เทศมองไทย : “เอ็มอาร์ซี” เตือนภัย แล้งใหญ่กำลังมาถึง

“เอ็มอาร์ซี” ที่ว่านี้คือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ที่เป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและประสานงาน จัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งรวมทั้งกัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม รายงานชิ้นล่าสุดนี้เผยแพร่ออกมาเมื่อ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หัวข้อบ่งบอกอย่างตรงไปตรงมาครับว่า กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนามกำลังต้องเผชิญกับภาวะแล้งสาหัสในปีนี้ คุกคามต่อผลผลิตทางเกษตรกรรมในประเทศเหล่านั้นเหมือนๆ กันทั้งหมด

แต่กัมพูชากับไทยจะหนักหนาสาหัสกว่าอีก 2 ประเทศ

ซอน ลัม ฮุง หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการน้ำท่วมและภาวะแล้งในภูมิภาค ของเอ็มอาร์ซี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานที่ศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เตือนเอาไว้ว่า ภาวะแล้งเข็ญที่ว่านี้จะสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประเทศเหล่านี้

นั่นคือทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงมานับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 60 ปีเลยทีเดียว

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นของเอ็มอาร์ซี แสดงให้เห็นว่าภาวะแล้งครั้งใหญ่ในปีนี้ เกิดขึ้นจากการที่ปีนี้มีปริมาณฝนน้อยผิดปกติ เนื่องจากฤดูฝนโดยทั่วไปแล้วจะเริ่มต้นในราวปลายเดือนพฤษภาคมแล้วไปสิ้นสุดในเดือนตุลาคม ไม่เพียงมาช้ากว่าปกติถึง 2 สัปดาห์ ยังหมดฝนเร็วกว่าที่เคยเป็นถึง 3 สัปดาห์

เมื่อสมทบกับการเกิดสภาพภูมิอากาศแบบ “เอลนิโญ” ซึ่งเป็นต้นเหตุให้อุณหภูมิสูงผิดปกติ และทำให้อัตราการระเหยของน้ำสูงตามไปด้วย ภาวะแล้งจึงกลายเป็นแล้งหนักหนาสาหัสไปโดยปริยาย

“สภาวะอากาศแห้งแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานเป็นพิเศษในปีนี้ เป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการเกษตรกรรมและผลผลิตของพืชอาหาร ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกันหากภาวะแห้งแล้งยังคงอยู่ต่อเนื่อง”

ซอน ลัม ฮุง ระบุ

 

ภาวะแห้งแล้ง ในทางวิชาการนั้นแยกออกได้ 2 ลักษณะ อย่างแรกคือ สภาวะอากาศแห้งแล้ง หรือ “เมทีโอโลจิคอล ดราฟต์” ซึ่งหมายถึงรูปแบบของภูมิอากาศแห้งแล้งครอบงำพื้นที่จำนวนหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง กับภาวะแล้งทางเกษตรกรรม หรือ “อะกรีคัลเจอรัล ดราฟต์” ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าเพราะเป็นสภาวะที่ร้อนและแล้งจนพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกยืนต้นตายนั่นเอง

ภาวะแล้งของปีนี้ ตามข้อมูลของเอ็มอาร์ซี จะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่จะเลวร้ายลงสู่ระดับหนักหนาสาหัสที่สุดตลอดทั้งเดือนธันวาคมนี้ โดยที่ส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 4 ซึ่งถูกเรียกว่าคือประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จะไม่มีฝนตกเลยแม้แต่น้อย

ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ไล่ตั้งแต่เชียงใหม่ เรื่อยลงมายังเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร ต่อมายังนครราชสีมา ออกไปสู่บุรีรัมย์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา อย่างอุดรมีชัย, พระวิหาร, เสียมราฐ เหล่านี้คือพื้นที่ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะแล้งสาหัส

บางส่วนของลาวตอนกลางและตอนเหนือ ทั้งเวียงจันทน์, ไซสมบูน, ไซยะบุรี และหลวงพระบาง ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ไม่หนักเท่า

เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งจะเผชิญปัญหาน้ำเค็มไหลเข้ามาแทนที่เมื่อน้ำโขงลด ทำลายพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณดังกล่าว

ตามการวิเคราะห์ของเอ็มอาร์ซี สถานการณ์แล้งสาหัสที่คาดการณ์ไว้นี้จะค่อยๆ บรรเทาลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมเป็นต้นไป เนื่องจากสภาวะอากาศบรรเทาเบาบางลง

 

หลังจากเผยแพร่รายงานนี้ออกมา ที่ประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 ซึ่งเป็นการประชุมสามัญประจำปีระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงภัยแล้งในภูมิภาคระยะ 5 ปี

ที่ครอบคลุม 5 ประเด็นหลักคือ การจัดทำดัชนีภัยแล้ง, การพยากรณ์ภัยแล้งและการเตือนภัยล่วงหน้า, การสร้างขีดความสามารถของบุคลากร, มาตรการบรรเทาผลกระทบ และสุดท้าย การแบ่งปันและการเผยแพร่ข้อมูล

นอกจากนั้น ทางการญี่ปุ่นยังได้สนับสนุนโครงการการศึกษา โดยเฉพาะในด้านการศึกษาวิจัยหาสาเหตุของวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เกิดในภูมิภาคนี้ด้วย

ในปี 2563 ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ก็จะมีการเร่งผลักดันและขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำและการวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป