ต่างประเทศ : บูเกนวิลล์ โอกาสสู่ประเทศใหม่ของโลก

หมู่เกาะที่เวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศปาปัวนิวกินี ประเทศทางตะวันออกของจังหวัดปาปัว ประเทศอินโดนีเซีย กำลังจะมีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชน 207,000 คนบนเกาะ ตัดสินใจว่าต้องการเป็นอิสระจากปาปัวนิวกินีหรือไม่ ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคมนี้

แม้ผู้สังเกตการณ์จะคาดกันว่าประชาชนราว 3 ใน 4 เลือกที่จะเป็นประเทศอิสระ แต่การลงคะแนนเสียงนั้นดูเหมือนจะเป็นแค่ก้าวเล็กๆ ก้าวแรกเท่านั้น

ในประวัติศาสตร์ ชื่อของ “เกาะบูเกนวิลล์” แห่งนี้ ตั้งขึ้นตามชื่อของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 ก่อนที่เกาะแห่งนี้จะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมเยอรมนีภายใต้ “เยอรมันนิวกินี” ในช่วงสิ้นสุดทศวรรษที่ 19

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ออสเตรเลียเข้ามาปกครอง “ปาปัวนิวกินี” จนกระทั่งถึงปี 1975 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีญี่ปุ่นเข้ามาปกครองเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้ในสงคราม

ปาปัวนิวกินีได้รับอิสรภาพจากออสเตรเลียในปี 1975 ขณะที่เกาะบูเกนวิลล์ก็กลายไปเป็นจังหวัดหนึ่งของปาปัวนิวกินี

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่เท่าไรนัก

 

ตามข้อเท็จจริงแล้ว บูเกนวิลล์ประกาศอิสรภาพก่อนที่ปาปัวนิวกินีจะตั้งเป็นประเทศขึ้นไม่นานนัก ในความพยายามเพื่อก่อตั้ง “สาธารณรัฐแห่งโซโลมอนเหนือ”

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวถูกเมินเฉยจากทั้งออสเตรเลียและปาปัวนิวกินี

การประกาศอิสรภาพดังกล่าวเป็นการประกาศให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาวบูเกนเวลล์ ที่พัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ผลจากการถูกเหยียดผิวและการถูกใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อัตลักษณ์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของชาวบูเกนวิลล์ ก็คือสีผิวที่เข้มมากกว่าชาวปาปัวนิวกินีส่วนใหญ่ จนได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่มีผิวสีเข้มที่สุดชนเผ่าหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

หลังจากล้มเหลวกับการประกาศอิสรภาพ ความไม่พอใจกับการอยู่ใต้ปกครองของปาปัวนิวกินีมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแบ่งแยกดินแดนในปี 1988

ความรุนแรงที่กินระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี มีผู้เสียชีวิตราว 4,000 ถึง 20,000 คน หรือคิดเป็น 3-13 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรบูเกนวิลล์เลยทีเดียว

ความรุนแรงสิ้นสุดลงในปี 1997 โดยมีคนกลางจากนานาชาติ และผลการเจรจาดังกล่าวนำมาซึ่ง “ข้อตกลงสันติภาพบูเกนวิลล์” (บีพีเอ) การตั้งรัฐบาลบูเกนวิลล์ปกครองตนเองเป็นครั้งแรกในปี 2005 และคำมั่นในการจัดให้มีการลงประชามติซึ่งไม่มีผลผูกพันที่กำลังมีขึ้นในเวลานี้

บัตรลงคะแนนเสียงในการลงประชามติมีหัวข้อให้เลือก 2 หัวข้อด้วยกันก็คือ

1. การได้รับสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้น

หรือ 2. การแยกตัวเป็นประเทศอิสระ

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในพื้นที่เชื่อว่า แม้จะคาดหมายกันว่าคะแนนส่วนใหญ่จะเทไปที่การแยกตัวเป็นอิสระ ในการลงประชามติครั้งนี้อาจมีผลแตกต่างกันใน 3 กรณีด้วยกันคือ

1. หากประชาชนโหวตให้สิทธิในการปกครองตนเอง บูเกนวิลล์จะยังคงอยู่กับปาปัวนิวกินีต่อไป และจะมีการหารือถึงรายละเอียดระหว่างกันต่อไป

