ฐากูร บุนปาน | ถ้าคิดอะไรไม่ออก ตั้งหน้าตั้งตาจะแจกเงินกันอย่างเดียวก็แจกให้ตรงเป้าเถอะ

เรื่องเก่าขุดมาเล่าใหม่

เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 เขียนครั้งแรกเมื่อ 2558 แล้วมาเขียน 2559 ซ้ำอีกที

ปรากฏว่าถึง 2562 ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน

ขออนุญาตจัดไปอีกรอบ

ว่าถ้าไหนๆ คิดอะไรไม่ออก ตั้งหน้าตั้งตาจะแจกเงินกันอย่างเดียว (ซึ่งทำมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน)

แจกตรงไหนถึงจะตรงเป้าตรงกับความต้องการของชาวบ้านมากที่สุด

ผลวิจัยของเอ็มไอที หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลก ในเรื่องผลของโครงการประชานิยมใน 7 ประเทศพบว่า

1. คนจนทั่วไปรับเงินแล้วไม่ได้งอมืองอเท้า

แต่ยังทำงานเท่าเดิม (หรือถ้าเศรษฐกิจแย่อาจจะต้องหนักกว่าเดิม)

2. เงินที่ได้จากรัฐ ไปใช้จ่ายในสองเรื่องหลักคือ

– การศึกษาของบุตรหลาน

– สาธารณสุข

ในเมืองไทย โครงการ 30 บาททุกโรคนั้นติดอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ถ้าจะทำให้ดีขึ้นอีก เอาเข้าจริงทำไม่ยาก

และใช้สตางค์น้อย

แต่ใช้สติและความมุ่งมั่นมากๆ (โดยเฉพาะการปรับความเคยชินของคนในระบบสาธารณสุขบางส่วน)

มาถึงการศึกษาของบุตรหลาน เอาเข้าจริงก็ไม่ต้องทุ่มเงินมหาศาลเติมลงไปอีกเช่นกัน

แต่ทำให้โครงการ “เรียนฟรี” มันฟรีจริงๆ

หรือต้องคิดนอกกรอบกันบ้าง

เช่น จำเป็นหรือไม่ที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปรวมกันเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ในนามของการลด “ต้นทุน” ของภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงไหม)

เพราะการลดต้นทุนของรัฐครั้งนี้ ไป “เพิ่มต้นทุน” ของชาวบ้านมากขึ้น

ตั้งแต่เวลา ค่าเดินทาง และความสะดวกอื่นๆ ในชีวิต

มีทางอื่นไหมที่จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็ก

เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยอะไรได้หรือไม่

หรือจะปฏิรูปกระทรวงศึกษาฯ จริงๆ

ด้วยการยุบโครงสร้างธุรการที่ใหญ่โตเทอะทะ แล้วเอาคนกลับไปเป็นครูเพิ่มขึ้นดีไหม

เรื่องเหล่านี้ทำได้โดยใช้เงินไม่มาก

แต่ใช้สติปัญญา ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเป็นหลัก

และถ้าทำได้ (ไม่ต้องถึงขั้นอุดมคติ เอาแค่ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

ต้นทุนชีวิตของชาวบ้านก็ลดลงไปอีกพะเรอ

คำถามคือกล้าทำและทำเป็นไหม

แล้วก็มาถึงว่า เมื่อประหยัดเงินบางส่วน (รวมทั้งที่ไปซื้ออาวุธแบบผิดกาลเทศะอีกหลายหมื่นหลายแสนล้าน) ได้แล้ว

แต่เศรษฐกิจโลกและโครงสร้างเศรษฐกิจภายในไม่เป็นใจ

ยังจะต้องแจกเงินต่อไป-จะแจกตรงไหน

ตรงนี้ขออนุญาตเห็นด้วยกับประเด็น 3 สูงของเจ้าสัวธนินท์เขาอีกหน

ราคาสินค้าเกษตรสูง/ค่าแรง (ทั้งเอกชนและราชการสูง)/ประสิทธิภาพการทำงานสูง (จากเทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสม)

เพราะ 3 สูงนี้ไม่ใช่ของใหม่

ปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ในศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะในอังกฤษเป็นที่แรก ก็ด้วยปัจจัย 3 สูงนี้

ใครสงสัยหรืออยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม ไปหาหนังสือ “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก” ของสำนักพิมพ์สเคปบุ๊คมาลองอ่านดูนะครับ

ในหนังสือเล่มที่ว่านี้ เขาชี้ประเด็นให้เห็นด้วยว่า

ไม่เคยมีประเทศไหนสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน หรือก้าวกระโดดในการพัฒนาได้ ด้วยการกดค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้าให้ต่ำ

ยิ่งกด มีแต่ยิ่งถอยหลังเข้าคลอง

กลายเป็นประเทศด้อยพัฒนา

ที่เขียนทั้งหมดมายาวยืดนี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ

แค่อยากจะบอกว่า การแจกเงินแบบหว่านให้คนออกมาใช้จ่ายหรือเป็นหนี้มากขึ้นนั้น

ไม่ได้ผล

เพราะถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เศรษฐกิจไทยคงรุ่งเรืองมาหลายปีแล้ว

อยากจะให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต้องทำให้คนส่วนใหญ่มี “รายได้” มากขึ้น

ไม่ใช่มี “หนี้” มากขึ้น

หรือโปรยทานให้จับจ่ายใช้สอยอย่าง “หัวแหลกหัวแตก” มากขึ้น

คําถามคือจะเพิ่มรายได้เกษตรกรและคนจน-คนชั้นกลางระดับล่างในเมืองอย่างไร

อันนี้ได้ว่ากันยาวๆ อีกเรื่อง

แต่ที่แน่ๆ คือ “ทัศนคติ-วิธีปฏิบัติแบบทหาร” ที่เที่ยวไป (ถือปืน) สั่งชาวบ้านห้ามทำนาปรัง หรือใช้อำนาจไล่คนหาเช้ากินค่ำออกจากถนน-ข้างทาง โดยไม่มีอะไรรองรับว่าเขาจะทำมาหากินอย่างไรต่อไป

สร้างโอกาสหรือพัฒนาอะไรขึ้นมาไม่ได้หรอกครับ

จะเปลี่ยนทัศนคติหรือเปลี่ยนรัฐบาล

อันนั้นก็ว่ากันอีกเรื่องเช่นเดียวกัน