ทราย เจริญปุระ | “สายตา” ที่ยังแผดเผา

ตอนนี้ฉันเหมือนเพิ่งรู้สึกถึงความตายของแม่

ทีแรกฉันคิดว่าฉันโอเคมาก รับมือได้ ไหวแหละ

แต่ตอนนี้ก็ร้องไห้บ่อย และเวลาใครถาม หรือเมื่อฉันพูดถึงแม่ ก็ยังต้องร้องไห้ทุกครั้ง

ฉันชินกับการมีแม่คอยสั่งคอยถาม จะเอาแต่เผลอคิดตลอด เวลาไปทำงาน ไปเจอใคร หรือไปที่ไหน ว่าถ้าแม่ยังอยู่แม่จะรู้สึกแบบไหนกับเรื่องต่างๆ แล้วก็จะตกใจที่ตัวเองยังคิด เหมือนต้องรอคำตอบหรือการยืนยันจากแม่

จริงๆ การได้ออกไปทำนั่นนี่ก็ดีแหละ มันก็ยุ่งๆ

แต่พอกลับบ้าน ฉันเอารูปแม่ที่ตั้งหน้าศพมาติดตรงทางขึ้นห้อง เปิดประตูมาเจอทีไรก็จะสะดุ้งในใจทุกที

ต้องเป็นแบบนี้ไปอีกนานไหม

เป็นคนแบบไม่เต็มร้อย

ในกระบวนการรับรู้ถึงความเศร้าความเปลี่ยนแปลงที่ฉันจำได้แบบเลือนรางดูเหมือนจะมีอยู่ 5 ขั้นตอนที่เราจะต้องผ่าน

เริ่มจากโกรธ ไม่ยอมรับรู้ ไปจนถึงเข้าใจความจริงนั้นในที่สุด

แต่เอาจริงๆ ฉันก็ไม่รู้ว่า “เข้าใจ” นั้นคือเข้าใจแบบไหน

“เราถูกทอดทิ้งไว้กับสัญชาตญาณความเคยชิน คุณเอื้อมมือไปหยิบแก้วที่ไม่มีอยู่จริง มือของคุณคว้าอากาศที่ว่างเปล่า คุณก้าวลงบันไดแต่ขั้นบันไดหายไป และคุณเหยียบพลาดไปยังพื้นที่โล่ง ความรู้สึกโศกเศร้าเป็นชั่วขณะที่ชะงักงัน เมื่อคุณล้วงหยิบกุญแจในกระเป๋าช่องที่คุณใส่กุญแจเสมอ แต่กลับไม่เจอกุญแจ สิ่งที่คุ้นเคยอย่างยิ่งไม่อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่คนคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่เคยชินจนเป็นนิสัย สิ่งนั้นหายไปแล้ว พอฉันทำแบบนี้จะเกิดแบบนั้น พอฉันพูดอย่างนี้ เธอจะตอบกลับมา พอฉันเอื้อมมือไปหา เธอก็อยู่ตรงนั้น ทว่าตอนนี้เมื่อฉันเอื้อมไป กลับไม่เจอสิ่งใด ไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้น สิ่งที่เคยมีอยู่จริงกลายเป็นสิ่งหลอกลวง”*

มันไม่ใช่เรื่องที่นึกจะพูดก็พูดขึ้นมาได้

ผู้คนพูดกับเราว่าโอเคนะ สบายดีนะ ดีขึ้นแล้วใช่ไหม

แต่ทั้งที่ถามแบบนั้น เรากลับตอบไม่ได้ว่ายัง ฉันยังไม่ดีขึ้น ยังไม่โอเค และยังไม่สบายกายและใจขึ้นมาเป็นห้วงๆ

เขาถามเพื่อให้เราบอกว่าเราดีขึ้นแล้ว ยิ้ม เพื่อจะได้ไปคุยเรื่องอื่นๆ ต่อ

บางทีฉันก็เผลอตอบไปตามจริงว่ายัง มันยังแปลกๆ มันยังไม่ดีขึ้น หรือกระทั่งบอกไปว่าฉันก็ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร

ทุกคนจะทำหน้าแปลกเจื่อน หรือไม่ก็รีบตอบกลับมา ว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้น เธอเข้มแข็งอยู่แล้ว ก่อนจะรีบเปลี่ยนจากหัวข้อสนทนาน่าอึดอัดใจนี้ไปอย่างลุกลน

มันมีกระบวนการของมันอยู่ตามที่หนังสือเล่มนี้บอก

การยอมรับ การลดความคาดหวัง การเลิกตั้งคำถาม “ถ้าวันนั้น…” “ถ้าตอนนั้น…” หรือเรื่องสมมติเพ้อฝันเหล่านี้ เลิกสงสัยในตัวเองหรือโชคชะตา

แต่ไม่มีใครบอกได้ว่ามันต้องใช้เวลาแค่ไหน หนึ่งปี สามปี ห้าปี หรือไม่มีวันเป็นไปได้

ยังไงเราก็จะเว้าแหว่งเช่นนี้จนตายตามกันไป

ฉันไม่ได้ดีกับแม่เท่าที่แม่คาดหวัง

แต่ฉันก็ทำมากกว่าที่ฉันคิดว่าตัวเองจะทำได้

ความสัมพันธ์ในช่วงหลังของเราทั้งเย็นชาและเดือดระอุคุกรุ่นในอารมณ์ เราเบื่อ เราเหนื่อย เราล้า เราสนทนากันดีๆ ไม่ได้ และมักจะจบด้วยหยดน้ำตาหรือการลงไม้ลงมือกัน, จริงๆ จะบอกว่า “ลงไม้ลงมือกัน” ก็ไม่ใช่หรอก เพราะมันคือฉันฝ่ายเดียวที่โดน

ฉันรู้ว่าแม่ป่วย แต่ความรู้เช่นนี้ก็ไม่ช่วยอะไรในวันที่เราเจ็บตัวจนต้องมานั่งทายา หรือร้องไห้จากการถูกลำเลิกเบิกประจาน ขุดทุกเรื่องมาวางแบแผ่ตรงหน้า

ฉันรู้ว่าแม่ไม่เป็นสุข ไม่เคยทำใจได้ และไม่มีวันทำใจได้ว่าในโลกนี้มีเรื่องที่แม่จะไม่ได้อย่างใจ

สังขารจะไม่เป็นไปตามความต้องการของแม่

และทุกการเรียกร้องจะไม่ได้รับการตอบสนอง

ฉันรู้ว่าแม่ทรมานกับความไม่ได้ดั่งใจนี้

และฉันก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร

ไม่อยากช่วย

เพราะในที่สุดแล้ว แม่ก็ต้องเผชิญกับความจริงด้วยตัวแม่เองสักครั้ง

แม้จะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตายก็ตาม

ตอนนี้ฉันรู้ว่าแม่ตาย

มันเป็นความเศร้าที่ไม่แปลกใหม่ ไม่ใจหาย ไม่ปุบปับ

แต่มันเป็นความโล่งใจ

โล่งใจว่าฉันจะไม่ต้องถูกผูกห้อยไว้กับแม่ไปจนสิ้นอายุขัย ไม่ต้องเผชิญกับสายตาแม่เวลาฉันขอตัวไปทำงาน ไม่ต้องแกะนิ้วมือที่กุมเกร็งอยู่รอบแขนฉันตอนฉันบอกว่าฉันออกไปจากห้องแม่ละนะ

ไม่ต้องรู้สึกผิดต่อหน้าสายตากล่าวโทษของแม่

แต่เอาเข้าจริงรู้สึกไม่หายแม้ตัวแม่จะตายไปแล้ว

ความรู้สึกนี้กลับเข้มข้นกว่าสายตาจริงของแม่เสียอีก

การกล่าวโทษ ความโกรธเคือง

และการถูกจองจำไว้กับความพยาบาทบางประการ ผ่านทุกความพร่าเลือนในสมองของแม่

ฉันไม่รู้ว่าแม่รู้ไหมว่าสายตาของแม่นั้นแผดเผา

และทิ้งความร้อนรุมเร้าในใจฉันถึงวันนี้

“วาระสุดท้าย : คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง” เขียนโดย Sallie Tisdale แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม, 2562 โดยสำนักพิมพ์ Bookscape

*ข้อความจากในหนังสือ