อ่านเกม “แบน 3 สารพิษ” การเมืองพรรคร่วม “แรง” “ไกลโฟเสต” หลุดบัญชี-เลื่อนแบน 2 “สาร”

การ “แบน” 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต” หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้ปรับ 3 สารจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต-ห้ามใช้-ห้ามนำเข้า-ห้ามส่งออก และห้ามครอบครอง โดยจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 นั้น

ปรากฏว่าตลอดระยะเวลา 1 เดือนผ่านไปกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายจนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย “ไม่ยอม” ลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย

ส่งผลให้คำสั่ง “แบน” 3 สารเคมีก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ แต่กลับทอดระยะเวลาเนิ่นนานออกไปอีก

 

โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมี ทางกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายผู้นำเข้าสารเคมีการเกษตรในนาม 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร-สมาคมอารักขาพืชไทย-สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ขายยาเคมีการเกษตรรายใหญ่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เปิดการรณรงค์ “ไม่ยอมรับ” มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

และยังมีกลุ่มผู้ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร “กากถั่วเหลือง-ถั่วเหลือง-ข้าวสาลี” ที่ต้องนำเข้าจากประเทศที่ยังคงใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในนามสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย-สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมไปถึงสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็น “แนวร่วม” ต่อต้านการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ประเภทด้วย

ขณะที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กรก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แสดงให้สาธารณชนเห็นถึง “พิษภัย” ร้ายแรงจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิดต่อไปโดย “อิง” กับนโยบายของความปลอดภัยทางอาหาร การแก้ไขปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกระทรวงสาธารณสุข ที่ขับเคลื่อนให้แบนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีอันตรายร้ายแรงมาตั้งแต่ปี 2555 นั้น หมายถึงการรณรงค์ในภาคประชาชน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาในสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ทว่าชัยชนะของฝ่ายเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กรภาคประชาสังคมกลับเป็นชัยชนะที่ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้จะได้รับแรงหนุนจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย ที่ออกแคมเปญต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชร้ายแรงมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งและการผลักดันผ่านทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรโดยตรงก็ตาม

 

ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งเป็นประธาน ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ “กลับมติ” ตัวเองด้วยการ “เลื่อน” การแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน หรือจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563

หรือหมายความว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้ พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอสยังคงเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สามารถนำเข้า-ผลิต-ใช้-ครอบครองต่อไปได้อีก 6 เดือน (หรือจนกว่าจะมีการลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายเสียก่อน)

แต่ในตัวของ “ไกลโฟเสต” คณะกรรมการได้มีมติ “ยกเลิก” การแบนและให้หันกลับไปใช้ “มาตรการจำกัดการ” ใช้แทน หรือหมายความว่า สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย “ไกลโฟเสต” ได้กลับเข้าสู่สถานะเดิมก่อนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผู้ผลิต-ผู้นำเข้า-ผู้ใช้ สามารถซื้อขายไกลโฟเสตได้ตลอดไปโดยไม่มีการจำกัดระยะเวลาการใช้

เพียงแต่ผู้ใช้ (ตัวเกษตรกร) จะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการอบรมการใช้เสียก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติแทบไม่มีผลอันใดในการควบคุมการใช้ไกลโฟเสตเลย

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตถึงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ว่า น่าจะเกิดจากแรงกดดันทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศที่อยู่นอกเหนือเหตุผลและมีอิทธิฤทธิ์ถึงขั้นสามารถ “หักล้าง” ความปลอดภัยทางอาหารและผู้บริโภคของกระทรวงสาธารณสุขได้ใน 4 ประเด็นคือ

1) การแบนเป็นเรื่องของการเมืองโดยแท้ โดยท่าทีของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรมวิชาการเกษตร ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแบน 3 สารเคมีมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายรอบแรก (22 ตุลาคม 2562) ตัวกรรมการได้ถูก “ขู่” จากชุดนโยบายของพรรคการเมือง จำเป็นต้องโหวตให้มีการแบน 3 สาร ทั้งๆ ที่ทราบดีว่ายังไม่มีสารกำจัดวัชพืชชนิดใดมาทดแทนในแง่ของประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับสารที่ถูกแบนได้

2) ผลกระทบจากการแบนสารเคมี “ไกลโฟเสต” สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ไกลโฟเสตรายใหญ่จนถึงขั้นรัฐบาลสหรัฐทำหนังสือผ่านสถานเอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ขอให้รัฐบาลไทย “ทบทวน” การแบนไกลโฟเซตพร้อมเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และอาจส่งอิทธิพลไปถึงการประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองที่มีไปถึงรัฐบาลไทยโดยตรง จนเป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทำไมคณะกรรมการวัตถุอันตรายถึงยกเลิกการแบนไกลโฟเสต

3) ปริมาณสต๊อกตกค้างคงเหลือของ 3 สารหลังวันที่ 1 ธันวาคม มีการประมาณการตัวเลขรายงานสต๊อกของผู้ค้าอย่างสับสน แต่คาดการณ์ว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 38,000 ตัน (อยู่ในมือพ่อค้า-ผู้ผลิตจำหน่าย) จะถูกดำเนินการอย่างไร ในเมื่อประมาณการค่าใช้จ่ายในการทำลายน่าจะอยู่ตันละ 100,000 บาทต่อตัน ซึ่งทั้งผู้ค้า-รัฐบาลไม่มีใครยอมรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงกลายเป็นที่มาของมติให้ขยายระยะเวลาแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอสออกไปอีก 6 เดือน หรืออาจเข้าใจได้ว่า ไม่ต้องทำลาย แต่ผลักดันให้เกษตรกรซื้อไปใช้ฆ่าหญ้าจนสต๊อกคงเหลือในประเทศหมดไปเอง

4) ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 387/2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง กำหนดให้อาหารต้องไม่พบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้กลายเป็นเงื่อนไข Zero Tolerance ต่อการตกค้างของวัตถุดิบนำเข้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองลุกลามไปยังอุตสาหกรรมขนมเบเกอรี่ มีปัญหาในการนำเข้าวัตถุดิบถั่วเหลือง-แป้งสาลีทันที โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยรู้กันดีว่าอุตสาหกรรมพวกนี้เสียงดังเพียงใด

ประกอบกับการตั้งหน้าตั้งตาที่จะแบนของนักการเมือง โดยไม่ได้พิจารณาบริบทของสารเคมีกำจัดวัชพืชที่จะนำมาทดแทน 3 สารทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและราคา การเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและทางเลือกอื่นๆ ในการกำจัดวัชพืชได้กลายเป็นความบกพร่องละเลยและขาดความรอบคอบอย่างร้ายแรงของรัฐบาล

จนกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่กลบเหนือความหวาดกลัวถึงพิษภัยอันตรายร้ายแรงของ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต”

แม้เป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่อาจนำพาชุดนโยบายความปลอดภัยทางอาหารของสมัชชาสุขภาพไปสู่ความสำเร็จขั้นสุดท้ายได้