ละเมิดลิขสิทธิ์ VS กรรโชกทรัพย์ | มนัส สัตยารักษ์

ไม่ได้พูดถึงเรื่องตำรวจมานาน ดูเหมือนตั้งแต่มี “เลือกตั้ง 2562” นั่นแหละ ทั้งนี้ คงเพราะเรื่องการเมืองก็น่าสนใจกว่าเรื่องตำรวจ เรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องอนาคตใกล้ตัวมากกว่าเรื่องปฏิรูปตำรวจ เรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ชวนตื่นเต้นน่าอกสั่นขวัญหายและเกี่ยวข้องกับประชาชนไม่น้อยกว่าเรื่องของตำรวจตั้งด่าน

ก็เพิ่งจะมีเรื่องตำรวจโคราชจับกุมเด็กผู้หญิงอายุ 15 ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา (กระทงมีรูปการ์ตูน) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นี่แหละที่ทำให้ต้องหันมา “ส่อง” เรื่องตำรวจกันอีกที

ตำรวจเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มเป็นข่าวโดยที่ยังไม่ทันได้มีรายละเอียดของพฤติการณ์สักเท่าไร …ทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นปัญญาอ่อนๆ เป็นของกลางที่เป็นเพียงขยะในวันลอยกระทง ผู้ต้องหาเป็นเพียงเด็กที่ช่วยครอบครัวหารายได้พิเศษ และที่ทำให้รู้สึกเสียเปรียบอย่างมากก็คือภาพของผู้กล่าวหากับภาพของ ผกก.ตำรวจโคราช

ผู้กล่าวหาไว้หนวดเคราสไตล์เดียวกับนักรบ “ไอเอส” ส่วนหัวหน้าตำรวจโคราชนั้น ผมไม่อยากวิจารณ์เอง ขอสำเนาบางคอมเมนต์ในสื่อโซเชียลมาก็แล้วกัน…

“คงได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี อ้วนจนหัวหลิมเชียว” นักเลงคีย์บอร์ดว่าอย่างนั้น

ผมเป็นตำรวจที่ไม่เคยทำคดีละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นนักเขียนที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์อย่างน้อยก็ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งเรื่องสั้นของผมถูกนำไปตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชื่อใหญ่โตมโหฬาร “รวมเรื่องสั้นของชาติไทย” (หรืออะไรที่ขลังๆ ทำนองนี้แหละ) เรื่องสั้นของผมได้ถูกตีพิมพ์รวมกับเรื่องสั้นของ ม.จ.อากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ กับเรื่องสั้นของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ทำให้ผม “ตัวพอง” เสียจนลืมเรื่องถูกละเมิด (ฮา)

เรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ “ตายเลือดเย็น” ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ออกฉายทั่วประเทศ ผมมาทราบภายหลังจากที่ลูกชายบังเอิญไปดูซีดีมาเล่าให้ฟัง

ทั้งสองเรื่องสั้นที่ถูกละเมิดนี้ผมคงเขียนในระหว่างปี พ.ศ.2512 หรือหลังจากนั้นไม่นาน มันมาถูกละเมิดเมื่อเวลาผ่านมากว่าสิบปี มันอาจจะถูกละเมิดในช่วงเวลาที่ผมไม่ฟิตหรือมีงานราชการสุมหัวจนไม่สนใจเรื่องถูกละเมิด แล้วจะมาฟิตหรือมาขยันเอาตอนอายุ 70-80 ก็ดูกระไรอยู่

ความจริงผมเคยคิด (อย่างไม่จริงจังนัก) ว่า จะให้ทนายความดำเนินการฟ้องร้องเป็นตัวอย่าง แต่แล้วก็ไม่สนใจจริงจังเสียจนลืม ก็ได้แต่เอามาเขียนเล่าในคอลัมน์นี้ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1750 วันที่ 28 ก.พ.-5 มี.ค. 2557)

มาถึงวันนี้พบข่าวตำรวจจับกุม “ละเมิดลิขสิทธิ์” คนแจ้งให้จับอ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ และเรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท แต่ตำรวจช่วยต่อรองให้ จ่ายกันที่ 5,000 บาท

อ่านข่าวแล้วรู้สึกพิกล และอดคิดไม่ได้ว่าตำรวจวันนี้มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลแฮะ!

