จัตวา กลิ่นสุนทร : คลังปัญญาแห่งถนนราชดำเนิน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

คนทำงานสื่อว่ากันว่าเป็นพวกที่มีอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” อย่างมั่นคง ต้องการความเป็นอิสระ มีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอความเคลื่อนไหวเป็นไปของบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” สื่อมวลชนริมถนนราชดำเนิน อายุยืนยาว (69 ปี) ภายใต้คาถา “พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่บนถนนหนังสือพิมพ์ ย่อมดำเนินไปแบบรุ่งเรืองจนถึง อ่อนล้าร่วงโรยบ้างเป็นปกติธรรมดา

นักเขียน นักข่าว บุคลากรด้านต่างๆ หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาหลากหลายรุ่น แต่ส่วนมากมักจะมีความคิดสอดคล้องต้องกัน จึงเข้ามาอยู่รวมในหนังสือพิมพ์แห่งนี้

แต่ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ มุ่งเน้นคุณภาพเรื่องความเป็นสื่อคุณภาพ เจาะลึกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลไร้ความสามารถขาดคุณธรรม

และมีส่วนเป็นอย่างมากในการพัฒนาการเมืองไทยในอดีต

 

ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สร้างผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกสิ่งอย่างรวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ขั้นตอนการผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่การหาข่าว เขียนคอลัมน์ จนกว่าจะถึงโรงพิมพ์ล้วนเพิ่มพูนในแนวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตมากขึ้น แต่รายรับยังเข้ามาทางเดียวจากการขายหนังสือพิมพ์ที่ราคาแทบไม่ได้ขยับขึ้นเลย

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ก่อตั้งขึ้นมาโดยนักหนังสือพิมพ์ จากเลือดเนื้อ ไม่ใส่ใจเรื่องธุรกิจนอกจากเรื่องการบ้านการเมือง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ท่าน อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่กรรม) ที่ศึกษาเล่าเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์มาจากต่างประเทศ

แต่ ณ เวลานั้นกลับไม่เคยเห็นท่านกังวลเรื่องธุรกิจกับหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เลย ท่านก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีสำหรับฟาดฟันต่อสู้กับ “เผด็จการทหาร” เป็นสนามรบกับเผด็จการ และพวกขี้ฉ้อแอบแฝงโกงกินแผ่นดิน หวังดีต่อประเทศชาติเพียงแค่ลมปาก

อย่างที่เคยสรุปกันในกลุ่มของชาวสยามรัฐมาเนิ่นนานแล้วว่า ท่านเอาสยามรัฐเป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อการปกครองตามระบอบ “ประชาธิปไตย”

ท่านคิดว่า “สยามรัฐเป็นของเล่น เป็นอาวุธของท่าน—“

 

แหล่งผลิตคนหนังสือพิมพ์สำนักงานริมถนนราชดำเนิน เป็นที่ยอมรับกันในวงการคนทำสื่อว่า ใครผ่านจากสำนักแห่งนี้สามารถทำงานหนังสือพิมพ์ได้ทั้งระบบ เนื่องจากทุกคนจะต้องเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่การนับหนึ่งก่อนจนถึงเสร็จสรรพออกมาเป็นหนังสือทั้งเล่ม/ฉบับ

ด้วยคนเขียนหนังสือรุ่นเก่าแรกๆ ซึ่งก็ต้องโยกย้ายเปลี่ยนไปอีกทั้งล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ แต่สยามรัฐไม่เคยขาดคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทนที่เสมอๆ ด้วยฝีมือ และ ความคิดไม่แตกต่างกับนโยบายเมื่อแรกก่อตั้ง

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ในปลายสมัยรัฐบาล “จอมพลถนอม กิตติขจร” ก่อนถึงเหตุการณ์ “วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516” ไม่แตกต่างกับสมัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 เพราะได้ถูกใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงบัลลังก์ของเผด็จการจนอยู่ไม่เป็นสุข พร้อมทั้งใช้เป็นสถาบันสั่งสอนอบรม “ประชาธิปไตย” อีกด้วย

หนังสือพิมพ์การเมืองฉบับนี้ในยุคสมัยต่อมาก็เปิดให้การต้อนรับคนรุ่นใหม่ที่ผ่าน คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิยาลัยมาหลายรุ่น และจากมหาวิยาลัยเอกชนหลายแห่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่เว้นวิทยาลัยครูทั้งหลาย ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏไปทั้งประเทศแล้วในทุกวันนี้

หนังสือพิมพ์แห่งนี้ได้สร้างนักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ นักข่าว กระทั่งนักการเมือง และหลายท่านได้กลายเป็นผู้มั่งมี เป็นเจ้าพ่อในวงการสื่อ และเป็นนักการเมือง รัฐมนตรี จนถึงนายกรัฐมนตรี และ ฯลฯ

 

เมื่อเวลาเดินทางของหนังสือพิมพ์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดของสถานที่ประกอบการของคนข่าว คนเขียนหนังสือ และทั้งระบบการผลิต จึงต้องดำเนินการเรื่องขาย “พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์” เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูกันให้เพียงพอ

