วิกฤติศตวรรษที่21 : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : ท่วงทำนองส่วนตัวทรัมป์

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

มองโลกจากความขัดแย้งใหญ่ 3 ประการ

การมองโลกจากความขัดแย้ง มีประโยชน์สำหรับผู้สนใจในความเป็นไปของโลกที่เข้าใจได้ยาก ให้สามารถติดตามข่าวสารเหตุการณ์ได้ง่ายและสนุกขึ้น เห็นภาพทั้งในรายละเอียด เห็นผู้แสดงที่มีเลือดเนื้อ ความปรารถนา ความวิตก และโทสะความเกลียด การดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด รักษาสถานะเดิม หรือต้องการยกฐานะของตนเองใหม่

ได้เห็นความเป็นมิตรเป็นศัตรูที่แปรเปลี่ยนไป

ไปจนถึงภาพใหญ่ของโลกว่าอะไรเป็นอะไร อะไรคงเดิม และอะไรเปลี่ยนไปเป็นอะไร เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ประมาทและดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ และถ้าหากโชคดียังมีโอกาสสำหรับการสร้างโลกที่พึงประสงค์ขึ้นได้

ความขัดแย้งใหญ่ 3 ประการนี้มีความเด่นชัดขึ้นมากในปัจจุบัน และผลกระทบของความขัดแย้งนี้ก็เป็นไปอย่างรุนแรง สมควรให้ความสนใจ ความขัดแย้งดังกล่าวได้แก่ ก) ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค จนถึงระดับโลกที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเดิมมีสหรัฐ เป็นต้น และกลุ่มอำนาจใหม่ มีจีน-รัสเซีย-อิหร่านเป็นแกน ข) ความขัดแย้งระหว่างมวลชนรากหญ้ากับชนชั้นนำ ค) ความขัดแย้งระหว่างการผลิตโดยเครื่องจักร-คอมพิวเตอร์กับธรรมชาติแวดล้อม

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเดิมกับกลุ่มอำนาจใหม่ มีประเด็นสำคัญคือ

1) การปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ของสหรัฐ

2) การรุกคืบของกลุ่มอำนาจใหม่

3) การปะทะกันที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

และ 4) จุดเดือดของโลก


ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ

: การเปลี่ยนแปลงนโนบายของสหรัฐ

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของสหรัฐ เป็นสิ่งที่จำต้องเกิดขึ้น เนื่องจากความล้มเหลวของนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเมืองในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นไปทั่วโลกเป็นเพราะมันเกิดขึ้นเร็วเกินคาด ประกอบกับท่วงทำนองการบริหารของทรัมป์ที่ผิดจากขนบการเมืองระหว่างประเทศ แต่โดยทั่วไปมันยังคงวางบนรากฐานนโยบายเดิม

นโยบายเดิมที่คิดปฏิบัติกันใหม่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย (ทศวรรษ 1990) ประกอบด้วยเสาหลักสามเสา ได้แก่

1) ลัทธิทหาร มีอยู่สองด้าน ได้แก่

ก) การทำให้การทหารครอบงำทางการทูตและการต่างประเทศ การขยายฐานทัพและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ข) การแปรหน่วยรักษาความมั่นคงทั้งหมด ที่สำคัญ ได้แก่ การแปรตำรวจแห่งชาติให้เป็นแบบทหาร มีความหวังว่าจะสร้างศตวรรษใหม่ของอเมริกา ถึงสมัยโอบามา งบประมาณกระทรวงกลาโหมตกกว่า 600 พันล้านดอลลาร์ต่อปี สูงกว่างบประมาณกระทรวงต่างประเทศ 12 เท่า มีกำลังรบในหน่วยปฏิบัติการพิเศษราว 70,000 คน ซึ่งแต่ละปีได้ส่งไปปฏิบัติการในราวร้อยละ 70 ของประเทศทั่วโลก ตลอดช่วง 8 ปีในตำแหน่ง โอบามาอนุมัติการขายอาวุธแก่ต่างประเทศรวม 278 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าสมัยบุชผู้ลูกกว่าเท่าตัว

2) ลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือลัทธิโลกาภิวัตน์ มีอยู่สามด้าน คือ

ก) ทางเศรษฐกิจ ถือลัทธิตลาดและบรรษัทเป็นใหญ่

ข) ทางการเมือง ถือลัทธิเสรีประชาธิปไตย ลัทธิมนุษยธรรม

ค) ทางสังคมและค่านิยม ได้แก่ ลัทธิปัจเจกชน ลัทธิผู้บริโภค มีการใช้ลัทธิสามด้านนี้เพื่อเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ การคุกคามทางการค้า การลงโทษบริษัทและสถาบันการเงินต่างชาติ การเปลี่ยนระบบ ในสมัยบุชผู้ลูกได้เพิ่มลัทธิก่อการร้ายขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ที่ยังใช้จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทั้งโลกยอมรับการนำหรือการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐ

3) ลัทธิหลงตัวเอง ประกอบด้วยความคิดชุดหนึ่ง ได้แก่ ลัทธิประเทศพิเศษ ลัทธิประทีปโลกประทีปแห่งเสรีภาพ อิสรภาพและความไพบูลย์ สหรัฐยืนอยู่สูงกว่าใคร และลัทธิการเป็นประเทศที่ขาดไม่ได้ หากขาดสหรัฐ ทั้งโลกก็จะเข้าสู่ความปั่นป่วนโกลาหล ใช้เพื่อรวมพลังภายในชาติให้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล

การเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ (ต่อไปจะเรียกว่าลัทธิทรัมป์) เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่ธาตุแท้บางประการของนโยบายสหรัฐที่ก่อตัวตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศยังคงดำรงอยู่ เปรียบแล้วคล้ายกับธาตุในโลกนี้มีเพียงร้อยกว่าชนิด แต่สามารถรวมกันสร้างเป็นสารประกอบและของผสมได้ไม่รู้จบ

ธาตุแท้บางประการของนโยบายสหรัฐดังกล่าว ได้แก่

ก) ความรู้สึกในการเป็นต้นแบบและผู้นำในโลกสมัยใหม่ เป็นประทีปบนภูผา เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งแรกของโลก

ข) เป็นสิ่งที่กำหนดไว้แล้วว่าสหรัฐจะเป็นใหญ่เหนือทวีปอเมริกา โดยที่ชาติมหาอำนาจอื่นไม่อาจเข้ามาแทรกแซง

ค) สหรัฐจำต้องแบกรับ “ภาระของคนผิวขาว” เพื่อนำพาประชากรผิวสีในโลกสู่อารยธรรมของเสรีภาพ อิสรภาพและความสุข จากนี้นำไปสู่ข้อสรุปอื่น เช่น การเป็นจักรวรรดิที่การุญ และใครไม่เห็นด้วยกับเราก็เป็นปรปักษ์ของเรา

ลัทธิทรัมป์ที่ได้ประกาศในช่วงการหาเสียง และการปฏิบัติหลังการรับหน้าที่ราวสองสัปดาห์ ได้ก่อความสะเทือนไปทั่วโลก สามารถสรุปว่ามีองค์ประกอบสามประการ ได้แก่

ก) ลัทธิชาตินิยม หรือ “อเมริกันก่อนอื่น” เป็นตามแนวคิดสัจนิยมทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เห็นว่าการเมืองระหว่างประเทศเป็นการเล่นเกม ผลรวมเป็นศูนย์ หรือผู้ชนะได้หมด นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลของทฤษฎีวงจรระหว่างรุ่น เสนอโดย วิลเลียม สเตราส์ และ นีล ฮาว นักประวัติศาสตร์อิสระ ผู้เขียนหนังสือ “หัวเลี้ยวที่สี่ : คำพยากรณ์อนาคตอเมริกัน” (เผยแพร่ปี 1997) ทำนายว่าอเมริกาจะเข้าสู่หัวเลี้ยวที่สี่แห่งวิกฤติ ประมาณ 15 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 ระเบียบเก่าจะพังทลาย ระเบียบใหม่จะเข้ามาแทนที่

