เชิงบันไดทำเนียบ : เผด็จศึก ! ‘ธนาธร’ ลาสภา ‘ล้วงหม้อข้าวทหาร’ – ทุบหม้อข้าวสู้ ‘เขา’ ทุกคนก็น่าจะรู้ ?

“ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องการเห็นผมในสภา ผมก็ไม่ขออยู่ในสภา ผมจึงขอกลับไปอยู่กับประชาชน”
.
ถ้อยความของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หน.พรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องการส่งสัญญาณถึง ‘พวกเขา’ ขณะหันหลังให้สภา ด้วยการลาออกจาก กมธ. ทุกตำแหน่ง แน่นอนว่าการออกจากสภาครั้งนี้ย่อมมี ‘นัยสำคัญ’ ทางการเมือง ที่เป็นกระแสต่อเนื่องมาจากหลังจากศาล รธน. ตัดสินให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของ ‘ธนาธร’ สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ซึ่ง ‘ธนาธร’ ปิดจ็อบตัวเองในสภาผ่านการเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณางบปี 63 ที่ ‘ธนาธร’ ได้พบกับ ผบ.เหล่าทัพ ครั้งแรก โดยเฉพาะ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘มวยถูกคู่’
.
นับตั้งแต่ ‘บิ๊กแดง’ เปิดหน้าชนกับ ‘ธนาธร’ ผ่านการจัดเวทีทอล์กแผ่นดินของเราฯ ที่มีเงาปริศนาถ่ายภาคู่กับ ‘โจชัว หว่อง’ รวมทั้งวิวาทะที่ ‘บิ๊กแดง’ ซัด ‘ธนาธร’ โดยตรง เช่น ซ้ายจัดดัดจริต ฮ่องเต้ซินโดรม เป็นต้น การพบกันของทั้งคู่ที่สภา แน่นอนว่า ‘ธนาธร’ ก็เตรียมข้อมูลมาซักถาม ผบ.เหล่าทัพ ถึงที่มาเงินต่างๆ ที่เรียกได้ว่า ‘ทุบหม้อข้าวกองทัพ’ โดยมี ‘บิ๊กณัฐ’พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สูงสุด ‘บิ๊กลือ’พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ‘บิ๊กนัต’พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. เดินทางมาชี้แจงงบกองทัพด้วย

ทั้งนี้ ‘ธนาธร’ ได้ตั้งคำถามถึงเงินนอกงบประมาณกระทรวงกลาโหม 1.8 หมื่นล้านบาท โดยขอให้ ‘กลาโหม’ เปิดเผยรายได้จาก ‘สัญญาสัมปทานวิทยุ-ทีวี’ พร้อมขอรายละเอียด ‘สนามม้า-มวย-หวย-งบไอโอ’ และตั้งคำถามทำไมเหล่านายพลรวยผิดปกติ โดยมองว่านายพลส่วนใหญ่มี “Side Business” หรือทำธุรกิจคู่ขนานกับการรับราชการ โดยดูจากบัญชีทรัพย์สินของ สนช. ที่ได้แจ้งกับ ป.ป.ช. ไว้
.
ทั้งนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ได้ชี้แจงถึงที่มาเงินนอกงบประมาณ ก.กลาโหม ไม่ได้มาจากการจัดทำของกระทรวงกลาโหม แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา และการเบิกจ่ายก็เป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกระทรวงอื่นๆ ส่วนเรื่องความโปร่งใสของรายได้นายพล ยืนยันว่าผู้ได้เป็น สนช. แต่ละคนอาจมีฐานความร่ำรวยแตกต่างกัน และได้แสดงความโปร่งใสผ่านการแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้ว ทั้งก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่ง ส่วนการดำเนินกิจการมวย ม้า มาจากกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และการดูแลสวัสดิการทหารผ่านศึก หากจะให้ตอบว่าการให้กิจการเหล่านี้อยู่ในการดูแลของกองทัพเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ากองทัพทำแบบนี้มานานแล้ว คงต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร
.
ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันว่าเงินนอกงบประมาณ บางส่วนเป็นรายได้จากโรงพยาบาลของกองทัพ ซึ่งประชาชนก็เข้ารับการรักษาพยาบาลเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รายรับบางส่วนจะนำกลับมาหมุนเวียนในการบริหาร ส่วนกรณีค่า MUX ช่อง 5 และช่อง 7 โดยของช่อง 7 ได้หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้ตอบคำถามกรณีความร่ำรวยของเหล่านายพลแต่อย่างใด
ทำให้การประกาศลาออกของ ‘ธนาธร’ จึงไม่ใช่การ ‘ออกจากสนามการเมือง’ แต่เป็นการ ‘เปิดเกมใหม่’ ทางการเมืองขึ้นมาแทน เพราะยังคงเป็น ‘หน.พรรคอนาคตใหม่’ โดยออเดิร์ฟด้วยการ ‘ชนกองทัพ’ ในเรื่องงบประมาณและการเกณฑ์ทหาร ซึ่งการลาออกของ ‘ธนาธร’ หากมองอย่างมียุทธศาสตร์จะพบว่า ช่วงที่ผ่านมา ‘ธนาธร’ หมดเวลาไปกับการต่อสู้คดีหุ้นสื่อกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส. รวมทั้งการประชุมกรรมาธิการต่างๆ ทำให้ไม่มีเวลาออกมารณรงค์และพบปะมวลชน จึงมีเวลาเพียงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ ส.ส.หรือแกนนำที่สอบตก ต่างทำงานในพรรคและลงพื้นที่ต่อเนื่อง ไม่มีภาระงานในสภา โดยเป็นการทำงานทั้งในและนอกสภาคู่ขนานกันไป
.
นอกจากการชนกับกองทัพแล้ว สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านตั้งธงไว้คือการเดินหน้าแก้ไข รธน. ที่ฝ่ายค้านเพ่งเป้าไปที่ ‘อำนาจ ส.ว.’ 250 คน ที่ถือเป็น ‘กล่องดวงใจ’ เลยทีเดียว รวมทั้ง รธน.60 ก็ถูกตีตราแล้วว่าเป็น ‘มรดก คสช.’ นั่นเอง โดยพรรคฝ่ายค้านขอให้มีการแก้ไข ม.256 เพื่อปลดล็อคให้มีการแก้ไข รธน. ได้ง่ายขึ้น เพราะหนึ่งในล็อคที่สำคัญ คือ การอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ด้วย ซึ่ง ส.ว. 250 คน แต่งตั้งมาจาก คสช. โดยที่ผ่านมาก็ไม่มี ‘อาการแตกแถว’ ให้เห็น
.
จากปรากฏการณ์รณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหารของ ‘ธนาธร’ ที่เดินสายไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ ‘บิ๊กตู่’ ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งความเป็น ‘ทหารเก่า’ ของ นายกฯ ก็ต้องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารและการจัดเตรียมกำลังต่างๆ โดยมองผ่านมุมมองฝ่ายความมั่นคง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ชี้ถึงจุดที่มีเรื่องของการ ‘ สมัครใจ’ ด้วย และเคยให้ ผบ.เหล่าทัพ ไปศึกษาในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว ว่าจะกระทบกฎหมายใดบ้าง

