ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เศรษฐกิจถึงทางตัน : ความอับจนทางปัญญาที่กำลังสร้างหายนะให้ประเทศ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นข้อเท็จจริงที่คนไทยแทบทุกคนรับรู้ทั่วกัน แต่ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจและข้อเท็จจริงในกระเป๋าประชาชนย่ำแย่ตรงกัน รัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกลับทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวราวอยู่คนละโลกกับประชาชน มิหนำซ้ำกองเชียร์รัฐบาลยังเย้ยหยันว่าเศรษฐกิจพังเป็นเรื่องที่คนคิดไปเอง

เท่าที่มีการเปิดเผยในรอบเดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้เติบโตแค่ 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และถึงแม้ปกติเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ของทุกปีจะไม่ดีนัก แต่การที่เศรษฐกิจไตรมาสสามปีนี้โตต่ำที่สุดในรอบห้าปีจากปี ๒๕๓๘ แสดงว่าเศรษฐกิจปีนี้มีปัญหาหนักกว่าปีก่อนๆ อย่างแน่นอน

พูดตรงๆ เศรษฐกิจที่เติบโตแค่ 3% ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพอใจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน หรือแม้แต่เปรียบเทียบกับประเทศไทยในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งการเติบโตอยู่ที่ 4% เท่ากับว่าเศรษฐกิจตอนนี้เติบโตถดถอยลงเกือบ ๒๕% หรือ ๑ ใน ๔ ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่สูญหายไปจนน่ากังวล

ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่เสื่อมถอยอย่างน่าตกใจ เม็ดเงินจากนอกประเทศที่จะเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจในประเทศก็ลดลงด้วย การแถลงของกระทรวงพาณิชย์เรื่องส่งออกไทยลดลง 4.5% นำไปสู่การคาดการณ์ว่ายอดส่งออกปีนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้ว 1.5-2% จนเม็ดเงินไหลเข้าประเทศคงต่ำลงสัดส่วนเดียวกัน

จากคำแถลงของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าแห่งกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทยในปี 2561 มีรายได้จากการส่งออกทั้งสิ้น 252,486.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดส่งออกที่ต่ำลง 2% จึงอาจหมายถึงรายได้จากการส่งออกที่ลดลง5,049,728 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากพอสมควร

ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน หนึ่งดอลลาร์มีมูลค่าเทียบเท่า 30.2 บาท มูลค่าการส่งออกจำนวนดังกล่าวจึงเท่ากับหมายถึงประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศลดลงราวๆ 162,601 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณ

เกือบเท่างบบัตรทองของประเทศตลอดปี หรือราวๆ 1% ของมูลค่าสินค้าและบริการที่ประเทศผลิตได้แต่ละปี

แน่นอนว่าห้าปีนี้ประเทศไทยมีปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดมา แต่ความตกต่ำทั้งระดับภาพรวมและภาคส่งออกในปีนี้แสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย ผลก็คือเป้าหมายการเติบโตที่ 4% เป็นไปไม่ได้ ส่วนการส่งออกซึ่งคาดว่าจะต่ำแค่ 0% ก็เป็นเรื่องยากเกินไป

มองในแง่ความเชื่อมั่น ประเทศที่คาดหวังว่าการส่งออกจะเติบโต 0% คือประเทศที่การส่งออกไม่เติบโตจนไม่รู้จะคาดหวังอะไร การเติบโตแบบติดลบจึงแสดงให้เห็นความถดถอยที่เลวร้ายลงไปอีก จากนั้นความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายก็กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นทันที

การผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งออกเป็นต้นตอของการจ้างงาน เมื่อการส่งออกโตต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 2% จนประเทศอาจมีรายได้ลดลงราว 162,601 ล้านบาท การผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งออกก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่นเดียวกับการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต่อไป

ข้าวเป็นหนึ่งสินค้าการเกษตรที่ยอดการส่งออกปีนี้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะขณะที่ยอดการส่งออกข้าวปีที่แล้วคือ ๑๑ ล้านตัน สมาคมผู้ส่งออกข้าวประเมินว่าปีนี้ยอดการส่งออกน่าจะอยู่ที่ ๘ ล้านตัน ซึ่งต่ำเป้าที่เคยวางไว้ที่ ๙.๕ ล้านตัน ก่อนจะลดลงเป็น ๙ ล้านตัน โดยปีหน้าน่าจะมียอดการส่งออกลดลงต่อไป

ไม่มีใครรู้ชัดๆ ว่าเม็ดเงินจากการส่งออกที่เหือดหายไปเกือบสองแสนล้านอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร แต่ที่แน่ๆ การซื้อวัตถุดิบและจ้างงานย่อมต้องลดลงไปด้วย ความไม่สามารถรักษาเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหภาคและการส่งออกจึงเป็นเหตุให้เกิดการว่างงานของคนจำนวนหนึ่งแน่ๆ ถึงจะระบุยากว่ากี่คนก็ตาม

ล่าสุด ในคำแถลงของสภาพัฒน์ฯ เรื่องรายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาส ๓/๒๕๖๒ จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาสนี้ลดลง 2.1% จาก 38.7 ล้านคน เป็น38 ล้านคน, การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 2.3% จาก 25.5 ล้านคน เป็น 24.9 ล้านคน และภาคเกษตรจ้างงานลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน เป็น 12.6 ล้านคน

