วิเคราะห์ : โลกเตือนหายนะอะไร กำลังมาในอีก 10 ปี ข้างหน้า?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เว็บไซต์บิสิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) หรือบีไอ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ด้านเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐ รวบรวมข้อมูลและความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ต่อปรากฏการณ์โลกร้อนที่คาดหมายว่า ถ้าหากชาวโลกไม่สามารถหั่นปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 โลกใบนี้จะเผชิญกับหายนะยิ่งกว่าที่ผ่านมา

พร้อมๆ กับเสียงเตือนว่า มีเวลาหลีกเลี่ยงหายนะเหลืออยู่แค่ 10 ปีเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเวิลด์ รีซอร์ส บอกกับบีไอว่า ระบบนิเวศน์ของโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลง ดูได้จากสถิติอุณหภูมิในพื้นที่ต่างๆ ความรุนแรงของพายุ และการละลายของหิมะในขั้วโลก

เมื่อเราไม่ทำอะไรให้ดีไปกว่านี้ โลกจะเปลี่ยนสภาพจนจำไม่ได้

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือไอพีซีซี ออกมาเตือนเป็นระยะๆ ว่าชาวโลกต้องร่วมมือควบคุมการปล่อยก๊าซพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ปรากฏว่าไม่มีชาติไหนลดได้ตามเป้า

ถ้าหากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 ํC ระบบนิเวศน์ของโลกจะพังทลาย เนื่องจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงจากฟอสซิลทำให้ก๊าซพิษลอยขึ้นไปสะสมบนชั้นบรรยากาศ ผนวกกับความร้อนของดวงอาทิตย์ ทำปฏิกิริยาเร่งให้โลกร้อนขึ้นอย่างรุนแรง น้ำแข็งบนขั้วโลกจะละลายอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันแผ่นน้ำแข็งปกคลุมบนเกาะกรีนแลนด์ละลายจนเห็นได้ชัด เมื่ออุณหภูมิโลกสูงมากกว่า 1.5 ํC เกาะกรีนแลนด์จะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกต่อไป

จากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก จะเกิดการยกระดับของน้ำทะเลสูงขึ้นราว 0.3-0.6 ฟุต

ส่งผลให้พื้นที่ริมชายฝั่งภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา มีระดับน้ำเฉลี่ยสูงเกือบ 10 นิ้วเมื่อเทียบกับปี 2463 คลื่นซัดเข้าหาชายฝั่งมีการยกตัวสูงขึ้นเป็น 2 เท่า น้ำทะเลทะลักเข้าสู่บ้านเรือน ถนนหนทางที่อยู่บริเวณชายฝั่งสร้างความเสียหายมากมาย

บางแห่งเกิดสภาพน้ำทะเลซัดเข้าฝั่งอย่างรุนแรงซ้ำๆ อย่างนี้มาเกือบ 20 ปี

คาดว่าภายใน 30 ปี ความถี่ของคลื่นซัดชายฝั่งอาจจะทะลุถึงปีละ 75 ครั้ง

ประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลไม่ว่าไทย เวียดนาม บังกลาเทศ อินโดนีเซีย หรือไนจีเรีย เจอกับปัญหาคลื่นซัดชายฝั่งสร้างความเสียหายให้กับชุมชนริมฝั่งเช่นกัน

 

อุณหภูมิผิวโลกสูง ผนวกกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ปริมาณน้ำทะเลที่มากขึ้นนี้จะทำให้การก่อตัวของพายุถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น

ให้นึกภาพการต้มน้ำในกระทะ ถ้าใส่น้ำในปริมาณน้อยๆ การเดือดพุ่งก็น้อย แต่ถ้าเพิ่มปริมาณน้ำลงไป การเดือดทะลักยิ่งเพิ่มมากขึ้น

พายุเฮอร์ริเคนโดเรียนที่เพิ่งซัดถล่มหมู่เกาะบาฮามา ในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีข้อสังเกตว่า ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเคลื่อนตัวช้าๆ กว่าจะเคลื่อนตัวพ้นเขตบาฮามาใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกันกระแสลมหมุนวนด้วยความเร็ว 295 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดึงน้ำทะเลขึ้นไปในปริมาณมหาศาลจนเกิดฝนตกหนัก ลมแรงจัด

ว่ากันว่าพายุเฮอร์ริเคนลูกหนึ่งอาจปลดปล่อยพลังงานในหนึ่งวันเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กถึง 500,000 ลูก

