การปฏิวัติการทหารของจีน | วิกฤติศตวรรษที่ 21

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (25)

การปฏิวัติการทหารของจีน

ในการสวนสนามเฉลิมฉลองวันชาติจีนครบรอบ 70 ปี ที่ได้จัดอย่างโอฬาร มีการแสดงอาวุธและอุปกรณ์ทางทหารทันสมัยจำนวนมาก อวดความพร้อมรบและความน่าเกรงขามของจีนต่อสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจ รวมทั้งประเทศอื่นทั่วโลก

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางทหารและยุทธศาสตร์การสงครามของจีน ถือเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ไม่แพ้ความอัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความอัศจรรย์อิงกันและกัน

นั่นคือความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจช่วยเป็นฐานให้แก่การปฏิวัติทางการทหาร

และความเข้มแข็งทางการทหาร เป็นหลักค้ำของความมั่นคงและสันติภาพของชาติภายใต้พรรค ซึ่งเอื้อต่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความไพบูลย์ของสังคม

การก้าวกระโดดทางการทหารและการสงครามของจีน เกิดขึ้นจาก “การปฏิวัติการทหาร” (Revolution of Military Affairs – RMA) บางทีเรียกว่า “การปฏิวัติทางทหารที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” เกิดขึ้นในช่วงของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน (ดำรงตำแหน่งนี้ปี 1993-2003 และตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่าง 1989-2002)

ต่อเนื่องมาจนถึงหูจิ่นเทา (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง 2003-2013) เป็นการปฏิวัติการทหารสู่สงครามแบบข่าวสาร (Informatized Warfare) ผสานเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าคือเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร เข้ากับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของเหล่าทหารและนักยุทธศาสตร์

เป็นการใช้ความไม่สมดุลทางการทหารและการสงครามที่ทำให้จีนไล่ทันสหรัฐได้อย่างน่าประหลาด

มองด้านความเป็นมา สิ่งที่ผู้นำจีนกระทำในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเพียงการต่อเนื่องที่ผู้นำจีนปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งประธานเหมาเจ๋อตง กระทั่งย้อนไปถึงนักยุทธศาสตร์ซุนวูเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ในสมัยประธานเหมา พรรคจีนต้องทำสงครามสองด้าน

ด้านหนึ่ง เป็นสงครามกลางเมืองต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็กที่สหรัฐสนับสนุน

อีกด้านหนึ่ง ทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน คู่อริทั้งสองมีอาวุธทันสมัย มีกองทหารประจำการที่ฝึกฝนอย่างดี สามารถยึดเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ-การปกครองรวมทั้งจุดยุทธศาสตร์อื่น

การต่อสู้จะเอาชนะไม่ใช่ง่าย ประธานเหมาได้คิดยุทธศาสตร์การสงครามใหม่เรียกว่าสงครามประชาชน เป็นสงครามยืดเยื้อ สงครามที่ไม่ได้สมดุล ให้เจียงไคเช็กและญี่ปุ่นเล่นเกมของตนไป

พรรคจีนทำสงครามตามแบบที่ตนได้เปรียบ อาศัยมวลชนชาวนาเรือนแสนเรือนล้านในชนบทอันไพศาล ตั้งโรงเรียนการทหาร ฝึกชาวนาให้เป็นนักรบ ดำเนินการปฏิวัติประชาชาติ-ประชาธิปไตย ใช้ชนบทล้อมเมืองและเข้ายึดเมืองในที่สุด สามารถปลดปล่อยประเทศได้ หลังจากญี่ป่นแพ้ในสงครามโลก

ตลอดสมัยประธานเหมา ยุทธศาสตร์การสงครามยังเป็นแบบสงครามประชาชน รบในสมรภูมิที่ตนได้เปรียบ และสนับสนุนการปฏิวัติประเทศโลกที่สามในทวีปต่างๆ

เป็นการใช้ชนบทล้อมเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง

มีข้าศึกสำคัญ 2 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐและสหภาพโซเวียต (เมื่อเกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์) อีกด้านหนึ่งเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธไม่ให้ล้าหลังประเทศอภิมหาอำนาจทั้งสอง สามารถส่งดาวเทียม “บูรพาแดง” สู่อวกาศสำเร็จในปี 1970

