องสำอาง กระเป๋า เสื้อผ้า กาแฟ ชาไข่มุก ฟิตเนส คลาสโยคะ จึงเป็นความบันเทิงไม่กี่อย่างที่ช่วยให้ชีวิตแต่ละวันผ่านไปอย่างไม่ระยำจนเกินไป

ไม่ต่างจากการตอกเหล้าโรงแก้วแล้วแก้วเล่า

หลังเลิกงานของผู้ใช้แรงงานสักเท่าไหร่

ถ้าพูดเรื่องหนี้ เรื่องอยากมีบ้านแต่มีไม่ได้ โปรดอย่า “หยาบ” และมักง่ายด้วยการโทษใส่คนอื่นว่ามีไม่ได้แค่นจะมี หรือไร้สติริทำตัวตามเซเลบไฮโซ เที่ยวพูดเรื่องของมันต้องมี

ใช่ คนต้องมีวินัยทางการเงิน แต่ก่อนอื่น เราต้องมีเงินพอที่จะให้เรามีวินัยกับมัน และสุดท้าย รัฐต้องไม่ทิ้งเราไว้เท้งเต้งในทะเลความเหลื่อมล้ำและโยนภาระที่ควรเป็นของรัฐมาบนบ่าเรา ทั้งการขนส่งมวลชน ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา

และต่อให้เราห่วยมากแค่ไหน รัฐมีหน้าที่เดียวคือทำให้คนห่วยที่สุดมีชีวิตที่ดีที่สุดในเงื่อนไขของเขา

ย้ำอีกครั้งว่าความห่วยของประชาชนไม่ใช่ข้อแก้ตัวให้รัฐที่ทำงานไม่เป็น