จิตต์สุภา ฉิน : เมื่อดาราไม่ต้องพึ่งใคร นอกจากอินสตาแกรม

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่ถูกโซเชียลมีเดียจับพลิกกลับหัวกลับหางเปลี่ยนแปลงเสียจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม และเป็นความสัมพันธ์ที่เราอาจจะไม่ทันได้นึกไปถึงด้วยซ้ำว่ามันแตกต่างจากแต่ก่อนอย่างไรเพราะความเคยชินจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว

ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างดารากับแฟนๆ

ยุคก่อนการมาถึงของอินสตาแกรม การจะติดตามดาราอย่างใกล้ชิดนั้น นอกจากจะต้องคอยเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์หรือซื้อตั๋วภาพยนตร์เพื่อไปดูเรื่องล่าสุดที่ดาราคนโปรดของเราเล่น ก็คือการจะต้องพลิกหน้านิตยสารที่ฝรั่งเรียกว่าแท็บลอยด์ซึ่งช่างภาพปาปารัซซี่ต้องคอยไปดักเจอเซเลบตามสถานที่ต่างๆ และถ่ายภาพช็อตเผลอๆ มาสนองความต้องการของแฟนๆ อย่างไม่ขาดสาย

ภาพแอบถ่ายดาราในเมืองนอกก็จะโหดกว่าบ้านเราอยู่พอสมควร

ไม่ว่าจะเป็นช็อตดาราเมาแอ๋เดินออกมาจากคลับ

ดาราหน้าคะมำตอนก้าวลงจากรถหรูส่วนตัว

ดาราผมยุ่งกระเซอะกระเซิงไร้เครื่องสำอางและดูแก่กว่าความเป็นจริงสิบปี

หรือช็อตภาพถ่ายที่ช่างภาพจะต้องก้มตัวต่ำลงติดพื้นให้ได้มากที่สุดและเสยกล้องขึ้นมาถ่ายใต้กระโปรงดารา

ทั้งหมดนี้ก็จะถูกขายให้นิตยสารแท็บลอยด์นำไปตีพิมพ์ และเพื่อให้แฟนๆ กำเงินมาซื้อจากแผง

เพราะนี่คือวิธีที่จะได้เห็นดาราที่พวกเขาชอบในแบบที่ใกล้ชิดที่สุดและเรียลที่สุด

 

ความสัมพันธ์ระหว่างดารา ช่างภาพ และแฟนๆ เป็นมาแบบนี้อยู่นานหลายปี จนกระทั่งการมาถึงของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอินสตาแกรมที่เป็นโซเชียลมีเดียแบบเน้นภาพ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ดาราหันมาอัพโหลดภาพของตัวเอง และไม่ใช่แค่ภาพช็อตถ่ายแฟชั่นสวยๆ ตามสตูดิโอเท่านั้น

แต่ภาพที่อัพขึ้นไปมีความใกล้ชิดมากเสียจนเราได้เห็นแม้กระทั่งห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ กิจวัตรประจำวันของดารา คนสนิทของดารา สัตว์เลี้ยงของดารา

เห็นแม้กระทั่งอาหารทุกมื้อที่ดารากิน

ดารามีความเป็น “คน” มากขึ้น

ดาราอยู่ในที่เดียวกับที่เราอยู่ จนเราแทบจะรู้สึกว่าเอื้อมมือไปสัมผัสได้

The New York Times บอกว่า จากเดิมที่เราต้องคอยดูภาพที่ปาปารัซซี่ซูมผ่านกระจกรถดาราเข้าไป แต่ตอนนี้เราเหมือนกับได้นั่งอยู่เบาะหน้าข้างคนขับไปแล้ว

กลับกลายเป็นว่านิตยสารที่เดิมเคยตีพิมพ์ภาพถ่ายจากปาปารัซซี่ ตอนนี้ก็ต้องหันไปพิมพ์ภาพที่หยิบฉวยมาจากอินสตาแกรมของดาราเองแทน

ข่าวที่ต้องอาศัยแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนหรือทำการบ้านรื้อค้นข้อมูลก่อนรายงาน ก็กลายมาเป็นการหยิบสเตตัสหรือคำบรรยายใต้ภาพอินสตาแกรมของดารามาเขียนข่าวแทน

(ซึ่งก็อาจจะไม่เรียกว่าข่าวเสียด้วยซ้ำ เรียกว่าเอาโซเชียลมีเดียดารามาอ่านให้ฟังจะตรงกว่า)

 

นอกจากการได้เห็นภาพที่มีความเป็นส่วนตัวของดารามากขึ้น อีกอย่างที่แตกต่างจากการดูภาพดาราจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ก็คือความสามารถในการโต้ตอบ จากเดิมที่ดูอย่างเดียว ตอนนี้เรายังสามารถกดไลค์ได้ คอมเมนต์ได้ และดีไม่ดีดาราก็จะมาตอบคอมเมนต์ของเราด้วย

ไม่มีอีกแล้วที่จะต้องส่งจดหมายไปที่ช่องและรอด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าดาราจะตอบจดหมายของเราไหม (ซึ่งส่วนใหญ่คือไม่ ถึงตอบก็อาจจะไม่ใช่เจ้าตัวเป็นคนตอบเอง)

หากคอมเมนต์ของเราออกแนวละลาบละล้วง ไม่เหมาะสม เจอเข้ากับดาราที่เฟียซสักหน่อยก็อาจจะถูกดาราด่าเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ได้

