วิเคราะห์การเมืองไทยกับ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ : ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องสะดุด แม้ “ประยุทธ์” จะอยู่ยาว

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ มองปรากฏการณ์ชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบกันในพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ว่ามีสูงกว่าลักษณะปกติของรัฐบาลผสมแบบนี้

ธรรมดารัฐบาลแบบนี้จะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลที่สงบเสงี่ยมหน่อยแล้วให้นายกฯ ที่เป็นคนกลางควบคุม

แต่คราวนี้พรรคที่ร่วมรัฐบาลเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูง เขาก็จะใช้สภาวะตรงนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

ถ้าเราสังเกตดู พรรคพลังประชารัฐซึ่งในความเป็นจริงใหญ่ที่สุดในรัฐบาล ก็ต้องคิดว่าตัวเองมีอำนาจกว่าใครและมีโอกาสที่จะสร้างให้พรรคของตัวเองเข้มแข็งมากขึ้น เขาต้องคิดไปในทางนี้

แต่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นซึ่งเป็นพรรคระดับกลางๆ เขาก็คิดว่าตัวเองมีโอกาสที่จะโตขึ้นได้อีก

หรือบางพรรค เช่น ประชาธิปัตย์ที่เล็กลงไปเยอะในการเลือกตั้งหนล่าสุด เขาอาจจะคิดว่าเสียงเขาเสียไปให้กับพรรคพลังประชารัฐมากทั้งในภาคใต้และกรุงเทพฯ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลเสียหายเมื่อไหร่ไม่รู้ เมื่อรัฐได้รับความนิยมน้อยลง เสียงมันก็น่าจะกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

นี่คือมุมมองที่ ปชป.อาจจะมองการร่วมรัฐบาลอยู่แบบนี้ในสภาพนี้ เขาเองก็ต้องพยายามสร้างคะแนนนิยมกลับมาให้มากที่สุด

เลยต้องมีการแสดงบทบาท ทำนโยบายตัวเอง ชิงการนำ ต่างคนต่างแข่งขันกัน ชิงดีชิงเด่น ชิงไหวพริบกัน

สภาพแบบนี้เลยมีให้เห็นและมันคงจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อมองต่อไปว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ได้นานหรือเปล่า

การที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมมีพรรคร่วมรัฐบาลอยู่หลายพรรค มันจะล้มไปได้ก็ต่อเมื่อมีการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือว่ามีเสียงแตกกันอย่างมากในพรรคร่วม

ที่สำคัญคือ หากว่ามีการแสดงบทบาทในสภา คือ ยกมือไปคนละทิศละทาง รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้

ถามว่า เราจะเจอสภาพนั้นมาถึงอย่างเร็วไหม

จากปัจจัยที่เขาไม่ได้เป็นรัฐบาลกันมานานหลายปี แล้วก็ยังเหนื่อยมาจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอยู่ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะคิดว่าถ้าเลือกตั้งเร็วๆ นี้เขาจะได้เสียงมากขึ้น

แน่นอนว่าเขาก็คงจะยังไม่อยากเลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งกันก็จะเกิดมากขึ้นแล้วจะส่งผลให้การแก้ไขประเทศได้ไม่ดี แต่จะถึงขั้นแยกทางกัน ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือปล่อยให้แตกกันจนถึงขั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้ มันคงจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรอก

ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะมีแต้มต่อรองน้อยกว่าหรือไม่ คิดว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคิดว่า พปชร. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เขามีอำนาจในการตัดสินใจอะไรได้ในการใช้งบประมาณกลาง การดูแลงบฯ เขาก็เป็นผู้ที่มีแต้มต่อกว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องยอมไปเสียหมดทุกอย่าง

อีกประการก็คือสภาวะเช่นนี้เขาต้องพยายามมองหา “งูเห่า” ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้พรรคฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำ เขาคงเฝ้ามองดูอยู่ด้วยใจภาวนาว่าพรรคฝ่ายค้านพรรคไหนจะมีอันเป็นไป อยากจะดึงงูเห่ามาอยู่ร่วมกับรัฐบาลได้

ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี ทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายพรรคมาเลย แค่งดออกเสียงไม่มาประชุม มีความสัมพันธ์ผูกกับรัฐบาล

ผมเข้าใจว่าเขาพยายามทำแบบนี้อยู่อย่างจริงจังและพยายามทำมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ความกังวลว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะแตกไปเขาอาจจะไม่ได้กังวลมาก

วิเคราะห์ฝ่ายค้าน

บางพรรคต้องเจอมรสุมหรือปัญหาจากเครื่องจักรสังหาร-กลไกในการสังหารของรัฐธรรมนูญอันนี้ที่เป็นลักษณะประจำตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับระบบที่เขาสร้างขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจ

ใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มนี้ก็จะถูกจัดการ บางส่วนจะถูกกลไกตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนการจะทำให้อ่อนแอลงด้วยการดึงตัวดึงงูเห่าอันนี้เขาคงจะพยายามทำไปเรื่อยๆ และจะทำมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เปิดสภามาก็มองว่าบทบาทการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านทำหน้าที่ในสภาประชาชนก็ได้เห็น ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร

อาจจะมีบางส่วนบางเรื่องที่เพลี่ยงพล้ำเสียหายไปบ้าง แต่ว่าโดยรวมๆ แล้ว ทิศทางการเมืองฝ่ายค้านไม่ใช่ว่าจะแย่ไปเลยทีเดียว

การพยายามเข้ามาจัดการเข้ามาแทรกแซง เข้ามาใช้วิชามารก็ต้องมองว่าฝ่ายรัฐบาลเขาก็พยายามทำและได้เปรียบอยู่

