วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /เพราะเป็นภาษาไทย คนไทยอ่านมากกว่าภาษาอังกฤษ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เพราะเป็นภาษาไทย
คนไทยอ่านมากกว่าภาษาอังกฤษ

เรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีหมิ่นประมาทที่ลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ตัวโจทก์กับจำเลยโดยตรงส่วนมากมักเป็นนักการเมืองที่กล่าวหาต่อกัน ขณะโจกท์เป็นนักการเมือง บางคนมักไม่ฟ้องเอากับจำเลยที่เป็นบรรณาธิการตามกฎหมาย ดังกล่าวถึงไปแล้ว ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ
ขณะที่โจทก์บางคนฟ้องจำเลยและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ด้วย
โจทก์ที่เป็นนักการเมืองบางคน เมื่อถึงนัดจำเลยคือบรรณาธิการให้การเสร็จแล้ว มักถอนฟ้องบรรณาธิการ ด้วยเหตุผลว่าต้องการคำให้การจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ว่ามีการตีพิมพ์ข้อความที่ฟ้องเป็นหมิ่นประมาทนั้นจริง ส่วนจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ ตัวบรรณาธิการมักปฏิเสธว่าไม่เป็นหมิ่นประมาท โดยยกข้อความในข้อยกเว้นว่า ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
แต่กับโจทก์บางคนที่เป็นนักการเมืองไม่ถอนฟ้องทั้งจำเลยที่เป็นคู่กรณีและจำเลยที่เป็นบรรณาธิการด้วยต้องการให้จำเลยที่เป็นบรรณาธิการลงข้อความตามที่โจทก์ต้องการในหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ข่าวหรือข้อความนั้นทั้งฉบับที่จำเลยเป็นบรรณาธิการและฉบับอื่นอีกหลายฉบับ ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าลงแจ้งความ เป็นเงื่อนไขการถอนฟ้อง

หนังสือ “กฎหมายสื่อสารมวลชน” แต่เดิมคือ “กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน” ของรองศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 18 แก้ไขเพิ่มเติม บทที่ 3 สื่อสารมวลชนกับความรับผิดชอบต่อชื่อเสียง การละเมิด การละเมิดอำนาจศาล การคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน และผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีความตอนหนึ่งว่า
ภารกิจสำคัญของสื่อสารมวลชนคือ การแยกแยะเนื้อหาสาระว่าอะไรจริงอะไรเท็จ จริยธรรมของสื่อมวลชนคือการเคารพความจริงและการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นจากข้อมูลที่เป็นจริง หากสื่อมวลชนฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายทำให้บุคคลใดเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอาจได้รับโทษ
โทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 326 (ขณะนั้น) คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในหนังสือเล่มดังกล่าวยังอธิบายความผิดฐานหมิ่นประมาทมีหลักอยู่ว่า “ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท” ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยตรง คือ
สื่อมวลชนมีสิทธิในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และมีเสรีภาพเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ บางครั้งได้เสนอข่าวเชิงลึกเปิดเผยพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนส่อว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉ้อฉลพลิกแพลง หรือข่าวนักธุรกิจมีชื่อบางคนตกแต่งบัญชีของบริษัทมหาชน หรือเรื่องอื่นใดที่กระทบหรือเกิดความเสียหายอย่างใดแก่ผลประโยชน์ของชาติ หรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย
ถ้าบุคคลหรือองค์กรนิติบุคคลตกเป็นข่าวจะได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายอย่างใดนั้น ผู้นั้นย่อมใช้สิทธิทางกฎหมายฟ้องสื่อมวลชนเป็นจำเลยทั้งแพ่งและอาญา เช่น ฟ้องคดีอาญาให้รับโทษในคดีหมิ่นประมาท และฟ้องทางแพ่งฐานละเมิด ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท สื่อมวลชนจึงมีภาระในการพิสูจน์เรื่องราวที่ได้เสนอข่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่
กฎหมายอาญามาตรา 329 เป็นเรื่องกล่าวโดยสุจริตตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 ไม่ถือว่าผู้นั้นมีความผิดฐานหมิ่นประมาท และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 330
บทบัญญัติตามมาตรา 329 จะต่างไปจากมาตรา 330 กล่าวคือ มาตรา 330 ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริงเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม และมิใช่ใส่ความในเรื่องส่วนตัว เมื่อยกเว้นโทษตามมาตรา 330 แล้วไม่ต้องวินิจฉัยว่า ไม่มีความผิดตามมาตรา 329

ขณะที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญและยกย่องสื่อมวลชนในเรื่องเสรีภาพไว้อย่างกว้างขวางตามรัฐธรรมนูญในบทแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ 1 มีใจความสำคัญว่า
“ห้ามรัฐสภาออกกฎหมายตัดทอนเสรีภาพของหนังสือพิมพ์”
เพราะหนังสือพิมพ์มีความสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บางคดีศาลสูงได้ยืนยันความสำคัญในเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์บางคดีไว้ทำนองว่า
“ตามหลักทั่วไปแล้ว หนังสือพิมพ์ไม่มีหน้าที่อย่างใดเลยที่จะต้องหลีกเลี่ยงการลงข่าวที่จะทำให้บุคคลอื่นเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ หนังสือพิมพ์ย่อมจะมีเอกสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ที่จะลงข่าวใดก็ได้ หรือจะลงข่าวอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบุคคลใดย่อมทำได้ ตราบใดที่ข่าวนั้นเป็นความจริง”

ความผิดในคดีหนึ่ง จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท มีจำเลยที่สองเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงอาญาไว้ย่อมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียน แต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้ลงโฆษณา
จำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติกรรมและเหตุผลแห่งรูปคดีสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป
อีกคดีหนึ่ง เป็นคดีที่กองทัพบกฟ้องหนังสือพิมพ์ในฐานลงข้อความที่แปลมาจากการแถลงของสภาสหรัฐอเมริกา ว่าประเทศไทยยังละเมิดสิทธิมนุษยชน คือการมีทหารพรานไปทำร้ายชาวบ้าน หนังสือพิมพ์และบรรณาธิการที่ถูกฟ้องเป็นฉบับภาษาไทย
เมื่อคดีขึ้นถึงศาล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทยเคยขอให้โจทก์ถอนฟ้อง โจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนจากกองทัพบกยศพลโทชี้แจงว่า เป็นคดีอาญา และตนเป็นผู้แทนกองทัพบกถอนฟ้องไม่ได้ บรรณาธิการบอกว่า ข่าวนี้หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษลงพิมพ์เช่นกัน ทำไม่ไม่ฟ้องหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษด้วย
ผู้แทนจากกองทัพบกตอบว่า หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษคนไทยอ่านน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทย
อ้าว!!! เป็นอย่างนั้นไป
กระนั้นข่าวนี้ ผู้แทนกองทัพบกไม่ติดใจเพียงให้ศาลลงโทษจำเลยเท่านั้น ซึ่งศาลลงโทษรอลงอาญาและปรับ เป็นอันจบคดี ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกาทั้งจำเลยและโจทก์