ช่วงระยะเวลาที่หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้งขบวนต้องปรับใหญ่เพื่อหารายได้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากต้องมาจากยอดพิมพ์ของหนังสือแต่ละวัน ซึ่งมีความจำเป็นเป็นอย่างมากสำหรับ “สยามรัฐรายวัน” ที่จะต้องผลิตให้ออกมาทันเวลา เนื่องจากต้องพึ่งพาการขนส่ง การจัดจำหน่ายจากเครือข่ายอื่น

ในเวลาเดียวกัน “กองจัดการ” (ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เน้นมากนัก) จึงมีฝ่ายโฆษณาขึ้นมาเป็นครั้งแรกๆ เพื่อเสนอขายพื้นที่แก่บริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งเดิมทีดูเหมือนจะต้องเข้ามาหาเพื่อขอลงโฆษณาเอง แต่มันก็เป็นเพียงนานๆ ครั้ง

ระหว่างนั้นดูเหมือนว่า “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ซึ่งมีราคาหน้าปกเพียง 4 บาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 6 บาทในเวลาต่อมาจะมียอดจำหน่ายพอเลี้ยงตัวเองได้ทีเดียว

ที่กล้าพูดอย่างนี้เนื่องจากได้รับผิดชอบนิตยสารฉบับนี้อยู่โดยตรง

ผมพยายามเรียงลำดับเรื่องราวในแบบกว้างๆ ไม่เจาะลึกลงไปถึงตัวบุคคลในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดจนเกิดความไม่พอใจ หรือขัดแย้งกันขึ้นได้กับท่านที่ยังมีชีวิตอยู่หากบังเอิญไปกระทบเข้า ต้องบอกว่าเป็นการย้อนกลับสู่ความจำเท่าที่ได้สัมผัสมานานกว่า 20 ปี โดยเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง

หลังจากได้รับข่าวว่า สำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้งหมดจะโยกย้ายจากบ้าน (เช่า) เดิมที่อยู่มาเมื่อเกือบ 70 ปี

เป้าหมายต่อไปดูเหมือนจะต้องนำเอากิจการของ “บริษัทสยามรัฐ” โดยเฉพาะสินทรัพย์เท่าที่ปรากฏ และจะต้องสร้างขึ้นมาอีกเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่เราเรียกว่านักลงทุนให้ความสนใจ เพราะว่าเราตั้งเป้าว่าจะเอาเงินประชาชนมาทำหนังสือพิมพ์ หมายความว่าจะเอากิจการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้งหมดเข้าจดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์ฯ” ซึ่งอาจต้องกล่าวถึงบ้างในโอกาสต่อไป

แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ดำเนินการทั้งๆ ที่ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างผลงานประพันธ์ของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จำนวนมากก็อยู่ในแผนงานที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะนำมาจัดพิมพ์ จัดทำให้เป็นระบบ ด้วยวัสดุคุณภาพ รวมทั้งการจัดเก็บรักษาไว้เป็นประวัติศาสตร์ ของ “ศิลปินแห่งชาติ” ผลงานของ “บุคคลสำคัญของโลก” ได้ แต่สุดท้ายสิ่งที่คิดที่ฝันก็ได้แปรเปลี่ยนหายไปไม่ได้ดำเนินการจนกระทั่งปี พ.ศ.นี้

อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับมาเขียนในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ซึ่งชื่อคอลัมน์เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ แต่เดิมไม่มีชื่อคอลัมน์ นักอ่านรู้จักในนาม “จากหน้า 5 สยามรัฐ” มายาวนาน มาเปลี่ยนเป็นคอลัมน์ “ข้าวนอกนา” บ้าง “นอกสังเวียน” หรือ “ข้างสังเวียน”

จนในที่สุดมาจบลงตรง “ซอยสวนพลู” (อันโด่งดัง) ซึ่งบ้านพักของท่านตั้งอยู่

 

รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ บริหารบ้านเมืองถึงต้นปี พ.ศ.2523 พยายามแก้ปัญหาทั้งหลายที่รุมล้อมกดดันรัฐบาล รวมทั้งเสนอตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” แต่ไปไม่รอด ในที่สุดก็ต้องลาออกกลางสภา โดยไม่ได้บอก “คณะรัฐมนตรี” มาก่อนล่วงหน้า ท่านตวัดหางทิ้งท้ายด่ากราดเอาคืนนักการเมืองที่กำลังจะ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ทั้งสภา

กลุ่มทหาร “ยังเติร์ก” ที่เคยสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ไปร้องขอให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้มาเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปมาก่อนหน้าแล้ว

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” และ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” คือส่วนหนึ่งซึ่งทำงานเป็น “ฝ่ายค้าน” ร่วมกับท่าน “อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” หัวหน้าพรรค “กิจสังคม” จนได้ผลในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะทำงานอย่างหนักต่อไปอีกในรัฐบาล “เปรม 1”

“พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” อดีตประธานองคมนตรี, รัฐบุรุษ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16) เดือนมีนาคม 2523