โละโครงสร้าง ศธ.-ล้ม 5 แท่ง ทางรอดการศึกษาไทย???

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

กลายเป็นกระแสให้สังคมจับตามอง หลัง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาระบุชัดเจนว่า ปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นได้ต้องล้มระบบแท่ง และให้คนนอก คณะกรรมการอิสระมากำหนดทิศทาง จากนั้นจึงค่อยคิดถึงหน่วยงานและการเชื่อมโยง

ในแบบที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างเช่นปัจจุบัน!!!

สิ่งที่ กรธ. คาดหวังว่าจะเกิดกับการปฏิรูปการศึกษา คือ สอนเด็กให้มีความรู้เบื้องต้นเท่านั้น แล้วสอนให้เด็กใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต

ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ และการปฏิรูปจะต้องไม่ใช้คนในวงการศึกษาล้วนๆ

เพราะคนในวงการศึกษากลับออกจากกรอบไม่ได้ ต้องให้คนนอกที่สนใจการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อจะได้มองทะลุ

การปรับโครงสร้างคงต้องเริ่มคิดใหม่ ซึ่ง ศธ. จะมีซี 11 กี่คนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายเอง การรวมเป็นหนึ่งจะทำให้การศึกษาพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

 

เหตุผลข้างต้นชัดเจนว่า โครงสร้าง ศธ. เป็นปัญหาใหญ่ ฉุดรั้งการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาประเทศ ซึ่งคนนอก และคนใน ศธ. เองต่างมีความเห็นค่อนข้างสอดคล้องกันว่า ต้องเร่งแก้ไข…

โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยอมรับว่า จากที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนมาจากหลายภาคส่วน ต่างก็เห็นว่าการบริหารจัดการในลักษณะ 5 องค์กรหลักของ ศธ. นั้นยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควร ซึ่งในอนาคตก็อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่

อย่างไรก็ตาม ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดว่าหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้มีคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา

ดังนั้น การปรับโครงสร้าง ศธ. ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดนี้ว่าจะกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการให้ออกมาในรูปแบบใด และตนยังเห็นด้วยกับนายมีชัย ที่ว่าการปฏิรูปการศึกษาควรให้คนนอกมาช่วยมอง เพราะหากใช้แค่คนในก็อาจจะมีมุมมองเดิมๆ

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. เห็นว่า หากมีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการของ ศธ. สิ่งที่ควรเน้นคือการกระจายอำนาจไปสู่ระดับภูมิภาค จังหวัด และสถานศึกษาเป็นหลัก ส่วนจะมีกี่องค์กรหลักใน ศธ. นั้น ไม่ใช่ปัญหา แต่ควรที่จะให้แต่ละองค์กรใน ศธ. มีความเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างคล่องตัว และต้องสร้างกลไกที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้ เพื่อให้การบริหารงานราชการแผ่นดินสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

 

ขณะที่นักวิชาการอย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นสอดคล้องกันว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้าง ศธ. ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการสลายแท่งองค์กรหลักทั้ง 5 องค์กร ให้เหลือไม่เกิน 6-7 กรม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

จากเดิมที่การตัดสินใจนโยบายต่างๆ จะเป็นอำนาจของแต่ละแท่ง ทำให้การจัดการศึกษาขาดความเชื่อมโยง อีกทั้งการกระจายอำนาจลงไปที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้ในทางปฏิบัติค่อนข้างมีปัญหา เพราะโรงเรียนเองก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอะไร อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า เรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติต้องกล้าตัดสินใจฟันธง กล้ายุบ ไม่ใช่เอาจริงเพียงครึ่งเดียว ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้าง และการแยกกระทรวงการอุดมศึกษา ออกจาก ศธ. ไม่ใช่บอกเพียงว่า รอคณะกรรมการอิสระ หรือเป็นเพียงเตรียมการไว้เพื่อรอรัฐบาลต่อไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

ซึ่งการปรับโครงสร้าง ศธ. มีส่วนสำคัญครึ่งหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา

 

ปิดท้ายด้วย นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บอกไว้อย่างน่าคิดว่า แม้การปรับโครงสร้างจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา

แต่การยุบแท่งหรือสำนักต่างๆ ใน ศธ. ยังไม่เป็นคำตอบว่าจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ

อย่าลืมว่าที่ยุบกรมมาเป็นแท่งก็อ้างว่างานไม่บูรณาการ หัวมังกุท้ายมังกร เพราะมีองค์ชาย 14 เป็นเจ้ากรมต่างคนต่างใหญ่ในกรม และพอจะยุบแท่งก็บอกว่าภาพรวมไม่เชื่อมโยงไปยังเด็กก็คือไม่บูรณาการ ต่างคนต่างมีอาณาจักร เป็นจักรพรรดิมันกลับไปกลับมา

ส่วนตัวเห็นว่า การยุบหรือไม่ยุบแท่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญคือต้องออกแบบให้หน่วยปฏิบัติ คือโรงเรียนให้มีอำนาจในการบริหารจัดการมากที่สุด

ลดภารกิจอื่นๆ ของครูลง ให้ส่วนกลาง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ทำหน้าที่และมีบทบาทด้านนโยบาย สนับสนุน กำกับติดตามโรงเรียน

ส่วนการเสนอให้คนนอกที่ไม่ใช่คนในวงการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปนั้น ส่วนตนคิดว่าไม่ควรปิดกั้นทั้งคนในและคนนอก

ต้องยอมรับว่าคนในที่เป็นคนเล่นเองมักจะชอบคิดในกรอบมองไม่ทะลุแต่มีความรู้ความเข้าใจบริบทองค์กรดี ขณะที่คนนอกจะมีปัญหาการไม่เข้าใจบริบท ต้องเปิดกว้างให้ทุกๆ ฝ่าย และเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ประธานคณะทำงานไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ และมีความคิดนอกกรอบ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเป็นอย่างดี

 

จากนี้ต้องจับตามองว่า นพ.ธีระเกียรติ ในฐานะผู้กุมบังเหียนหลัก ศธ. จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่ออย่างไร???

ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยผู้รู้ ทั้งคนใน ศธ. และคนนอก มาระดมความคิดเห็น

และหากได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้าง ศธ. เพื่อให้การศึกษาเดินไปข้างหน้าจริง ระหว่างทาง ต้องคิดเผื่อว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ไม่ใช่เริ่มนับหนึ่งใหม่ เหมือนที่ผ่านมา…