ลักษณะเช่นนี้จึงมีผลต่อพื้นที่ที่เส้นทางพายุพัดผ่านเกิดความเสียหายรุนแรงถึงขั้นหายนะ

 

ช่วงเวลา 70 ปีมานี้พายุเฮอร์ริเคนและพายุในเขตโซนร้อน เคลื่อนตัวช้าจากเดิมเฉลี่ยราว 10 เปอร์เซ็นต์

การก่อตัวในระดับรุนแรงและถี่บ่อย จะยิ่งสร้างความปั่นป่วนชาวโลกตั้งตัวรับมือไม่หวาดไม่ไหว

นักวิทยาศาสตร์อเมริกันประมวลผลการเกิดความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนเพิ่มขึ้นถึง 330% ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

เฉพาะพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ กระหน่ำรัฐเท็กซัส สหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2560 สร้างความเสียหายมากถึง 125,000 ล้านเหรียญ

หากย้อนไปในปี 2548 พายุเฮอร์ริเคนแคทรินาถล่มรัฐลุยเซียนา มีความเสียหายเกิดขึ้นราว 161,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ

เมื่อประมวลปริมาณน้ำฝนที่พายุเฮอร์ริเคนหอบมาและเทลงบริเวณพื้นที่ที่พัดผ่าน ในรอบ 60 ปีมานี้มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30%

หมายความว่า ระดับน้ำฝนที่ตกลงมาวัดได้ถึง 4 นิ้วต่อชั่วโมง

พายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นชัด เนื่องจากทำให้เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมาก ท่วมทะลักเมืองฮุสตัน ในรัฐเท็กซัส จมมิดทั้งเมือง

แนวโน้มการเกิดพายุที่มีระดับรุนแรงเป็นเรื่องที่ชาวโลกต้องเผชิญอย่างแน่นอน

 

องค์การอนามัยโลกทำนายว่า แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตเพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ราว 241,000 คนภายในปี 2573

ผู้คนจะเจ็บป่วยเพราะอากาศร้อนจัด คลื่นความร้อนมากขึ้น และภายในปี 2573 ชาวโลกเสียชีวิตจากฮีตเวฟปีละ 121,464 คน

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนมกราคมปีที่ผ่านมาเป็นประจักษ์พยานอย่างดี

ในเวลานั้น เคปทาวน์เจอกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ชาวเมืองเรียกภาวะนี้ว่า “เดย์ ซีโรส์” หมายถึงในท่อประปาไม่มีน้ำเหลือสักหยด รัฐบาลต้องออกคำสั่งควบคุมการใช้น้ำ

ผู้เชี่ยวชาญไอพีซีซี ฉายภาพอนาคตว่า ชาวโลกราว 8% จะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้อย่างรุนแรงในช่วงระหว่างปี 2564-2583

ความร้อนแล้งยังนำไปสู่ปัญหาไฟป่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกชี้ว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดไฟป่ามากขึ้นและนานขึ้น

ระหว่างปี 2527-2558 ไฟป่าทำลายชุมชนบ้านเรือนทรัพย์สินในสหรัฐเสียหายกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงรัฐเดียว ระหว่างปี 2514-2561 ไฟป่าเกิดขึ้นเป็น 5 เท่าตัว

ไฟป่ายังเกิดขึ้นในพื้นที่ขั้วโลกมากขึ้นกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น พื้นที่ขั้วโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งมีปริมาณลดลงจะมีผลต่อการไหลเวียนของกระแสลม

ระบบนิเวศน์ทางทะเลที่มีผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในช่วง 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ แหล่งปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูง เฉลี่ย 60% ของแหล่งปะการังทั่วโลกจะเกิดภาวะฟอกขาว

ปะการังเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ใต้ท้องทะเล เป็นห่วงโซ่อาหารของโลก ในแต่ละปีพื้นที่แหล่งปะการัง เพียง 25% ของโลก สามารถผลิตอาหาร สร้างรายได้ให้กับชาวโลกได้มากถึง 375,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าในการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ภายในปี 2573 แหล่งปะการังเกิดความเสียหายมากถึง 55% อุตสาหกรรมอาหารทางทะเลจะเกิดความเสียหายมากมหาศาล

ผู้คนริมชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบจากคลื่นซัดกระหน่ำ พายุถล่ม ในใจกลางประเทศเกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้งทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง อาหารทะเลขาดแคลนร่อยหรอ จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลก

ประเทศไหนไม่สามารถดูแลคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากภาวะทุกข์ยากแร้นแค้น ประเทศนั้นจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายตามมาอย่างแน่นอน