สมัยเติ้งเสี่ยวผิง ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนถูกแปรให้ทันสมัยตามนโยบายการทำกองทัพและการป้องกันประเทศให้ทันสมัย ได้แก่ ทำกองทัพให้มีขนาดเล็กลง มีแผนลดกำลังพลเรือนล้านคน ใช้อาวุธ อุปกรณ์ การฝึก การจัด การองค์กร และสายบังคับบัญชาให้กะทัดรัด ทันสมัย และมีประสิทธิภาพขึ้น

ในช่วงเวลานี้จีนได้ถือสหรัฐเป็นคู่ปรับสำคัญ ติดตามรับรู้ และใช้เป็นแบบของการเปลี่ยนแปลงของตนตามที่เห็นควร

ได้เห็นสหรัฐเริ่มใช้เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารในสงครามเวียดนามอย่างจริงจัง

และในปี 1983 รับเอาแนวคิด “คลื่นลูกที่สาม” ในการทำนายอนาคตเศรษฐกิจ-การเมืองโลกของอัลวิน ทอฟเลอร์ ที่ชี้ว่าสังคมโลกได้เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมโรงงานสู่ยุคข่าวสาร สำหรับสหภาพโซเวียตได้อ่อนแอลงใกล้ล่มสลาย

จีนตั้งประเด็นศึกษาสหภาพโซเวียตที่สำคัญว่า โซเวียตจัดการกองทัพของตนอย่างไรจึงปล่อยให้ประเทศล่มสลาย และจีนจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น

การปฏิวัติการทหารของเจียงเจ๋อหมิน ก่อรูปมั่นคงในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งในช่วงนี้ได้มีเหตุการณ์ใหญ่หลายประการที่ตอกย้ำถึงการปฏิวัตินี้

โดยจำแนกได้เป็น 3 ด้านด้วยกันคือ

(1)ด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สำคัญคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ปี 1991 ซึ่งจีนเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นความพ่ายแพ้ของโซเวียต และพร้อมกันนั้นแสดงถึงความอ่อนแอของสหรัฐ

จากที่สหรัฐต้องสูญพละกำลังเป็นอันมากในการแข่งขันทางอาวุธเพื่อเอาชนะ

ดังนั้น จีนจึงอยู่ในฐานะที่แสดงบทบาทมหาอำนาจในระดับภูมิภาคได้

โดยฮ่องกงจะกลับมาอยู่ในการปกครองของจีนในปี 1997 และมาเก๊าปี 1999

อย่างไรก็ตาม จีนพบว่า สหรัฐไม่ได้ยินยอมเช่นนั้น เลิกนโยบายจีนเดียว กลับมาเล่นไพ่ไต้หวัน ขัดขวางการรวมไต้หวันกับจีน จนเกิดวิกฤติช่องแคบไต้หวัน (1995-1996)

สมัยเจียงเจ๋อหมิน เสนอยุทธศาสตร์การสงครามว่า เอาชนะสงครามในภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ในสมัยหูจิ่นเทาปรับให้ชัดเจนว่าเอาชนะสงครามในภูมิภาคด้วยการแปรเป็นสงครามข่าวสารขั้นสูง

(2)กรณีสงครามอ่าวครั้งที่หนึ่ง (ปี 1991)

ในยุทธการพายุทะเลทรายและยุทธการดาบทะเลทรายของสหรัฐต่อกองทัพอิรัก นักการทหารจีนได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เห็นว่ามันเป็นการสงครามแบบใหม่ ต่างกับการสงครามใช้อาวุธกลไกแบบเดิมใน 3 เรื่องซึ่งสะท้อนถึงการเคลื่อนย้ายจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคข่าวสารคือ

(ก) เป้าหมายโจมตีของสหรัฐและพันธมิตรไม่ได้มุ่งทำลายกองกำลังอิรักในสมรภูมิโดยตรง แต่มีเป้าหมายเพื่อครองความเหนือกว่าทางอากาศ ตัดขาดกำลังทหารอิรักในคูเวต ลดทอนประสิทธิภาพของกองกำลังอิรัก เปิดทางให้การรุกทางภาคพื้นดิน เป็นการตัดหัวหรือทำลายสมอง