2. หากประชาชนลงคะแนนให้แยกตัวเป็นอิสระ และปาปัวนิวกินียอมรับผลการลงประชามติ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศปกครองตนเองต่อไป

3. หากประชาชนลงคะแนนให้แยกตัวเป็นอิสระ แต่ปาปัวนิวกินีไม่ยอมรับผลการลงประชามติ หรือพยายามทำให้ขั้นตอนต่อไปล่าช้าลง

นั่นหมายถึงการก้าวไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ในประเทศ

 

มองไปที่ปาปัวนิวกินี ดูจะไม่ยอมรับให้มีการลงประชามติในครั้งนี้เท่าใดนัก โดยเฉพาะรัฐบาลกลางที่ตัดงบฯ สำหรับใช้ในกระบวนการประชามติลง แสดงให้เห็นว่าปาปัวนิวกินีนั้นต้องการให้บูเกนวิลล์อยู่เป็นส่วนหนึ่งของปาปัวนิวกินีต่อไป

เหตุผลที่ปาปัวนิวกินีต้องการให้บูเกนวิลล์เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งมีหลายเหตุผล หนึ่ง เพราะบูเกนวิลล์เป็นเกาะที่มีทรัพยากรอยู่มหาศาล โดยเฉพาะช่วงก่อนสงคราม บูเกนวิลล์เป็นจังหวัดที่ร่ำรวยมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในฐานะพื้นที่ทำเหมืองทองแดง และทองคำที่สำคัญของประเทศ

สอง ปาปัวนิวกินีมองว่า หากบูเกนวิลล์แยกตัวเป็นอิสระอาจส่งผลให้อีกกว่า 20 จังหวัดในประเทศเรียกร้องขออำนาจปกครองตนเองมากขึ้น หรือแม้แต่การแบ่งแยกดินแดนตามมาได้

ทั้งนี้ หากบูเกนวิลล์สามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่น้อยกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่กว่าประเทศ “ไซปรัส” และเล็กกว่า “เลบานอน” เล็กน้อย และจะเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง

นอกจากนี้ บูเกนวิลล์จะเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตทองแดงที่สำคัญอย่างที่เคยเป็นในช่วงการปกครองของออสเตรเลียในช่วงทศวรรษที่ 60 ก่อนที่สงครามจะทำให้การผลิตทองแดงหยุดชะงักไป

อย่างไรก็ตาม การสร้างรายได้ในประเทศที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องขบคิด เมื่อ “สถาบันโลวี” หน่วยงานคลังสมองของออสเตรเลียวิเคราะห์ว่าเวลานี้รัฐบาลบูเกนวิลล์สร้างรายได้ที่จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้เพียง 56 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

สําหรับท่าทีของชาติเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยอย่างออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้มอบเงินช่วยเหลือรายใหญ่ของบูเกนวิลล์ และมีส่วนช่วยในการเจรจาสันติภาพกับปาปัวนิวกินีเองก็ระบุว่า ออสเตรเลียยอมรับ “ผลการเจรจาเพื่อแก้ปัญหา” ทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม ชาวบูเกนวิลล์มองว่าออสเตรเลียนั้นมีท่าทีคัดค้านกับการลงประชามติดังกล่าว

ด้านสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงจีนเองนั้นก็กำลังจับตาสถานการณ์ในบูเกนวิลล์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจีนนั้น ได้มีการส่งตัวแทนลงพื้นที่เพื่อศึกษาช่องทางการลงทุนในบูเกนวิลล์ ในจำนวนนั้นคือแผนการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ ส่วนหนึ่งของนโยบายในการสร้างอิทธิพลในพื้นที่หมู่เกาะในแปซิฟิกแห่งนี้

ขณะที่สหรัฐเอง รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ก็ได้มีส่วนในการให้งบประมาณในการจัดการลงประชามติในบูเกนวิลล์ด้วยเช่นกัน

ผลการลงมติจะเป็นเช่นไร จะสามารถนำไปสู่การเกิดประเทศใหม่อีกประเทศหรือไม่ คงต้องรอดูกันในเดือนธันวาคมนี้