ลัทธิทรัมป์เห็นว่าจำต้องทิ้งนโยบายเก่า ยกเครื่องนโยบายใหม่ทั้งหมด และเตรียมพร้อมสำหรับสงครามใหญ่กว่าเดิม (ดูบทความของ David Kaiser ชื่อ Donald Trump, Stephen Bannon and the Coming Crisis in American National Life ใน time.com 19.11.2016)

ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวเป็นการเปิดเผยลัทธิชาตินิยมสหรัฐล่อนจ้อน แบบไม่ใช้เสื้อคลุมลัทธิเสรีนิยมเหมือนเดิม

ข) ลัทธิปลีกตัวหรือการตัดช่องน้อยแต่พอตัว เนื่องจากเห็นว่าลัทธิโลกาภิวัตน์และลิทธิแทรกแซงกิจการประเทศอื่น ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังเกิดกระบวนการก่อการร้ายข้ามชาติคุกคาม มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผลได้ และสหรัฐก็จะแบกภาระนี้หนักขึ้นทุกที

โดยที่พันธมิตรทำตัวเป็น “ผู้โดยสารรถฟรี” ได้แก่ นาโต สหภาพยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น

ลัทธิปลีกตัวจึงมีเป้าหมายหลักสองประการได้แก่ 1) ให้พันธมิตรช่วยแบกภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น 2) ลดการเสียเปรียบดุลการค้า หรือกลับมาได้เปรียบยิ่งดีมาก

ค) ลัทธิทหาร อันนี้คงเดิม ได้แก่ การเร่งการแข่งขันทางอาวุธ และการสงครามต่อไป ในการเยือนกระทรวงกลาโหม ทรัมป์กล่าวว่าจะขยายกองทัพสหรัฐครั้งใหญ่

ดังนั้น ทรัมป์จึงเหมือนผู้นำคนก่อนๆ ของสหรัฐ นั่นคือเข้าสู่การต่อรองและทำข้อตกลงด้วยกำปั้นใหญ่


ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ

: เงื่อนไขทางวัตถุที่ทำให้สหรัฐเปลี่ยนนโยบาย

มีเงื่อนไขทางวัตถุหลายประการ ที่ทำให้ชนชั้นนำอย่างน้อยส่วนหนึ่งคิดเสี่ยงเปลี่ยนนโยบายเป็นแบบลัทธิทรัมป์ ได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่า แม้สหรัฐจะเสื่อมถอยลงไปมากแต่ก็ยังคงเข้มแข็งกว่าใคร อำนาจแห่งชาติของตนยังสูงอยู่ การปลีกตัวจากกระบวนโลกาภิวัตน์ที่วิกฤติ มีความปั่นป่วนไปทั่ว อาจทำให้สหรัฐสามารถรักษาสถานะที่สงบสันติในท่ามกลางความโกหลาหลได้ และก็จะดึงดูดหรือโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ หันมาอยู่แวดล้อมหรือโอนอ่อนต่อสหรัฐได้เหมือนเดิม

จุดแข็งสหรัฐ ได้แก่

ก) การเป็นประเทศใหญ่มาก มีขนาดเศรษฐกิจคิดตามตัวเงินใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรกว่า 320 ล้านคน มากเป็นอันดับสาม รองเพียงจีนและอินเดีย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดม สามารถรองรับประชากรเพิ่มขึ้นได้อีกมาก มีแหล่งสำรองพลังงาน ได้แก่ น้ำมันและก๊าซหินดินดาน ที่สามารถขุดสกัดได้เป็นอันมาก แม้ว่าจะมีราคาสูง โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็พร้อม แม้ว่าจะเก่าไปเพราะสร้างมานาน แต่ก็สามารถซ่อมสร้างใหม่ได้ ซึ่งเป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน และสหรัฐก็ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้

