วิเคราะห์ผลสะท้อน หลังเหตุการณ์ที่ลำพะยา

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ในฉบับที่ผ่านมา ผู้เขียนเขียนในหัวข้อ “ไฟใต้ : การแก้ปัญหาหลังความสูญเสียที่ลำพะยา” โปรดดูใน https://www.matichonweekly.com/special-report/article_247356

ส่วนฉบับนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงผลที่มาตรการของรัฐหลังเหตุการณ์

ซึ่งมีประเด็นดังต่อไปนี้

เหตุที่ลำพะยายิ่งทำให้ประชาสังคมพุทธ-มุสลิมจับมือมากขึ้น

หากเราจับกระแสจะพบว่า จากเหตุที่คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านทุ่งสะเดาและชุดคุ้มครองตำบลลำพะยา จ.ยะลา ในช่วงกลางดึกวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 พบว่า

“มีภาพที่สอดคล้องกันว่ามีทั้งแสดงความเสียใจและประณามจากผู้คนส่วนใหญ่แม้กระทั่งนักการเมือง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนที่เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งจากสำนักจุฬาราชมนตรี”

ในขณะเดียวกันสภาประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่นเตรียมแสดงจุดยืนไม่เอาความรุนแรงแสดงผ่านงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปตานี 2019 ในหัวข้อสันติภาพ การพัฒนาและความยุติธรรม ซึ่งจะจัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะพาขึ้นเสนอที่เวทีส่วนกลาง 19-20 ธันวาคม 2562

สำหรับหัวข้อสันติภาพ การพัฒนาและความยุติธรรมนั้นจะได้พิจารณาเรื่องสันติภาพ การพัฒนาและความยุติธรรม ในสี่คำ ตระหนัก กังวล ชื่นชม และรับทราบ กล่าวคือ

ตระหนัก ว่าการสร้างประเด็นปัญหานโยบาย (Problematic) ในแบบใหม่ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการกำหนดประเด็นปัญหาและนำไปสู่วาระเชิงนโยบายสาธารณะที่ก้าวหน้า จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน มากกว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงหรือชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว

กังวล ต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีความรุนแรงอย่างชัดเจนในปี พ.ศ.2547 และมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ.2562 นับเป็นเวลาได้ 16 ปีแล้ว ปัญหาที่ทำให้เหตุการณ์ขยายตัวลุกลามมาจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะพิเศษที่ในทางวิชาการเรียกว่าความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ (Identity Conflict)

ชื่นชม ว่าท่ามกลางการเกิดพลวัตของความขัดแย้งแต่ก็ยังเกิดกลุ่มพลังทางสังคมหลายกลุ่ม ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคการเมืองและภาครัฐ ที่ร่วมดำเนินการเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งก็ส่งผลให้ระดับความรุนแรงจำกัดตัวในระดับหนึ่ง

รับทราบ ว่าสาเหตุหลักที่เป็นรากเหง้าปัญหาก็คือ ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ คนมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์มลายู มุสลิม และปาตานี โดยสำนึกทางประวัติศาสตร์

แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ในสังคมหลากหลายทางวัฒนธรรมได้

อีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งกับรัฐในอดีตก็ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบันด้วย เนื่องจากในอดีตรัฐไทยพยายามเปลี่ยนรัฐปาตานีเก่าให้มีโครงสร้างทางการเมือง ระบบการศึกษา ระบบกฎหมาย วัฒนธรรมและภาษาให้เป็นแบบไทยอย่างเข้มข้นภายใต้นโยบายที่เรียกว่าการผสมกลมกลืน (Assimilation)

และเกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหลายอย่างจากเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมทำให้เกิดขบวนการการต่อต้านทั้งที่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้ความรุนแรง

มติเห็นว่า ปัญหาความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จะได้รับการแก้ไข ต้องอาศัยการสร้างพื้นที่กลาง (Common Space) โดยภาคประชาชนจากทุกฝ่าย สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่

โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมด้วยการใช้ประเด็นสาธารณะเป็นตัวตั้งในการดำเนินการ เป็นกระบวนการที่มีความสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน

ระมัดระวัง การบุกตรวจค้นยุทธการชิงมวลชนเหตุจากลำพะยา

หลังจากรัฐมีความชอบธรรม และคงต้องทำหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย ในการเข้าจัดการเข้าหาคนร้ายที่บุกถล่ม ชรบ. 15 ศพ ที่ลำพะยา จ.ยะลา พบว่ากระแสทุกภาคส่วนให้รัฐค้นหาความจริง เอาคนร้ายมาลงโทษให้ได้

แต่ก็มีเสียงติงมากมายเช่นกันให้ระมัดระวังในการใช้มาตรการเข้มที่หน่วย ผู้ปฏิบัติการบางส่วนอาจใช้อำนาจหรือขอบเขตในระหว่างปฏิบัติการ

ยิ่งบทสัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ.ว่าจะกวาดล้างกลุ่มขบวนการให้สิ้นซากนั้น ถ้าทำได้จริงและส่งผลเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน

แต่ประชาชนและหลายฝ่ายก็ห่วงใยต่อความละเอียดอ่อนทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา อาจทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่พลาดพลั้ง หรือเกิดความผิดพลาดได้ อาจยิ่งซ้ำเติม ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง (หากจำได้ คงจำบทสัมภาษณ์อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่จะปราบโจรใต้ภายในไม่กี่เดือน)

อย่างน้อยสองเหตุการณ์หลักสำหรับคนในพื้นที่ทราบดีว่า ส่วนหนึ่งต้องระวังสงครามแย่งชิงมวลชน และรัฐอาจเสียมวลชน

หนึ่งเรื่องผ้าพันแผลคุณยายเป็นโรคมะเร็งกับการบุกตรวจค้นปอเนาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลาแล้วจับอุสตาซกล่าวหาผ้าเปื้อนเลือดมี DNA ผู้ร้าย

สุดท้ายทั้งสองเหตุการณ์ไม่ใช่ตามที่รัฐกล่าวหา และประธานกรรมการอิสลามจังหวัดยะลาเปิดแถลงข่าวให้รัฐออกมารับผิดชอบจากสองเหตุการณ์นี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐกำลังเสียมวลชนอย่างหนักหากผู้นำประเทศไม่รีบออกมาเคลียร์อาจจะทำให้ไฟใต้ยิ่งบานปลาย

ล่าสุดเหตุการณ์ปิดล้อม-ยิงปะทะกันอย่างดุเดือดเมื่อค่ำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จบลงด้วยการเสียชีวิตของกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัย 2 คน

โดย 1 ใน 2 ของผู้เสียชีวิตคือ นายซอบรี หลำโสะ ซึ่งข้อมูลจากแฟ้มประวัติของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เขาคือมือปฏิบัติการของขบวนการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งมีประวัติการก่อคดียาวเป็นหางว่าว

ในขณะที่ชาวบ้าน ญาติๆ เข้าร่วมแห่ศพเขาอย่างวีรบุรุษ และมีการตะโกนเสียง อัลลอฮุอักบัร หรือพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ดังรอบหมู่บ้านก่อนฝังศพ ณ กูโบ (สุสาน) มัสยิดกอหลำ ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

ซึ่งนักวิชาการด้านปัญหาชายแดนใต้มองว่า อย่านึกว่ารัฐกำลังได้เปรียบด้านมวลชน ที่สามารถจัดการเด็ดชีพศัตรูที่ตามหามานานได้ในปฏิบัติการครั้งนี้

เพราะนอกจากนี้ ข่าวเชิงลึกมีผู้ที่โดนจับที่ไม่เป็นข่าวนับร้อยคน รวมทั้งนักข่าวและนักเคลื่อนไหวประชาสังคม Wartani เมื่อค่ำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ที่ร้านกาแฟสดในพื้นที่ตลาดเก่า จำนวน 6 คน แม้ท้ายสุดจะได้ปล่อยตัวไป

จากการพูดคุยเชิงลึกกับผู้นำชุมชนในพื้นที่พบว่า “กระแสความไม่พอใจของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างวงกว้างครั้งนี้มีมากเกิน ซึ่งก็ไม่มีใครกล้าออกมาโวยเพราะกลัวกระแสสังคม เรื่อง ชรบ. 15 ศพ”