อีกทั้งการที่ ‘ธนาธร’ เลือกลงพื้นที่สยามสแควร์ไปรณรงค์ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทันที หลังศาล รธน. ตัดสิน ให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องชิงพื้นที่คนกลุ่มนี้เช่นกัน โดยในการประชุมสภากลาโหมล่าสุด ได้สั่งให้ ก.กลาโหม-เหล่าทัพ จัดทำพีอาร์ไปถึงคนรุ่นใหม่ ให้ทราบถึงภารกิจของกองทัพในเรื่องต่างๆ
.
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเข้าสภาเมื่อสภาหรือกมธ.ต่างๆตั้งกระทู้ถามหรือเชิญมาชี้แจง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีส่งผู้แทนไปชี้แจงแทน ยกเว้นการกระชุมใหญ่ของสภาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปด้วยตนเอง โดยให้เหตุผลถึงการติดภารกิจต่างๆทั้งการประชุมและลงพื้นที่
.
โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงกระแสของ ‘ธนาธร’ ช่วงทำหน้าที่ประชุมอยู่ใน กมธ. จะไม่เป็นข่าวเท่าการลงพื้นที่หรือการออกมาแถลงข่าว ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ตระหนักในส่วนนี้ดี อีกทั้งการลงพื้นที่ก็คือการกระชับสัมพันธ์กับมวลชนด้วย ท่ามกลางกระแสชะตากรรมของ ‘ธนาธร-พรรคอนาคตใหม่’ ที่เปรียบอยู่ ‘บนเส้นด้าย’ และระส่ำอยู่เนืองๆ
.
ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสัปดาห์ก่อนก็ลงพื้นที่ ‘บ้านบุ-บางกอกน้อย’ ฝั่งธนบุรี โดยแจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทำเอาชาวบ้านเซอร์ไพรส์ไปตามๆกัน จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์การลงพื้นที่ ซึ่งควบคู่กับการตอบโต้ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่ชี้แจงถึงความจำเป็นเสมอๆ รวมทั้งเรื่องการแก้ไข รธน. ด้วย

ดังนั้นการลาออกของ ‘ธนาธร’ จึงเท่ากับเป็นการเปิดหน้าชนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ระหว่างประสานรอยร้าว ‘ศึกใน’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็น ‘ศึก 3 ก๊ก’ และจับตาเอฟเฟกต์จากกองทัพ โดยเฉพาะ ‘บิ๊กแดง’ ที่เงียบมาจะ 2 เดือนแล้ว หลังพรรคอนาคตใหม่ท้าชนในหลายเรื่อง นับตั้งแต่โหวตคว่ำ พรก.โอนหน่วยทหาร-กำลังพลฯ การตั้งเป้าชำแหละงบกองทัพ รวมทั้งการที่ ‘ธนาธร’ จะต่อสู้กับ ‘พวกเขา’ ที่ไม่ต้องการให้ตนเข้าสภาด้วย
.
หากถามว่า ‘เขา’ คือใคร ? ‘ธนาธร’ บอกเพียงว่า “ทุกคนก็น่าจะรู้” ?