เศรษฐกิจ /ผลพวงทีมเศรษฐกิจไร้เอกภาพ คลังอัด 6 แสนล้านกระตุ้นขาเดียว ‘จีดีพี’ โงไม่ขึ้น…อาการยังสะลึมสะลือ

เศรษฐกิจ

ผลพวงทีมเศรษฐกิจไร้เอกภาพ

คลังอัด 6 แสนล้านกระตุ้นขาเดียว

‘จีดีพี’ โงไม่ขึ้น…อาการยังสะลึมสะลือ

ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 จากสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนพบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โตได้เพียง 2.4% ดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่แย่กว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.8%
ที่น่าตกใจคือ สศช.ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2562 ลงอีก โตเพียง 2.6% จากคาดการณ์ครั้งก่อนประเมินว่าจะโต 3% หากเป็นจริงตามคาดการณ์ครั้งใหม่ เท่ากับเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากปี 2561
ว่าจะโตเพียง 2.6% ลดลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อนว่าจะโต 3% ถ้าตัวเลขออกมาอย่างนี้จริงจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากในปี 2561 โต 4.1%, ในปี 2560 โต 4.0%, ปี 2559 โต 3.4%, ปี 2558 โต 3.1% โดยในปี 2557 โต 1% (ช่วงมีปัญหาการเมือง) ส่วนในปี 2563 คาดว่าจะโต 3.2%
ตัวเลขเป้าหมายเศรษฐกิจปีนี้ปรับลดลงมาโดยตลอด จากต้นปีมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะโตถึง 4% แต่จากภาวะสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนเอกชนไม่ฟื้นตัว
ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ถูกปรับลดลงทุกครั้งที่มีการประเมินทุก 3 เดือน

ถ้าดูจากตัวเลขจีดีพีล่าสุดและนำมาตัดเกรดทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ในฐานะครูที่ใจดีหน่อย เห็นแก่เด็กนักเรียนที่ขยันออกแพ็กเกจกระตุ้นไม่เว้นแต่ละเดือน แต่แพ็กเกจยังไม่สัมฤทธิผลมากนัก ตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ออกมาไม่เป็นดังคาดการณ์ที่ตั้งไว้ โต 3% ก็คงให้คะแนนแค่ผ่านคาบเส้นเท่านั้น!
ก่อนหน้านี้ สศช.เคยประเมินว่าในไตรมาส 3 ควรจะโต 2.7% แต่ตัวเลขจริงที่ออกมาต่ำกว่าหลายจุด
จนเป็นที่มาของการเรียกร้องจากภาคเอกชน ให้ตั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
แม้จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจอยู่บ่อยๆ แต่การทำงานของ ครม.เศรษฐกิจยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้
หลายครั้งของการประชุม จะเห็นภาพรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจบางคนโดดประชุม อ้างว่าติดภารกิจ ทำให้การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ
จนเป็นที่มาข้อสงสัยถึงความร้าวฉานของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้

ความร้าวฉานระหว่างทีมเศรษฐกิจเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ ต้องแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจให้พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่เคยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. เหลือแค่เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ไม่ได้นั่งว่าการกระทรวงไหน จนมีวลีติดปากเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ “ให้ไปถามคนอื่น ผมไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”
กระทั่งล่าสุด เริ่มมีเสียงบ่นจาก “สมคิด” ในระหว่างเป็นประธานการประชุมการรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อม สำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) ที่กระทรวงการคลัง โดยมี “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นลูกคู่ ติติงการทำหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โควต้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลอยู่ ว่าไม่ช่วยคิดแพ็กเกจเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเหมือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการ
“เครื่องยนต์ทุกตัวต้องเดินไปด้วยกันข้างหน้า แต่ละกระทรวงมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังไม่สามารถไปทำเรื่องส่งออก เพราะไม่ใช่หน้าที่ กระทรวงการคลังทำได้เฉพาะสิ่งที่อยู่ภายใต้ขอบเขต ส่วนเรื่องอื่น เจ้ากระทรวงอื่นต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ขณะนี้กระทรวงการคลังดูแลมาตรการกระตุ้นขาเดียว จากเมื่อก่อนมี 4 ขา แต่เดี๋ยวนี้มีขาเดียวจะให้ทำยังไง”
เป็นเสียงบ่นที่เกิดขึ้น ตามหลังจากนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้เฟซบุ๊กไลฟ์การเดินสำรวจตลาดนัดเขาลำปะ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กระแซะถึงภาวะเศรษฐกิจแย่ ชาวบ้านเรียกร้องให้แก้ไขราคาพืชผลทางการเกษตร นำเรื่องประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาดำเนินการเพิ่ม
และยังพูดยาวไปถึงรัฐบาล คสช. 5 ปีที่ผ่านมายังแก้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ให้ทหารมาเป็นหัวหน้าเศรษฐกิจ ผิดฝาผิดตัว ยิ่งกระทรวงเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง ไม่เป็นเอกภาพ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจย่อมมีปัญหา