ช่องทางรัฐสภา

แม้มาตรการรัฐผ่านหน่วยความมั่นคงจะเดินอยู่ โดยเฉพาะตรวจ DNA แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำงานทนายความความช่วยเหลือประชาชนมาตลอดไฟใต้ 15 ปี แต่อยู่ฝั่งรัฐบาลอย่างทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้

โดยได้นำเรื่องนี้ปรึกษาหารือในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา

เพราะทราบดีว่ามาตรการของหน่วยความมั่นคงดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียมวลชนและละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้อาจจะถูกทัดทานลึกๆ ในใจจากผู้ใหญ่ในพรรครัฐบาลบางคน

โดยทนายอาดิลันเปิดเผยว่า “การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ส่งผลให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

หนึ่งในประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและสร้างความห่วงกังวลต่อพี่น้องประชาชน คือการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจค้นและเก็บสารพันธุกรรม (DNA) จากประชาชน

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสนธิกำลังเข้าตรวจค้นและเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และมีการตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลตาเซะ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562

กรณีปัญหาการตรวจเก็บดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งผลการดำเนินการตามข้อหารือคือ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ได้มีหนังสือแจ้งมาว่า

“…แนวทางการปฏิบัติการตรวจเก็บดีเอ็นเอ (DNA) กรณีผู้ถูกตรวจเก็บเป็นผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัย ต้องอยู่ในอำนาจการดูแลของพนักงานสอบสวน และต้องให้มีความยินยอม การให้ไปตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ (DNA) ในที่เกิดเหตุหรือบุคคล ผู้ร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่สืบสวนจะต้องเป็นผู้ประสานในเรื่องความยินยอมให้เข้าตรวจหรือเก็บดีเอ็นเอ (DNA) จากบุคคลหรือต้องมีหมายค้นตามข้อกฎหมายและระเบียบจึงจะดำเนินการได้…”

ดังนั้น เพื่อให้ลดความกังวลของพี่น้องประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ หากต้องมีการตรวจเก็บดีเอ็นเอ (DNA) ขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบและสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นต่างคือแนวทางสู่สันติภาพ

วันพฤหัสบดี-ศุกร์ที่ 21-22 พฤศจิกายน 2562 ผู้เขียนได้เข้าร่วมสัมมนานานาชาติ (Tolerance and Coexistance Forum 2.0) ณ โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร

ซึ่งการเสวนาพูดคุยในครั้งนี้มุ่งส่งเสริมการแสดงออกอย่างสันติบนไซเบอร์ และพัฒนาศักยภาพในการส่งเสริมการเปิดใจรับฟัง อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นต่าง การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างสันติ

และร่วมต่อต้านความรุนแรงและข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์

เวทีสัมมนาครั้งมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า Fake News และ Hate Speech เป็นมหันตภัยร้าย สร้างความเกลียดชังทั้งสังคมไทยและโลก

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาหนึ่งคือ การทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกเพื่อสร้างสังคมสันติภาพ (Interreligious Dialogue for Peace Society) โดยเน้นเฝ้าระวัง ติดตาม และรับมือกับปัญหาคำพูดแห่งความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ (Hate Speech) และข้อมูลเท็จ (Disinformation)

สอง การสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรในระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันในการผลักดันประเด็นที่แต่ละองค์กรกำลังผลักดันอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สาม การเรียนรู้ทักษะทางการสื่อสารและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากประสบการณ์ขององค์กรสื่อและเทคโนโลยีเพื่อสังคมจากนานาประเทศ

หวังว่าความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นต่างและใช้วิทยปัญญาร่วมแก้ปัญหาภายใต้หลักกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียม เป็นธรรม มาตรฐานสากล โปร่งใสและตรวจสอบได้ ก็จะทำให้มาตรการรัฐหลังเหตุการณ์ลำพะยาจะไม่ยิ่งก่อไฟกองใหม่ให้ลุกกว่าเดิม