หลังจากนั้นเพียงวันเดียวก็ “คดีพลิก” ไปอย่างที่ใครต่อใครคาดไว้ เมื่อ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ลงไปสอบสวนด้วยตนเอง ผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นผู้เสียหาย ผู้กล่าวหากลายเป็นผู้ต้องหากรรโชกทรัพย์ นอกจากคดีพลิกแล้วยังบานปลายไปสู่ท้องที่ต่างๆ มากมาย ผู้เสียหายจำนวนไม่น้อยแห่กันไปแจ้งความดำเนินคดีย้อนหลัง

รายละเอียดปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียลแล้ว

คดีพลิกเพราะข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานฟังได้ว่าเป็นการ “ล่อซื้อ” จากฝ่ายผู้กล่าวหา (ซึ่งอาจจะได้รับความร่วมมือจากตำรวจ) ทั้งนี้ อาศัยจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้ทรชนหลอกล่อประชาชนให้ผลิตงานที่ดูเหมือนละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วล่อซื้อมาเพื่อข่มขู่และกรรโชกทรัพย์

มีปราฏการณ์หนึ่งที่คาดไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น นั่นคือ ทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.คเชนทร์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ไปช่วยราชการ ศปก.ภาค 3 เป็นเวลา 30 วัน

สื่อส่วนใหญ่ (ทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียล) มักจะใช้คำว่า “เด้ง” ในความหมายของปรากฏการณ์นี้ และดูเหมือนว่าคำนี้ทั้งถูกใจและไม่ถูกใจผู้เสพสื่อ เพราะผู้เสพต่างก็แปลคำนี้ไปตามอัตวิสัยของตนเอง

คนที่หวังจะได้เห็น ผกก.โคราช ถูกลงโทษหนักกว่าถูกย้ายก็จะไม่พอใจที่แค่ถูกเด้ง ในความเห็นของเขาเห็นว่าควรดำเนินคดีเอาผิดทางอาญา หรือให้ออกจากราชการ

คนที่แปลว่าเด้งคือ “ย้าย” ก็รู้สึกว่าการเด้งผิดหลักการบริหาร เหมือนเอาข้าราชการเน่าเสียไปให้ประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย

บางคนไม่ทราบว่าหน่วยเหนือระดับใดถึงจะมีอำนาจเด้ง ผกก.ได้ ก็จะตั้งข้อสงสัยไปต่างๆ นานา อย่างกรณีที่จังหวัดนครราชสีมานี้ ก็มีผู้กังขาว่าทำไมไม่มีความเคลื่อนไหวของผู้บังคับบัญชาตำรวจระดับจังหวัด แล้วก็สงสัยว่าในอำเภออื่นๆ ของจังหวัดน่าจะมีเหตุเลวร้ายแบบเดียวกับที่อำเภอเมืองกระมัง?

จริงๆ แล้วการเด้งทำนองนี้เป็นแค่มาตรการชั่วคราว เพื่อความ “โปร่งใส” ในอันที่จะดำเนินการต่อไป เป็นการป้องกันการข่มขู่ คุกคาม หรือครอบงำพยาน กับเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเด้งและคู่กรณี เพราะเราต้องตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่าใครทำผิดและผิดอะไรบ้าง

ขอบคุณสื่อทุกช่องทางที่กระจายข่าว “ละเมิดลิขสิทธิ์” ขอบคุณ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ที่พลิกคดีได้ทันเวลา ทำให้เกิดการตื่นตัวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบว่า “ความจริง” เป็นอย่างไร

ขอบคุณอดีตผู้ต้องหาที่เปลี่ยน “บท” มาเล่นเป็นผู้กล่าวหา ทำให้เราได้รู้ว่าไม่เพียงแต่กระทงเท่านั้นที่ถูกอ้างเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” แต่ยังมีสินค้าตัวอื่นที่ถูกอ้างจากทรชนด้วย เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ก็มีแก้วน้ำ ซองใส่มือถือ และกระเป๋า และหวังว่าสื่อจะติดตามขุดคุ้ยออกมาเปิดเผยให้ชาวบ้านได้ระมัดระวังตัวไว้ล่วงหน้าต่อไป

และไม่เพียงแต่ที่ “โคราช” เท่านั้นที่ทรชนทำมาหากินในแนวนี้ แต่มีชุกชุมที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดราชบุรีอีกด้วย ถ้าให้ผมเดาผมก็จะเดาว่ามีทุกจังหวัดทั่วประเทศ!

ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราฎร หรือ ส.ส. ที่เป็นผู้นำราษฎรที่เคยตกเป็นเหยื่อและถูกกรรโชกทรัพย์ไปร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและเรียกคืนค่าเสียหาย

สุดท้ายขอขอบคุณท่าน ส.ส.ที่ทำให้เกิดไอเดียที่จะแนะนำ “ท่านผู้แทนฯ” ให้ได้ทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรงตามชื่อเสียที