ข) มีกองทัพที่เข้มแข็งที่สุด มีงบประมาณทางทหารสูงกว่าใครและสูงขึ้นได้อีก สามารถรบได้หลายสมรภูมิพร้อมกัน มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปทำการทั่วโลก

ค) มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูง คือ ปัญญาประดิษฐ์ การข่าวสารและการสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น

ง) มีมิตรบริวารมาก สหรัฐมีประเทศมาแวดล้อมมากที่สุดในโลก จนเรียกตนเองว่าเป็นตัวแทนประชาคมโลก และประเทศเหล่านี้จะถอนตัวจากการผูกพันกับสหรัฐก็ไม่ใช่ง่าย แต่เงื่อนไขทางวัตถุนี้ไม่ได้ประกันว่ามันจะเป็นไปอย่างที่คาดคิดเพราะว่าประเทศอื่นก็ไล่ตามไปติดๆ และสามารถตอบโต้แบบมาไม้ไหนไปไม้นั้นได้

แท้จริงลัทธิทรัมป์มีความเสี่ยงสูง ถูกต่อต้านคัดค้านมาก ที่ก่อความแตกตื่นได้มาก ส่วนหนึ่งเกิดจากทั้งโลกอยู่ในอาการขวัญผวาจากวิกฤติที่รุมเร้า อีกส่วนหนึ่งเกิดจากท่วงทำนองส่วนตัวของทรัมป์เอง


ท่วงทำนองส่วนตัวของทรัมป์เป็นอย่างไร

ท่วงทำนองหรือเคล็ดการทำงานและการต่อรองของทรัมป์ สังเกตเห็นได้ง่ายจากการพูดและการปฏิบัติของเขาในระยะใกล้นี้

แต่ถ้าจะให้เห็นเป็นระบบและประหยัดเวลา สามารถศึกษาได้จากหนังสือของทรัมป์เองชื่อ “ศิลปะการทำข้อตกลง” (Art of the Deal เผยแพร่ปี 1987) มีผู้สรุปย่อมา และชี้ว่ามีหลายเรื่องที่เขาปฏิบัติต่อมาจนถึงปัจจุบันได้แก่

1) ว่าด้วยแผนทำงานประจำวัน “ผมพยายามไม่ให้มีการประชุมมากเกินไป ผมเปิดประตูกว้าง คุณไม่สามารถมีจินตนาการหรือเป็นนักประกอบการถ้าหากมีโครงสร้างแน่นเกินไป ผมชอบที่จะมาทำงานทุกวัน เพื่อดูว่าอะไรกำลังพัฒนาไปมากกว่า

2) ว่าด้วยนักวิจารณ์ “ผมเห็นว่านักวิจารณ์จะพูดสิ่งที่พวกเขาต้องการพูดเกี่ยวกับงานของผม ดังนั้น ทำไมผมจึงไม่พูดสิ่งที่ต้องการพูดกับงานของพวกเขาบ้าง”

3) ว่าด้วยความยืดหยุ่น “ผมไม่เคยยึดติดกับข้อตกลงหนึ่งหรือวิธีเจรจาหนึ่ง สำหรับผู้เข้ามาใหม่ ผมจะเลี้ยงลูกบอลในอากาศให้มากเข้าไว้ เพราะว่าข้อตกลงเกือบทั้งหมดจะตกไป ไม่ว่ามันจะดูน่าเป็นไปได้มากเพียงใดในตอนแรก”

4) ว่าด้วยหนังสือพิมพ์ “สิ่งที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์อย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาต้องการเรื่องดีๆ ยิ่งเร้าอารมณ์มากยิ่งดี มันเป็นธรรมชาติ เช่นนั้น…ประเด็นก็คือ ถ้าหากคุณทำอะไรให้ต่างไปเล็กน้อย หรือระห่ำเล็กน้อย พวกเขาจะเขียนถึงคุณ”