(ข) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างการสู้รบจริงกับบริการสนับสนุน การปฏิบัติการร่วมก็เป็นไปอย่างแท้จริง

(ค) การใช้ขีปนาวุธความแม่นยำสูง แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก (ราวร้อยละ 8 ของทั้งหมด) แต่ก็มีบทบาทสูง ในสงคราม สามารถทำลายเป้าหมายสำคัญได้ถึงร้อยละ 40 เหล่านี้ทำให้นักยุทธศาสตร์จีนตระหนักว่า การสงครามของโลกได้แปรโฉมใหม่สู่การสงครามแบบข่าวสารแล้ว

(ดูบทความของพันเอกอาวุโส Wang Baocun และ Dr. James Mulvenon ชื่อ China and the RMA ใน kida.re.kr 13/04/2006)

จีนเองยังถูกหางเลขของการสงครามแบบนี้ไปด้วย เมื่อสถานทูตจีนที่เบลเกรดถูกสหรัฐทิ้งระเบิด (แบบไม่เจตนา) ในสงครามโคโซโว ปี 1999

แต่มีรายงานข่าวบางแห่งกล่าวว่า ส่วนของสถานทูตจีนที่ถูกทำลายนั้น เป็นศูนย์กลางการสื่อสารและข่าวกรองของจีน ซึ่งใช้ในการช่วยรัฐบาลเบลเกรดในการต่อสู้กับสหรัฐ

(3)เป็นความสำเร็จทางด้านอุตสาหกรรมข่าวสาร

ความสามารถในการทำสงครามแบบข่าวสารของจีนเอง โดยกองทัพจีนสามารถวางรากฐานในการแปรระบบการทหารให้เป็นแบบข่าวสาร ตั้งแต่ด้านอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร ทฤษฎี การฝึก การจัดการ ระบบโลจิสติกส์และงานการเมืองใหม่ ตั้งแต่ปี 1997 ประสบความสำเร็จในงานด้านอวกาศ

ในปี 2003 จีนสามารถส่งมนุษย์อวกาศหยางลี่เหว่ยขึ้นสู่อวกาศและโคจรรอบโลก นับเป็นชาติที่สามต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐ

ที่น่าหวั่นเกรงทางทหารคือ ปี 2007 จีนทดลองขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม สามารถยิงจากภาคพื้นดินทำลายดาวเทียมทางอุตุนิยมวิทยาของจีนที่ไม่ได้ใช้งานที่ความสูง 863 ก.ม.จนแหลกละเอียด

แสดงความสามารถของกองทัพจีนในการก่อความเสียหายหนักหน่วงต่ออริศัตรูผู้รุกราน (สหรัฐควรทบทวนในเรื่องนี้)

จีนมีความพร้อมหลายประการในการแปรการสงครามเป็นแบบข่าวสาร นอกจากด้านการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทางการผลิตการค้าและเทคโนโลยีแล้วจีนยังได้เปรียบทางประเพณีการทำสงครามเป็นเวลานานนับพันปี ซึ่งตะวันตกมองข้าม

โดยการสงครามดั้งเดิมในจีนมีลักษณะเป็นพลวัตและใช้กลศึกทางปัญญาในการต่อสู้กับข้าศึกศัตรู ไม่เพียงก่อการรุกรานทางกำลังโดยตรงเท่านั้น หากยังวางแผนก่อความวุ่นวายขึ้นภายในดินแดนของตนด้วย

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามและประเมินเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การพ่ายแพ้ในสงคราม ยังส่งผลสะเทือนต่อความชอบธรรมของระบบปกครอง

ดังนั้น จึงต้องสนใจใคร่ครวญช่วงเวลาการโจมตีสู้รบเป็นอย่างดี การใช้กำลังจะต้องเป็นไปอย่างเฉียบขาด เมื่อสถานการณ์ในสมรภูมิพร้อม (ดูบทความของ Jacqueline Newmyer ชื่อ The Revolution in Military Affairs with Chinese Characteristics ใน tandfonline.com 20/08/2010)