จำนวนผู้มีงานทำที่ลดลงเกือบเจ็ดแสนคนไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่ที่น่าตระหนกกว่านั้นคือคนว่างงานที่เคยทำงานสูงขึ้นถึง8.4% ส่วนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานพิ่มขึ้น 13.5% เป็น172,412 คน ขณะที่ผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานเพิ่มขึ้น 3% และผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุดถึง 2.15%

แม้สภาพัฒน์ฯ จะอ้างว่าตัวเลขคนว่างงานและการมีงานทำที่ลดลงแบบนี้ไม่น่าตกใจ แต่ข้อเท็จจริงคือสภาพัฒน์ฯ ไม่ใช่คนตกงาน และมุมมองว่าอย่างไรคืออัตราว่างงานที่น่าตกใจก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน แต่ที่แน่ๆ คือการไม่มีงานทำแบบนี้แสดงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแก่คนจำนวนหลายแสนคน

จริงอยู่ว่าการมีงานทำในแต่ละไตรมาสอาจผันผวนตามฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกร แต่รายงานสภาวะสังคมไตรมาสนี้ชี้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงกว่าภาคเกษตร มิหนำซ้ำคนเคยมีงานทำแต่ตกงานจนต้องขอเงินประกันสังคมก็สูงขึ้น และทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการปิดโรงงานและกิจการต่างๆ โดยตรง

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ความถดถอยของภาคส่งออกลุกลามเป็นการจ้างงานที่หดตัว, ความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียวแคบ รวมทั้งการผลิตในประเทศที่ถูกบีบให้ทำการผลิตโดยไม่เต็มสมรรถนะ และหากวงจรนี้ยังคงเดินหน้าไม่จบสิ้น ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจจะยิ่งทวีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

ในการแถลงเรื่อง GDP ของสภาพัฒน์ที่เพิ่งผ่านไป สัญญาณอันตรายที่ไม่มีใครพูดถึงคือการสะสมสินค้าคงคลังลดลงเป็นครั้งแรกใน ๑๑ ไตรมาส ตัวเลขนี้แสดงว่าการผลิตของประเทศเริ่มลดลง ผู้ประกอบการเริ่มเอาสินค้าคงคลังออกมาขาย และถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป โอกาสที่การผลิตหดตัวรุนแรงจะตามมา

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้มาตรการการคลังรูปแบบต่างๆ มากเป็นพิเศษ แต่สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาตลอดห้าปีอาจทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นนัก เพราะเม็ดเงินที่กระตุ้นเป็นสัดส่วนนิดเดียวเมื่อเทียบกับเม็ดเงินจากการส่งออกที่หดตัวลง

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาสมทบมาตรการชิมช้อปใช้ซึ่งไม่ส่งผลอะไรนัก ส่วนมาตรการกระตุ้นรอบนี้เน้นการแจกค่าเกี่ยวข้าวให้ชาวนา รวมทั้งแจกเงินกองทุนหมู่บ้านละ ๒๐๐,๐๐๐ จนอาจใช้เงินรวมกันทั้งสิ้นเกือบ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ชัดว่าจะส่งผลอย่างไร

ตรงข้ามกับคำโกหกของรัฐบาลและพวกซึ่งเอาแต่อ้างว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาอะไร เศรษฐกิจไทยวันนี้มีปัญหาจากภาคส่งออกซึ่งลุกลามเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนและการว่างงานไปแล้ว อาณาเขตของ

ปัญหาตอนนี้จึงกินพรมแดนกว้างขวางกว่าภาคส่งออกไปมาก และสัญญาณของการฟื้นตัวยังไม่มีสักนิดเดียว

เศรษฐกิจไทยวันนี้ตกต่ำเพราะการผลิตและการลงทุนหดตัวจนการบริโภคชะลอตัวลง วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกที่สุดจึงได้แก่การทำให้การผลิตและการลงทุนเติบโตจนวัฎจักรการบริโภคฟื้นตัวขึ้น การแจกค่าเกี่ยวข้าวและกองทุนหมู่บ้านอาจช่วยได้ด้านบรรเทาปัญหา แต่ไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาที่แท้จริง

พูดอย่างตรงไปตรงมา มาตรการรัฐบาลตั้งแต่ชิมช้อปใช้จนถึงแจกเงินชาวนาสะท้อนความอับจนทางปัญญามากกว่าแสดงถึงวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่มีวี่แววว่าจะฟื้น และสิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือแม้แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่รู้จะหาทางออกให้ประเทศได้อย่างไร

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540ไม่เคยมียุคไหนที่ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่อผู้นำประเทศตกต่ำอย่างปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องยอมว่าเศรษฐกิจตกต่ำเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องรวบรวมความร่วมมือจากคนทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด หาไม่ประเทศอาจไม่เหลืออะไร นอกจากซากปรักหักพัง

ด้วยสภาพการบริหารประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลประยุทธ์ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จนแทบจะถึงทางตันอยู่แล้ว สัญญาณอันตรายคือมาตรการแทบทั้งหมดมีผลให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นน้อยมาก หรือพูดตรงๆ ก็คือนยกและรัฐมนตรีไม่ได้แสดงให้เห็นอะไร ยกเว้นความอับจนทางปัญญา