5) ว่าด้วยข่าวไม่ดีในหนังสือพิมพ์ “(จาก) มุมมองของธุรกิจอย่างเดียว การเป็นข่าวมีผลดีมากกว่าผลเสีย…เรื่องตลกก็คือ แม้เป็นเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นการทำร้ายส่วนบุคคล แต่อาจมีคุณค่ามากต่อธุรกิจของคุณ”

6) ว่าด้วยการพูดเกินจริง “กุญแจสำคัญของหนทางที่ผมส่งเสริมคือการวางโต ผมเล่นกับความคิดฝันของผู้คน ผู้คนมักไม่ค่อยคิดถึงเรื่องใหญ่ๆ ด้วยตนเอง แต่เขาจะรู้สึกตื่นเต้นกับผู้ทำเช่นนั้น ดังนั้น การพูดโอ้อวดจึงไม่เคยทำร้าย ผู้คนต้องการเชื่อว่ามีบางสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด ผมเรียกว่าการโอ้อวดบนความจริง เป็นวิธีพูดเกินจริง ที่แสนซื่อ และเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริม (ตนเองและธุรกิจ)”

7) ว่าด้วยการโต้กลับ “(เมื่อ) มีคนมาปฏิบัติต่อผมอย่างไม่ดีหรือไม่เป็นธรรม หรือจะหาประโยชน์จากผม หรือต่อท่าทีของผม ชีวิตของผมเอง ผมจะต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์ แต่นี่ก่อความเสี่ยงที่จะทำให้เรื่องเลวร้ายลงไปใหญ่ ผมจึงไม่แนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่จากประสบการณ์ของผม หากคุณต่อสู้เพื่อสิ่งที่คุณเชื่อ-แม้ว่ามันอาจทำให้บางคนรู้สึกแปลกแยกไปบ้าง-แต่ลงท้ายเรื่องก็จะต้องจบลงในสิ่งที่ดีที่สุด”

8) ว่าด้วยผล “คุณไม่อาจลวงคนได้ อย่างน้อยที่สุดในระยะยาวคุณอาจจะสร้างความตื่นเต้น คุณอาจส่งเสริมอย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นข่าวใหญ่ คุณอาจพูดโอ้อวดบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าหากคุณไม่สร้างผลที่จับต้องได้ ผู้คนก็จะรู้ทันคุณในที่สุด” 9) ว่าด้วยการแข่งขัน “ผมเป็นคนแรกที่ยอมรับว่าผมเป็นนักแข่งขันดุเดือด และผมจะทำอะไรทุกอย่างภายใต้กฎหมายเพื่อให้ได้รับชัยชนะ บางครั้งในการทำข้อตกลงทำให้ต้องลดการแข่งขันลง”

นโยบายเอาชนะโดยการข่มขวัญคู่แข่งอาจได้ผลในชีวิตส่วนตัวของทรัมป์ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลดีบนเวทีโลก เพราะผู้นำรัสเซียและจีนย่อมไม่ยอมให้ทรัมป์ข่มขวัญลงง่ายๆ (ดูหัวข้อ Trump Doctrine ใน globalsecurity.org มกราคม 2017)

ถ้าหากยกเรื่องตึงตังโครมครามน่าหวาดเสียวของลัทธิทรัมป์ออกแล้ว จะพบข้อเท็จจริงว่าลัทธิทรัมป์เกิดจากความเสื่อมถอย ไม่ใช่ความเข้มแข็งของสหรัฐ เป็นความพยายามอีกครั้ง (เป็นครั้งสุดท้ายหรือใกล้สุดท้าย) เพื่อฟื้นความยิ่งใหญ่และเยาวภาพของประเทศ

คำถามใหญ่ที่ควรตั้งเกี่ยวกับลัทธิทรัมป์จึงมีว่า ลัทธินี้จะสามารถแก้ความแตกแยกภายในสหรัฐได้หรือไม่ จะสามารถแก้ปัญหาความเสื่อมถอยของสหรัฐได้แท้จริงเพียงใด และมันเป็นพลังแห่งสันติภาพ หรือยิ่งเร่งให้เกิดสงคราม

ในฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้