แพ็กเกจกระตุ้นของรัฐบาลชุดนี้ส่วนใหญ่เน้นกระตุ้นการบริโภค เติมเงินให้คนจน และเกษตรกร เน้นหนักในการทำงานของกระทรวงการคลัง โดย “สมคิด” เดินทางมายังกระทรวงการคลังเพื่อบี้การทำงานข้าราชการเป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์
“ชิมช้อปใช้” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่น โดยออกมาแล้วถึง 3 เฟสในระยะเวลาแค่ 2-3 เดือน ล่าสุดตัวเงินจากชิมช้อปใช้ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยังห่างเป้าที่กระทรวงการคลังอยากเห็น 5-6 หมื่นล้านบาทอีกหลายเท่าตัว
ส่วนวงเงินจากมาตรการกระตุ้น 4.6 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังผลักดันให้ออกมา 3 รอบ ตั้งแต่สิงหาคม-พฤศจิกายน น่าจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ถึงครึ่ง
มาตรการแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 2 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อผ่านแบงก์รัฐ เช่น มาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง, พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน, มาตรการสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีและมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ยังไม่มีรายงานตัวเลขว่าปล่อยสินเชื่อไปเท่าไหร่ จะมีแค่ชิมช้อปใช้ที่ให้ลงทะเบียน 10 ล้านคน เพื่อรับแจกเงินคนละ 1 พันบาท วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เงินดังกล่าวถูกใช้หมดไปแล้ว
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ออกมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ประกอบด้วย ชิมช้อปใช้เฟส 2 เพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียนอีก 3 ล้านคน และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% รวมถึงสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ล่าสุดปล่อยกู้ไปได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
สำหรับมาตรการเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ชิมช้อปใช้เฟส 3 เพิ่มคนลงทะเบียนอีก 2 ล้านคน นอกจากนี้ ยังเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 1 แสนล้านบาท
ซึ่งการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจยังไม่เห็นผลนัก เพราะต้องรอกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ล่าสุดมีมาตรการกระตุ้นผ่าน ครม.สดๆร้อนๆ เมื่อ 26 พฤศจิกายน วงเงินรวมเกือบ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งการพักหนี้ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป้าหมาย 5 หมื่นล้านบาท แจกเงินให้กองทุนหมู่บ้าน แห่งละ 2 แสนบาทวงเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนโครงการขนาดเล็ก
รวมถึงแจกเงินค่าเกี่ยวข้าว-เพาะปลูกเพิ่มเติมให้ชาวนาวงเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท แจกเงินดาวน์บ้าน 5 หมื่นบาทให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทจำนวน 1 แสนราย ใช้เงินจากรัฐ 5 พันล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท
เท่ากับว่าในช่วง 4 เดือนนับจากรัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม อัดฉีดเม็ดเงินเฉพาะจากกระทรวงการคลังไปแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท
ตรงนี้ยังไม่รวมประกันราคาข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ และยังไม่รวมกับโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวของพรรคภูมิใจไทย
หากเกิดดรีมทีมเศรษฐกิจได้จริง อาจไม่ต้องใช้เงินสูงขนาดนี้ถมเข้าไปในระบบ เพื่อประคองให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้า