วรศักดิ์ มหัทธโนบล : หลักคิดเชิดชูชนชั้นสูงของถังไท่จง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

ฎีกาดังกล่าวนอกจากจะมีเนื้อหาเตือนสติแล้วก็ยังมีการเปรียบเปรยที่ลึกซึ้งแทรกอยู่ในบางประการอีกด้วย ดังในข้อสี่ที่กล่าวถึงการใกล้ชิดบัณฑิตกับคนพาลนั้นได้เปรียบเปรยว่า ถ้าบุคคลคลุกอยู่กับบุปผาที่หอมรวยรินหรืออยู่กับปลาเค็มเหม็นคาวแล้ว นานวันผ่านไปก็จักมิรู้สึกถึงความหอมหรือความเหม็นนั้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า การที่งานศึกษานี้ยกฎีกาที่ว่ามาเป็นตัวอย่างก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ฎีกานี้ได้ประมวลบทบาทและการครองตนของถังไท่จงจนแทบจะครบถ้วน เป็นภาพที่สะท้อนทั้งด้านมืดและด้านสว่างที่ทุกคนพึงมีพึงเป็นไม่เว้นแม้แต่จักรพรรดิ

จากเหตุนี้ แม้บทบาทของถังไท่จงจะได้รับการยอมรับจนทุกวันนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ใช่ว่าพระองค์จะไร้ซึ่งความผิดพลาดไม่ และฎีกาดังกล่าวก็ได้ระบุความผิดพลาดบกพร่องของพระองค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนที่ว่าเหตุใดถังไท่จงจึงมีจิตใจกว้างขวางนั้น อาจดูได้จากคำกล่าวของพระองค์เองที่ว่า “แม้นใช้ทองแดงเป็นคันฉ่อง จักส่องจัดเครื่องแต่งกายได้ แม้นใช้ตำนานเป็นคันฉ่อง จักเห็นซึ่งความเจริญความเสื่อม แม้นใช้บุคคลเป็นคันฉ่อง จักกระจ่างในสิ่งผิดพลาดพลั้งเผลอ”

คำกล่าวนี้ต่อมาได้เป็นที่เล่าขานและใช้อ้างอิงในสังคมจีนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

 

นโยบายใหม่เพื่อจักรวรรดิ

ช่วงที่ถังไท่จงขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ.626 นั้น จีนได้เข้าสู่เอกภาพไปแล้วก่อนหน้านี้โดยบทบาทของถังเกาจู่

เหตุดังนั้น บทบาทที่โดดเด่นของถังไท่จงจึงอยู่ตรงนโยบายและการปฏิรูปในหลายด้าน

เรื่องแรกๆ ก็คือ การจัดระเบียบหน่วยบริหารขึ้นใหม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีที่มาจากเมื่อแรกตั้งราชวงศ์นั้น ถังเกาจู่ได้ตั้งหน่วยบริหารระดับจังหวัดและอำเภอเพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว จากนั้นก็ตั้งให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในการตั้งราชวงศ์ไปปกครอง อันเป็นบำเหน็จรางวัลให้บุคคลเหล่านี้ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย

แต่ด้วยเหตุที่หน่วยบริหารเหล่านี้ตั้งขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า พอถึงยุคของถังไท่จง หน่วยบริหารเหล่านี้จึงถูกยุบลงเพื่อความคล่องตัวในการบริหาร จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้ปกครองจากเดิมที่เรียกว่าผู้บัญชาการภาค (จ่งกวานฝู่) มาเป็น ผู้บัญชาการปกครอง (ตูตูฝู่) แทน

โดยใน ค.ศ.639 มีผู้บัญชาการปกครอง 43 นายที่ควบคุมดูแลพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ยุทธศาสตร์ ซึ่งในเวลานั้นมีจังหวัด 272 หน่วยจากทั้งหมด 358 หน่วยที่ทำหน้าที่ประสานงานด้านการทหารให้ขับเคลื่อนไปได้ และทั้งหมดนี้ไม่รวมพื้นที่เมืองหลวง

