ศาลยกฟ้อง “พานทองแท้” คดีฟอกเงิน ธ.กรุงไทย อัยการจ่ออุทธรณ์ สู้ยก 2 จับตาอยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น?

นําความปลาบปลื้มยินดีมาสู่คนตระกูล “ชินวัตร”

เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ยกฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ในคดีฟอกเงินทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยให้ธุรกิจเครือกฤษดามหานคร

คดีนี้อัยการยื่นฟ้องนายพานทองแท้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กรณีรับโอนเงินเป็นเช็ค 10 ล้านบาทเข้าบัญชี ซึ่งมีการกล่าวหาเป็นเงินส่วนหนึ่งของการกระทำทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร

ซึ่งนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ลูกชาย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลยคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาถึงที่สุดจำคุกคนละ 12 ปี

ทั้งนายวิชัยและนายรัชฎา บริษัทในเครือกฤษดารวม 6 คน ยังถูกอัยการยื่นฟ้องความผิดฟอกเงินนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เช่นกัน

ในชั้นพิจารณา นายพานทองแท้ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ระบุเงินดังกล่าวเป็นส่วนที่จะลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซูเปอร์คาร์ร่วมกับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ โดยนายพานทองแท้ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี 1 ล้านบาท พร้อมห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ท่ามกลางการ “ขุดรากถอนโคน” ทางการเมือง

คดีนี้เป็นที่เฝ้าจับตาของสื่อและคนในสังคมจำนวนมากว่าชะตากรรมนายพานทองแท้จะซ้ำรอยบิดาและ “อาปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่

ที่ต้องหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

 

มีการตั้งข้อสังเกต หลังมาศาลไต่สวนพยานครั้งสุดท้ายเมื่อ 26 กันยายน

28 กันยายน นายพานทองแท้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Oak Panthongtae Shinawatra ว่า ยุคนี้ “ลูกทักษิณ” หาโอกาสอยู่แบบสบายๆ ยากมาก โดยยอมรับว่าครั้งนี้หนักที่สุดในชีวิต และเครียดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

วันถัดมา 29 กันยายน ก็ได้โพสต์ข้อความอีกครั้งถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โดยระบุข้อความตอนหนึ่ง “ช่วงนี้ว่าจะแตะ Social ให้น้อยที่สุด ตามที่ผู้หวังดีหลายท่านได้เตือนมา”

จากนั้นมานายพานทองแท้ก็เก็บตัวเงียบ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ อีก

เช่นเดียวกับนายทักษิณ ที่เงียบหายไปจากโลกโซเชียล จนหลายคนสงสัยอดีตนายกฯ ผู้นี้กำลังคิดอะไรอยู่ ปรากฏข่าวคราวก็เพียงภาพในอินสตาแกรมของ “เอม-อุ๊งอิ๊ง” ลูกสาวทั้งสองเท่านั้น

ผิดจากแต่เดิมที่ “ทักษิณ” มักใช้โซเชียลออนไลน์เป็นช่องทางเคลื่อนไหวในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมือง หรือคดีความเกี่ยวข้องกับคนตระกูลชินวัตร

กระทั่ง 24 พฤศจิกายน ก่อนศาลตัดสินคดีของนายพานทองแท้เพียง 1 วัน

เอม พินทองทา โพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @aimpintongta เป็นภาพการทำบุญวันเกิดคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ครบ 63 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมครอบครัว โดยมีนายพานทองแท้ บุตรชายคนโตร่วมด้วย

“อิ่มบุญอิ่มใจ เช้าวันคล้ายวันเกิดคุณแม่ที่เป็นที่รักยิ่งของพวกเรา และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกๆ หลานๆ อย่างแท้จริง ความรักความอบอุ่นของคุณแม่ ทำให้บ้านเราแข็งแรงเข้มแข็งและพร้อมจับมือกันแน่น…ข้ามผ่านปัญหาและอุปสรรคทั้งปวงถึงทุกๆ วันนี้

พวกเราขอขอบคุณทุกๆ คำอวยพรและความรักความปรารถนาดีที่ทุกๆ คนส่งมาให้คุณแม่และครอบครัวของเรา อย่างที่เอมได้เคยบอกเสมอ…ว่าเป็นการเติมพลังใจที่มีค่าและมีความหมายมากมายกับพวกเราจริงๆ