แล้วเราก็เสพสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้าไปทุกวัน การแต่งบ้านของดารา ผลิตภัณฑ์ที่ดาราใช้ แฟชั่นการแต่งตัวเครื่องประดับที่ดาราสวม ชนิดของการออกกำลังกายที่ดาราทำให้เห็นทุกวัน เราหยิบเอาตัวตนบางอย่างของดาราคนที่เราหลงใหลมาผสมผสานเข้ากับตัวตนของเรา เราอาจจะเริ่มแต่งตัวเหมือนดารามากขึ้น โพสท่าถ่ายรูปให้คล้ายกันมากที่สุด หรือแต่งหน้าในแบบเดียวกัน

ทั้งๆ ที่โครงหน้าของเราอาจจะไม่เหมาะกับการแต่งหน้าสไตล์นั้นเลยก็ได้

 

อินสตาแกรมเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่การได้ติดตามดาราที่เราชื่นชอบในผลงานเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้สำรวจคนอีกมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งหากปราศจากอินสตาแกรมแล้วเราก็คงไม่มีวันได้รู้เลยว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คนรวย ไฮโซ คนที่มีเงินล้นฟ้าจนไม่รู้จะใช้ให้หมดได้อย่างไรในชีวิตเดียว เราได้เห็นพวกเขาถ่ายทอดไลฟ์สไตล์อันเลิศหรูอู้ฟู่ผ่านภาพถ่ายฟิลเตอร์สีฮิปสเตอร์ชื่นชอบ การขับรถสปอร์ตราคาแพง นั่งเครื่องบินเฟิร์สต์คลาสไปทุกที่ราวกับตั๋วราคาหลักพันไม่ใช่หลักแสน ได้กระทบไหล่กับดาราที่ดังเสียยิ่งกว่าคนที่เรากดติดตามอยู่บนอินสตาแกรม หรือการได้ไปอยู่ในสถานที่ที่เราแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่าต้องรวยเบอร์ไหนถึงจะไปยืนอยู่ตรงนั้นได้

อินสตาแกรมเพิ่มสถานะให้คนรวยนอกจากจะเป็นคนรวยและคนดังในแวดวงของตัวเองได้แล้ว ยังกลายเป็นคนดังของคนทั้งประเทศหรือทั้งโลกได้ด้วย แต่สิทธิพิเศษเดียวกันนี้ไม่ได้มีให้กับเฉพาะแค่คนรวยเท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้วใครก็ตามที่สามารถสมัครแอ็กเคาต์อินสตาแกรมได้ ก็อาจจะกลายเป็นคนดังได้เหมือนกัน

คนธรรมดาทั่วไปที่มีฝีมือในการทำอะไรสักอย่าง อย่างเช่นมีฝีมือในการแต่งหน้า แต่งตัว ปลูกต้นไม้ ตกแต่งบ้าน ถักนิตติ้ง วาดรูป เขียนอักษรสวยๆ หรือทักษะอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี ใครที่มีหมา แมว กระต่าย เต่า เม่นแคระน่ารักๆ หรือใครก็ตามที่มีอารมณ์ขันและพรสวรรค์ในการทำให้คนอื่นหัวเราะ ก็สามารถใช้อินสตาแกรมเป็นเครื่องมือสร้างชื่อเสียงได้

แต่แตกต่างกันตรงที่คนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะดังขึ้นมาแค่ไหนก็จะไม่ถูกเรียกว่าดาราหรือเซเลบ เพราะมีคำศัพท์ใหม่ให้กับคนกลุ่มนี้แล้ว

คำศัพท์นั้นก็คือ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือคนที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตามของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย

 

ง่ายๆ ก็คือ ขายของเก่ง มีความน่าเชื่อถือ หยิบจับสินค้าอะไรก็ทำให้ผู้ติดตามเชื่อว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดและออกไปหาซื้อมาใช้ตามบ้าง

อินสตาแกรมเองก็ปรับแพลตฟอร์มตัวเองให้ตอบสนองพฤติกรรมนี้ด้วยการทำให้ทุกอย่างซื้อง่ายขายคล่องมากที่สุด ถ้าเปิดรูปดาราดูสักรูปและลองแตะไปที่รูปหนึ่งครั้ง ก็อาจจะได้เห็นบับเบิลโผล่ขึ้นมามากมายเพื่อบ่งบอกว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาพมาจากแบรนด์ไหนกันบ้าง

และการคลิกแค่คลิกเดียวก็ทำให้ไปถึงลิงค์ที่สามารถสั่งซื้อของชิ้นนั้นได้อย่างรวดเร็ว

ในยุคที่แอพพลิเคชั่นช่วยให้เราปรับแต่งรูปให้เป็นไปได้ตามต้องการทุกอย่าง ไม่ว่าจะปรับสีผิว กลบรูขุมขน หรือลดขนาดรูปร่าง สิ่งที่อินสตาแกรมยังเฝ้าระวังอยู่บ้างก็คือ ทำอย่างไรไม่ให้แพลตฟอร์มเต็มไปด้วยโฆษณาเรื่องความสวยความงามที่อันตรายและผิดไปจากธรรมชาติ

อย่างเช่น สินค้าลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือการทำศัลยกรรมที่เล็งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชน อินสตาแกรมพยายามจะจำกัดสิ่งเหล่านี้ให้เหลืออยู่น้อยที่สุด

ไปจนถึงการซ่อนยอดไลค์เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานหมกมุ่นกับการสร้างภาพลักษณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจมากจนเกินไป

อินสตาแกรมทำให้ความเป็นปริศนาของดาราสูญสลายไปหมดสิ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องทางทำมาหากินและขยายฐานแฟนให้กว้างขึ้น

และนอกจากจะไม่ต้องพึ่งพาปาปารัซซี่ในการช่วยสร้างชื่อเสียงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างดารากับนักข่าวสายบันเทิงก็น่าจะต้องถูกรื้อประเมินใหม่หมดเหมือนกัน