การปรับเปลี่ยนนี้ยังรวมถึงการตั้งหน่วยบริหารขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่าภูมิเขต (เต้า, circuit) ด้วยการรวมเอามณฑลของแต่ละภาคเท่ากับหนึ่งภูมิเขต เช่น รวมมณฑลเหอตงในภาคเหนือเข้ากับมณฑลเหอเป่ยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหนึ่งภูมิเขต เป็นต้น

การปรับเปลี่ยนหน่วยบริหารนี้เห็นได้ชัดว่ามุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคง ซึ่งก็คือภัยคุกคามจากนอกจักรวรรดิ

 

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนดังกล่าวก็ย่อมมีการปฏิรูประบบราชการส่วนท้องถิ่นตามมา โดยแรกตั้งราชวงศ์นั้น ข้าราชการที่ปกครองท้องถิ่นมักจะเป็นนายทหารซึ่งมักทำหน้าที่ผู้พิพากษาไปด้วย ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยจะเป็นบุคคลในท้องถิ่น

หากเป็นระดับสูงมักเป็นข้าราชการที่ส่วนกลางย้ายมาเสมือนเนรเทศเพราะมีความผิด

พอมาถึงยุคนี้ก็ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแบบแผนดังกล่าว ด้วยการให้คณะขุนนางในราชสำนักส่งรายชื่อบุคคลให้ถังไท่จงเป็นผู้พิจารณาคัดกรอง และเมื่อส่งไปปกครองแล้วมีรายงานมาว่าผู้ปกครองนั้นมีข้อบกพร่องในหน้าที่ ถังไท่จงจะทรงเลือกบุคคลใหม่ด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ ยังมีการส่งผู้ตรวจการไปยังภูมิเขตต่างๆ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของข้าราชการอีกด้วย ผู้มีความดีความชอบจะได้รับการสนับสนุนให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น หากเป็นไปในทางตรงข้ามก็จะถูกลงโทษ

กรณีหลังนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีผู้ที่ถูกลงโทษนับพันราย และมีอยู่เจ็ดรายที่ประพฤติผิดร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต

ความผิดสถานหนึ่งมักเป็นเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงผ่านการกินสินบาทคาดสินบน อันเป็นความผิดที่ถังไท่จงทรงตำหนิอย่างรุนแรง และพยายามควบคุมด้วยการส่งข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตไปปกครอง

แม้จะเป็นปัญหาที่แก้กันไม่สิ้นสุดก็ตามที

 

ส่วนการปรับเปลี่ยนหน่วยบริหารที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงย่อมเป็นด้านการทหาร ซึ่งก็คือกองทหารบ้าน โดยใน ค.ศ.636 ได้ปรับกองทหารบ้านจากเดิมขึ้นใหม่เรียกว่า กองทหารผู้พิชิต (เจ๋อชงฝู่, intrepid militia) ที่ซึ่งต่อมารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าทัพทหารบ้าน (ฝู่ปิง, militia troops)

กองทหารนี้มีทั้งหมด 633 กอง โดยจะมีอยู่จำนวนหนึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองหลวงที่มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และอีก 261 กองกระจายอยู่ทั่วบริเวณด่านภายใน (กวานจง) ส่วนในยามสงบกองทหารนี้จะถูกแบ่งเป็นสี่ส่วนตั้งกระจายอยู่ในเหอตง และทางตะวันตกของเหอหนันรอบเมืองลว่อหยัง

ส่วนจำนวนทหารของแต่ละกองจะมีตั้งแต่ 800 นายจนถึง 1,000 หรือ 1,200 นาย ทั้งนี้ ทหารม้ากับพลธนูบนหลังม้าจะอยู่รวมกันโดยแยกออกจากทหารราบ ทหารแต่ละนายในกองทหารผู้พิชิตนี้จะได้รับการแจกจ่ายอาวุธและยุทธปัจจัยเฉพาะตน

อนึ่ง กองทหารบ้านที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้หมายเฉพาะในยุคถังไท่จง ซึ่งมีความแตกต่างกับกองทหารบ้านในสมัยสุยที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้ว และทำให้เห็นว่า คำว่ากองทหารบ้านนี้เป็นคำเรียกหน่วยทหารที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย แม้จะเป็นคำเดียวกันก็ตาม