สุดท้ายนี้ขอให้ครอบครัวของเราผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้ ขอให้ความเข้มแข็งจิตใจนิ่งสงบไม่หวั่นไหว…จงอยู่กับพวกเราตลอดไป…ขอให้วันจันทร์นี้เป็นหนึ่งในของขวัญอันล้ำค่าของคุณแม่และพี่ชายของพวกเรา” เอม พินทองทา ระบุผ่านไอจี

ก่อนของขวัญอันล้ำค่ากลายเป็นจริง

 

“ก็สบายใจขึ้น”

คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้มหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ ลูกชายคนโต

สำหรับคำพิพากษาสรุปใจความสำคัญได้ว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่านายพานทองแท้รู้ที่มาของเงิน 10 ล้านบาทที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ โอนเข้าบัญชี ว่านายวิชัยได้มาจากการทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย

ขณะรับโอนเงินจำเลยมีอายุเพียง 26 ปี และขณะนั้นจำเลยมีหุ้นในบริษัทจำนวน 4,000 ล้านบาทอยู่ก่อนแล้ว

หากเทียบสัดส่วนเงิน 10 ล้านบาทที่โอนเข้าบัญชีกับมูลค่าหุ้นที่มีอยู่คิดเป็น 0.0025% และเมื่อเทียบกับจำนวนยอดเงินกู้สินเชื่อที่นายวิชัยได้ไปนั้นก็เพียง 0.0025 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อย

ขณะที่โจทก์นำสืบได้เพียงว่า ขณะรับโอนหุ้น นายพานทองแท้เป็นบุตรชายของนายทักษิณ และสนิทสนมกับครอบครัวของนายวิชัยเพียงเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏความสัมพันธ์ลึกซึ้งแน่นหนา

พฤติการณ์จำเลยจึงยังฟังไม่ได้ว่า รู้หรือควรรู้ว่านายวิชัยได้เงินจากการทุจริต จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พิพากษายกฟ้อง

หลังศาลอ่านคำพิพากษา องค์คณะชี้แจงด้วยว่า คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษา (2 คน) เห็นต่างกันในการตัดสิน

จึงนำความเห็นขององค์คณะที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน

ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนเห็นแย้งว่า จำเลยมีความผิดเห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งจะบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษา หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน

สำหรับความเห็นแย้ง รายงานข่าวระบุ คดีนี้มีคำพิพากษายกฟ้อง มีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หาเสียงข้างมากไม่ได้

จึงให้ผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากว่า ที่เห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลงโทษจำคุก 4 ปี ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า

คดีนี้อัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน

หากระหว่างนี้คู่ความมีเหตุจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสาร และเห็นว่าอาจยื่นอุทธรณ์ไม่ทัน สามารถยื่นคำขอขยายเวลาได้ โดยศาลจะใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ขยายอุทธรณ์หรือไม่ เป็นระยะเวลาเท่าใด

 

ในส่วนของอัยการได้เปิดเผยขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์คดีว่า

หลังจากนี้ต้องคัดคำพิพากษาและเอกสารหลักฐานในสำนวน รวมทั้งความเห็นแย้ง ส่งให้คณะทำงานของอัยการพิจารณาว่าเหตุผลในคำพิพากษารับฟังได้เพียงใด และเนื่องจากมีความเห็นแย้งในองค์คณะเป็น 2 ฝ่าย

อัยการต้องนำรายละเอียดของความเห็นแย้งมาดูเหตุผลว่าอย่างไรที่ตัดสินว่าควรลงโทษ

หากสุดท้ายตามขั้นตอน อัยการสำนักงานคดีศาลสูงมีคำสั่งให้อุทธรณ์ หลังคณะทำงานสำนักงานสำนวนคดีชั้นต้นทำความเห็นเบื้องต้นเสนอไป กระบวนการก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้เลย

แต่หากมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ก็ยังไม่ถือเป็นที่ยุติ

ขั้นตอนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 34 ต้องแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนทำคดีนี้ทราบในลักษณะเป็นการรีวิว หากดีเอสไอเห็นแย้ง

ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์หรือไม่

สุดท้ายคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร จะจบอย่างไร สังคมต้องเฝ้ารอดูต่อไป ท่ามกลางกระแส “อยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น” วาทกรรมที่กำลังร้อนแรง

พัวพันการเมืองภาพใหญ่ในจังหวะการประชุมสภาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดเหตุ “สภาล่ม” ก็สะท้อนถึงสถานการณ์ว่า ถ้าหากรัฐบาลยังหา ส.ส.มาเติมเสียงให้ฝ่ายตนเองไม่ได้

ก็น่าจะ “อยู่ยาก” เช่นกัน