กล่าวนัยหนึ่ง การสงครามของจีนไม่เคยเป็นแต่เรื่องการใช้กำลัง แต่เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาและกลศึกเพื่อเอาชนะ

ไม่เคยเป็นเรื่องของแสนยานุภาพ

แต่เป็นเรื่องของฐานเศรษฐกิจและความสงบ ไม่เดือดร้อนเกินไปของพลเมือง

ซุนวูให้คำแนะนำทางทหารมานานแล้วว่าให้ “รู้เขารู้เรา ร้อยศึกบ่พ่าย”

สงครามอัจฉริยะของจีนสมัยสีจิ้นผิง

การปฏิบัติการทหารใหม่ได้เริ่มต้นในปี 2014 เมื่อคณะกรมการเมืองของพรรคจีนได้เปิดการศึกษาแนวโน้มการพัฒนาทางทหาร และการส่งเสริมนวัตกรรมทางทหาร

สีจิ้นผิงได้กล่าวถึง “การปฏิวัติทางทหารใหม่” เพื่อลดช่องว่างกับสหรัฐและก้าวกระโดดขึ้นหน้าในเวลาอันสั้นที่สุด ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อฟื้นเยาวภาพกองทัพจีนใน “ยุคใหม่”

สีจิ้นผิงกล่าวถึงการพร้อมปฏิบัติพันธกิจของกองทัพในการเอาชนะสงครามแบบข่าวสารในระดับท้องถิ่น และเตรียมสำหรับสงครามอัจฉริยะในอนาคต (Intelligentized Warfare)

การปฏิรูปกองทัพดำเนินไปอย่างจริงจังในปลายปี 2015 มีการปรับโครงสร้างการทหารครั้งใหญ่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการบูรณาการปฏิบัติการร่วมทั้งหลายในทุกขอบเขตของการสงคราม เช่น ตั้งกองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ เพื่อเสริมความสามารถในการบูรณาการการสงครามทางอวกาศไซเบอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และจิตวิทยาเข้าด้วยกันด้วยการสร้างนวัตกรรมและความสามารถใหม่ ไปจนถึงการแปรโฉมสำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การทหาร ให้สามารถบูรณาการการปฏิบัติในภาคสนามกับนวัตกรรมทางทฤษฎีได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

อาวุธสำคัญของสงครามอัจฉริยะได้แก่ อาวุธพิสัยไกลที่แม่นยำ เป็นอัจฉริยะล่องหนและไร้คนขับ

ชนชั้นนำจีนเห็นพ้องว่า ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์สำคัญยิ่งในการสร้างความสามารถ การแข่งขันของชาติและเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการทหารของประเทศ (ดูเอกสารคำให้การของ Elsa B. Kania ต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายปริทัศน์เศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐ-จีนของสภาคองเกรสชื่อ Chinese Military Innovation in Artificial Intelligence ใน cnas.org 07/06/2019)

สมุดปกขาวทางการทหารของจีนปี 2019 ที่เผยแพร่เนื่องในวันชาติจีนครบรอบ 70 ปี กล่าวถึงพันธกิจหนึ่งของกองทัพจีนว่า ไม่ได้จำกัดอยู่ในระดับภูมิภาคมีช่องแคบไต้หวันเป็นต้นเหมือนเดิม แต่ขยายขอบเขตไปทั่วโลก ในการรักษาสันติภาพและปกป้องความมั่นคง สิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของพลเมือง บริษัทและสถาบันของจีนในต่างแดน

ย้ำว่าการแข่งขันทางทหารเป็นไปอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าครั้งใด เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ในด้านปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลใหญ่ อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่งและควอนตัมคอมพิวติง

เป็นสงครามอัจฉริยะที่ทำให้พลเมืองทั่วโลกโง่ไปถนัดใจ

ฉบับต่อไปกล่าวถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์เทียนเหอ ขีปนาวุธตงเฟิง และสงครามเทคโนโลยีควอนตัมสหรัฐ-จีน