และยังทำให้เห็นอีกว่า ทหารกองนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของจีนมาโดยตลอดแม้จนทุกวันนี้

 

ต่อมาคือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ นโยบายในด้านนี้มีความยุ่งยากมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ที่ปรากฏว่า การศึกจากกบฏที่ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีได้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนการผลิตอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการลดลงของจำนวนครัวเรือนนับล้านครัวเรือน จนส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง

แต่กระนั้น ถังไท่จงก็สามารถเข้าถึงธัญพืชที่มีราคาสูงและเก็บรักษาเอาไว้ได้ แล้วใช้ธัญพืชนี้แจกจ่ายให้แก่ข้าราชการระดับสูงที่ปฏิบัติงานอยู่นอกเมืองหลวงแทนเงินเดือน

ไม่เพียงเท่านั้น มหาอำมาตย์อย่างเว่ยเจิงยังได้ขัดขวางถังไท่จงมิให้ดำเนินนโยบายใดๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา แต่ตั้งอยู่บนความฟุ่มเฟือย เช่น เสนอให้ถังไท่จงงดหรือลดพิธีกรรมตามประเพณีที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณสูงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บ้านเมืองสงบลงแล้ว มาตรการต่างๆ ก็มีความชัดเจนขึ้น มาตรการประกันผลผลิตที่เรียกว่ายุ้งสงเคราะห์ (อี้ชัง, relief granaries) ในกรณีที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทำลายผลผลิต หรือการเก็บเกี่ยวเกิดความล้มเหลว มาตรการนี้ถูกตราขึ้นใน ค.ศ.628

จากเหตุนี้ การผลิตในภาคเกษตรในยามที่มีความสงบไม่เพียงดำเนินไปได้ด้วยดีเท่านั้น หากยังทำให้เศรษฐกิจในเวลานั้นมีความรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ความรุ่งเรืองนี้ต่อมาได้ถูกขยายไปสู่นโยบายการแทรกแซงรัฐของชนชาติที่มิใช่ฮั่น โดยเฉพาะในแถบเอเชียกลางและเกาหลี

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญในเวลานั้นที่งานศึกษานี้จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

เพียงชั่วไม่กี่ปีหลังการครองราชย์ของถังไท่จง เสถียรภาพได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เพื่อให้เสถียรภาพนี้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ในยุคนี้ถังยังได้นำหลักคิดทางการเมืองมารับใช้ตนอีกด้วย

เช่น การนำหลักคิดว่าด้วยศักดินา (เฟิงเจี้ยน, feudal) มาอภิปราย ว่าถังควรจะสร้างจักรวรรดิให้เป็นดังที่ราชวงศ์เซี่ย ซัง และโจวในยุคต้นประวัติศาสตร์จีนเคยใช้จนประสบผลสำเร็จมาแล้วหรือไม่ ด้วยหลักคิดศักดินาได้เกิดขึ้นในยุคนั้น และทำให้ราชวงศ์ทั้งสามมีอายุราชวงศ์ที่ยาวนาน

อย่างไรก็ตาม หลักคิดนี้กระทำได้ก็แต่การอภิปราย ด้วยถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดมรรคผลในทางปฏิบัติแต่อย่างไร ส่วนหลักคิดที่มีผลในทางปฏิบัติก็คือ การเชิดชูชนชั้นสูง

หลักคิดการเชิดชูทางชนชั้นนี้คือการเชิดชูวงศ์ตระกูลที่สำคัญ ที่มาของหลักคิดนี้มีฐานคิดอยู่ที่การสร้างเสถียรภาพของถังไท่จงโดยแท้ เป็นฐานคิดที่มุ่งเชิดชูวงศ์ตระกูลที่สัมพันธ์กับราชสำนักในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งก็คือวงศ์ตระกูลที่มีพื้นเพจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ

อันเป็นพื้นเพเดิมของถังไท่จง