เกษียร เตชะพีระ | ระบบนิรนาม (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

คลิกอ่าน เกษียร เตชะพีระ | ระบบนิรนาม ตอนต้น 

ผมเห็นว่า “ระบบนิรนาม” (a nameless system) ซึ่งขาดฐานความชอบธรรมในตัวมันเอง หรือระบอบ คสช. ที่ไม่มี คสช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” พ.ศ.2560 ในปัจจุบัน กำลังคุกคามมรดกทางการเมืองการปกครองของ 2 การปฏิวัติสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

อันได้แก่ การปฏิวัติรัฐธรรมนูญนิยม พ.ศ.2475 และการปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2516

การปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นการปฏิวัติรัฐธรรมนูญนิยมหรือเสรีนิยม (a constitutionalist or liberal revolution) ในความหมายที่ว่ามันเป็นการปฏิวัติเพื่อจำกัดอำนาจรัฐ (limitation of power) ให้เป็นการปกครองที่มีอำนาจจำกัด (a limited government) ซึ่งตรงข้ามกับการปกครองสัมบูรณาญาสิทธิ์ (an absolutist government)

ดังที่ เบเนเด็ตโต โกรเช (นักประวัติศาสตร์ นักมนุษยนิยมและนักปรัชญาชั้นแนวหน้าของอิตาลี, ค.ศ.1866-1952) นิยามเสรีภาพแบบเสรีนิยมไว้ว่าหมายถึง “การแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์โดยการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ” (อ้างในนอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, ค.ศ.1988, บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า, น.61-62)

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม มันคือการเข้าจำกัดและแทนที่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่อิทธิพลเหนือกฎเกณฑ์ของสังคมการเมือง ด้วยพื้นที่ใต้กฎเกณฑ์ของสังคมการเมือง (ดูคำอธิบายเรื่องนี้ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, พ.ศ.2553, น.26-29)

ส่วนการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย (a democratic revolution) ในความหมายที่ว่ามันเป็นการปฏิวัติเพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชน (distribution of power) ผ่านการปฏิรูปการเลือกตั้งและขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองออกไป (บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, น.1-2, 62) ซึ่งตรงข้ามกับระบอบเผด็จการรวมศูนย์อำนาจ

ดังที่อาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (นักรัฐศาสตร์ชาวไอริชผู้เชี่ยวชาญการเมืองเอเชียอาคเนย์ การเมืองไทยและลัทธิชาตินิยม, ค.ศ.1936-2015) ฟันธงสรุปไว้อย่างกระชับจับใจว่า “… ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) เปรียบเสมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ของสยาม” (“ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคใหม่”, ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา : ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, พ.ศ.2558, น.120)

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม มันคือการเข้าจำกัดและแทนที่พื้นที่รวมศูนย์อำนาจของราชการด้วยพื้นที่กระจายอำนาจของประชาชนนั่นเอง

ทว่ามรดกดอกผลรัฐธรรมนูญนิยมและประชาธิปไตยของการปฏิวัติไทยทั้งสองครั้งกลับกำลังเผชิญหน้ากับระบอบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญของ คสช. พ.ศ.2560 ซึ่ง :

– รับรองค้ำประกันความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาประกาศคำสั่งและกฎหมายที่ออกด้วยอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ของ คสช. และองค์กรเกี่ยวเนื่อง

– ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากยิ่งจนแทบเป็นไปไม่ได้

– ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เสมือนหนึ่งคัดค้านวิจารณ์ไม่ได้ กลายเป็นหมิ่นรัฐธรรมนูญ (“เด็ก พปชร.ยื่นยุบอนาคตใหม่ปมช่อหมิ่นรัฐธรรมนูญ”, 30 ก.ย. 2562, https://www.tnnthailand.com/content/17924)

– สร้างองค์การตามรัฐธรรมนูญที่ค้ำประกันความมั่นคงและต่อเนื่องของระเบียบการเมือง คสช. คอยตรวจจับลงโทษรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ออกนอกกรอบระเบียบนี้ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ผลลัพธ์โดยรวมของมันคือทำให้กฎหมายที่ออกด้วยอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ไร้ขีดจำกัดของ คสช. และองค์กรเกี่ยวเนื่อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญไปโดยถาวร

ก่อเกิดเป็น [ระบอบ คสช. ที่ไม่มี คสช.] ซึ่งมีลักษณะประหนึ่ง [ระบอบเสมือนรัฐธรรมนูญครึ่งใบ] (virtual semi-constitutionalist regime) ในความหมายที่ว่าไม่ได้มีการบังคับใช้มาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อย่างเต็มใบทั่วถึงถ้วนตลอดในทางปฏิบัติ (เช่น มาตรา 161 ว่าด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี) แต่บังคับใช้จริงๆ เพียงครึ่งใบ โดยเฉพาะมาตราทั้งหลายที่เอื้ออำนวยให้กลไกสืบเนื่องจาก คสช. ใช้อำนาจได้อย่างเด็ดขาด (เช่น หมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี/ฝ่ายบริหาร) ทำให้ผลของการจำกัดอำนาจรัฐตามหลักรัฐธรรมนูญนิยมมีแนวโน้มเสมือนจริงมากกว่าเป็นจริง (virtual rather than actual)