ซึ่งถ้าฝ่ายค้านไม่เข้มแข็งพอหรือจัดเจนในทางการเมือง โอกาสที่จะถูกทำลาย หรือทำให้เสื่อมลงไปมีสูง

แต่ถ้าฝ่ายค้านทำตัวเองให้เข้มแข็ง ชัดเจนว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้ ทำหน้าที่ได้ดี การจะเข้าไปแทรกแซง-ดึงคน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะยังไงแล้ว “นักการเมืองก็กลัวประชาชน”

ประเมินผลกระทบเมื่อประยุทธ์บอกจะอยู่ยาว

การอยู่ยาวเป็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์-คณะและผู้ที่ออกแบบระบบอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่เขาจะกล้าพูดออกมา

ส่วนที่ว่าอยู่ยาวแล้วจะเป็นอย่างไร มันก็จะเป็นตามที่ได้เคยวิเคราะห์ไปบ้างแล้ว ในตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็ดีตั้งรัฐบาลก็ดีว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้การแก้ปัญหาของประเทศไม่ตอบโจทย์

ที่ผ่านมาในช่วง 5 ปี จนต่อเนื่องทำงานมาระยะหนึ่งจะเห็นว่าไม่มีความหวังอะไรเลยที่ พล.อ.ประยุทธ์กับรัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศ และทำให้ประเทศพ้นจากวิกฤตแล้วจะพัฒนาไปได้

“เศรษฐกิจ” จะเป็นปัญหามากที่สุด ผมเชื่อว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งอยู่นานไปปัญหาเศรษฐกิจจะยิ่งหนักมากขึ้นและก็จะเสียหายกันอีกยาว เสียหายกันทั้งประเทศแน่นอน

ผมไม่ได้พูดจากการวิเคราะห์เชิงระบบเพียงอย่างเดียว แต่เวลานี้สามารถดูได้จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสิ่งที่เกิดขึ้น

ส่วนระบบราชการ จะมีความเข้มแข็งขึ้นหรือมีบทบาทมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ มองว่าระบบราชการจะได้รับการส่งเสริมในด้านต่างๆ มากขึ้น การกระจายอำนาจน้อย เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์กับคณะของเขา มีอำนาจขึ้นมาได้ด้วยการอาศัยระบบราชการส่งเสริมให้เข้มแข็ง มันถูกพิสูจน์มาแล้วด้วยว่าเขาไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอะไร

เพราะฉะนั้น “รัฐราชการ” จะยังคงจะเป็นวิธีการสำคัญ ในการคงอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อ แล้วถ้าถามต่อว่าแล้วภาคประชาชนจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ หรือไม่ แม้ว่าภาคประชาชนไม่ได้รับการส่งเสริมเลย ซ้ำยังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพหลายๆ อย่างจากตัวกฎหมาย-ประกาศ-คำสั่ง

แต่ในขณะเดียวกัน จากความเดือดร้อนมากขึ้นนี้เองได้ทำให้ประชาชนเรียนรู้มากขึ้น

พปชร.จะแข็งแรงขึ้นหรือไม่จากการอยู่ยาวนี้ ?

นับจากตอนหาเสียงเลือกตั้ง เขามีกลไกมีอำนาจต่างๆ ในการสนับสนุนที่สำคัญมีการใช้งบประมาณแผ่นดินโครงการของรัฐบาลในการหาเสียงให้โครงการที่มีชื่อเดียวกับพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียง แล้วก็สัญญาไปข้างหน้า ลักษณะสัญญาว่าจะให้

พอเลือกตั้งเสร็จมีการให้เงินสวัสดิการให้ค่าต่างๆ ต่อเนื่องมา รวมทั้งมีโครงการในลักษณะแจกแหลก มันก็จะทำให้คนส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ที่เสพติด ชอบแบบนี้ และกลายเป็นฐานเสียงของพรรคในที่สุด

ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มีความคิดหรืออุดมการณ์หรือแม้แต่นโยบายร่วมกันมาก่อนอย่างชัดเจน มันยังเป็นลักษณะค่อนข้างต่างคนต่างเดิน เราจะสังเกตได้ตั้งแต่คุณประยุทธ์เขาก็จะไปทางหนึ่ง คุณสมคิดก็ยังพยายามเข้าๆ ออกๆ ชักเข้าชักออกบางช่วงก็บอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ได้รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจแล้ว

บางช่วงก็จะเหมือนว่ามาพูดเรื่องเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอัน

ขณะที่นายกฯ พูดตรงๆ เลยว่า ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีแนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายของตัวเองอย่างเป็นระบบ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้

ยิ่งพอนายกฯ บอกว่าตัวเองมารับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจโดยที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจเลย ไม่สามารถที่จะบอกได้เลยว่านโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของประเทศนี้ คืออะไร พล.อ.ประยุทธ์จะใช้วิธีพูดแบบใช้ Common Sense ไปวันๆ นึกอะไรได้ก็พูดแล้วพูดผิดก็จะพูดเผื่อๆ ไว้บ้าง

เช่น บอกจะไปทางซ้าย คนฟังก็จะดูว่าใช่หรือเปล่า แกก็จะกลับมาทางขวานิดหน่อย แล้วก็นึกอะไรได้ก็พูด เช่น ให้เด็กกินนมจากแม่วัวที่โรงเรียน

อย่างนี้ความเชื่อมั่นมันก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะไปคนละทิศคนละทาง ไม่มีใครมาบูรณาการให้มันไปทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น รัฐบาลมีโอกาสล้มเหลวสูง

แล้วความนิยมต่อพรรคร่วมรัฐบาลและตัวรัฐบาลเองจะเสื่อมลงเป็นลำดับไป

ชมคลิปสัมภาษณ์