โดยระบอบดังกล่าวมีลักษณะเด่นๆ คือ :

– การไม่ได้สัดส่วนกันของอำนาจกับความพร้อมรับผิดทางการเมือง (the disproportion between power and political accountability) ในระบอบการเมือง กล่าวคือ ฝ่ายบริหารเสมือนมีอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์โดยไม่ต้องพร้อมรับผิดในทางปฏิบัติจริง

– ทำให้อำนาจ คสช.กลายเป็นแบบแผนสถาบัน (institutionalization of NCPO powers)

– ทำให้อำนาจพิเศษในสภาวะยกเว้นกลายเป็นภาวะปกติธรรมดา (the normalization of the state of exception)

– อำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ไร้ขีดจำกัดจึงกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

– สามารถนำเข้าชิ้นส่วนรายปลีกของรัฐอุปถัมภ์โบราณ – ซึ่งไม่จำแนกเขตอำนาจสาธารณะออกจากเขตอำนาจเอกชน – เข้ามาได้ทางประตูหลัง ดังคำนิยามของแมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาเยอรมัน ค.ศ.1864-1920 เกี่ยวกับ the patrimonial state ที่ว่า “lacking above all the bureaucratic separation of the “private” and the “official” sphere” (อ้างจาก Max Weber, Economy and Society: An Outline of Interpretive Sociology Volume 2, 1978, p. 1028)

– บ่อนเบียนเบียดขับทั้งพื้นที่ใต้กฎเกณฑ์ของสังคมการเมือง (อันเป็นมรดกของการปฏิวัติ 2475) และพื้นที่กระจายอำนาจของประชาชน (อันเป็นมรดกของการปฏิวัติ 2516) ให้แคบเล็กหดหายลงไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างล่าสุดของมาตรการพิทักษ์ระบอบเสมือนรัฐธรรมนูญครึ่งใบเมื่อ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่ “กอ.รมน.แจ้งจับ วันนอร์-ธนาธร และพวก 12 คน ขึ้นเวทีปัตตานี ผิด ม.116” (https://www.thairath.co.th/news/politic/1675085) และ “ประวิตรชี้แจงจับแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน เหตุไม่ยับยั้งนักวิชาการ เสนอแก้มาตรา 1” (https://mgronline.com/politics/detail/9620000095646)

มาตรการดังกล่าวนับว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “นิติยุทธ” (the strategy of lawfare) ในระดับสากล

คำว่า “lawfare” (นิติยุทธ) ปรากฏขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเพิ่งถูกรื้อฟื้นกลับมาใช้เมื่อปี ค.ศ.1975 ยุทธวิธีนี้มุ่งใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และทุกวันนี้ก็กำลังถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐบาลและเอ็นจีโอต่างๆ เพื่อเป็นวิธีการกดดัน

ดังปรากฏว่าเมื่อ ๗ กันยายนศกนี้ ฌอง-ลุค เมลองชอง หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน “ฝรั่งเศสลุกสู้” (La France insoumise) ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ที่มีผู้ร่วมลงชื่อ 200 คน ประณาม “กระบวนการทางการเมือง” ของฝ่ายผู้กุมอำนาจที่ใช้ “นิติยุทธ” เพื่อ “ขจัดคู่แข่ง” แถลงการณ์นิยาม “นิติยุทธ” ว่าเป็น “ยุทธวิธีที่ใช้กระบวนการยุติธรรมมาล้อมกรอบการโต้แย้งกันทางการเมืองให้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น”

อนึ่ง แนวคิด “นิติยุทธ” นี้มาจากศัพท์ทางการทหาร และมีความเป็นมาซับซ้อน มันบัญญัติขึ้นโดยหดย่อและประกบคำว่า law เข้ากับคำว่า warfare กลายเป็น -> lawfare

อาเดรียง เอสแตฟ นักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ศัพท์บัญญัติ “นิติยุทธ” นี้หมายถึง “การใช้กฎหมายในเชิงยุทธศาสตร์โดยผู้กระทำการในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันภารกิจหนึ่งๆ ให้ก้าวหน้าไป หรือเพื่อให้ได้เปรียบคู่ต่อสู้ทั้งหลาย”

(ดูเพิ่มเติมในหนังสือ Guerres et conflits armes au XXIe si?cle, 2018)