เรื่องที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้ของ “เจฟฟ์ เบซอส” และ “บิล เกตส์”

“ยืนบนไหล่ยักษ์”

ใครคือคนที่รวยที่สุดในโลกครับ

ไม่ใช่คำถามหลอกใดๆ ครับ

คิดเป็นตัวเงินจริงๆ แล้ว

คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตอนนี้

มีนามว่า “เจฟฟ์ เบซอส”

ชื่ออาจจะไม่คุ้น

แต่ถ้าบอกว่าเขาเป็นคนก่อตั้ง “อเมซอนดอตคอม” เว็บไซต์ขายของออนไลน์เจ้าแรกๆ ของโลก

ตอนนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกา

เชื่อเหลือเกินว่า หลายๆ คนคงจะร้องอ๋อ

เจฟฟ์นั้นไม่ใช่ร่ำรวยจากบริษัทของเขาเพียงเท่านั้น

แต่รวยจากการลงทุนด้วย

เขาเป็นคนลงทุนคนแรกๆ ในบริษัทที่มีชื่อว่า “กูเกิล (Google)”

เพราะฉะนั้น ก็ไม่แปลกมากที่เขาจะรวยที่สุด

แค่หุ้นสองบริษัทนี้ ก็คงจะรวยล้นฟ้าแล้วแน่ๆ

แต่ถ้าถามว่า ใครที่เคยรวยที่สุดในโลก ที่คุณนึกออก

(COMBO) This combination of pictures created on July 27, 2017 shows a June 17, 2014 photo of Amazon founder and CEO Jeff Bezos (L)in Seattle, Washington and a February 16, 2017 photo of Co-chair of the Bill & Melinda Gates Foundation Bill Gates in Brussels.
Amazon founder Jeff Bezos became the world’s richest person on July 27, 2017, as a jump in the share price of the US tech giant enabled him to overtake Microsoft founder Bill Gates, Forbes magazine estimated. The magazine said its real-time tracking of personal fortunes showed Bezos with a net worth of $90.5 billion, ahead of the $90 billion for Gates.
/ AFP PHOTO / GETTY IMAGES NORTH AMERICA AND AFP PHOTO / David Ryder AND EMMANUEL DUNAND

แน่นอนว่า ชื่อหนึ่งซึ่งจะปรากฏขึ้นมาทุกครั้ง

ต้องมีชื่อของ “บิล เกตส์ (Bill Gates)”

เจ้าของบริษัท “ไมโครซอฟท์” ที่ใครๆ ก็ต้องเคยใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา

ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์

โปรแกรมทำงานต่างๆ เช่น Work Excel Powerpoint ต่างๆ นานา

แม้โลกจะเข้ายุค AI แล้ว

อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปมากแล้ว

แต่โปรแกรมทำงานเหล่านี้ของไมโครซอฟท์ก็ยังใช้กันอย่างแพร่หลาย

ที่นั่งเขียนต้นฉบับนี้ให้ทุกท่านได้อ่านกัน ก็ผ่านโปรแกรม Word นั่นเอง

นอกจากผลิตภัณฑ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ไมโครซอฟท์สร้างสรรค์มาให้คุณใช้

เครื่องเกม X-Box หรือคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตสุดฮิต อย่าง “Surface”

เหล่านี้ล้วนเป็นนวัตกรรมของไมโครซอฟท์ทั้งสิ้น

หากแต่ว่า กว่าจะมีวันนี้ที่สวยงามได้นั้น

วันแรกๆ ของบิล เกตส์ ก็ล้มลุกคลุกคลาน ไม่ต่างกับสตาร์ตอัพอื่นๆ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

วันก่อนผมได้มีโอกาสฟังสัมภาษณ์พิเศษของบิล เกตส์

เนื่องในโอกาสฉลอง ที่ Podcast เมืองนอกที่ผมชอบที่สุด

ชื่อว่า “Master of Scale” เขาทำครบ 50 ตอนพอดี

(แปดบรรทัดครึ่งทำไปแล้ว 279 ตอน ยังไม่ได้ฉลองใดๆ)

รีด ฮอฟฟ์แมน เจ้าของ Podcast นี้จึงเชิญบิล เกตส์ มาสัมภาษณ์แบบเจาะลึก

ย้อนความหลังวันวาน เมื่อตอนก่อตั้งบริษัท

มีบทเรียนน่าสนใจหลายประการด้วยกัน

อย่างแรก บิล เกตส์ บอกว่า

การมี “ผู้ร่วมก่อตั้ง” สำคัญมากสำหรับเขา

แน่นอนว่า ถ้าทำคนเดียวก็ไม่มีใครห้าม

แต่การมีผู้ร่วมก่อตั้งอีกสักคน จะช่วยให้เราคิดรอบคอบมากขึ้น

หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่า บิล เกตส์ เองไม่ได้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ขึ้นมาคนเดียว

แต่มีอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของเขา มีชื่อว่า “พอล อัลเลน”

ที่หลงใหลในเรื่องของ “เครื่องคอมพิวเตอร์ (Hardware)” มากๆ

ตอนแรกๆ ไมโครซอฟท์เกือบจะได้เป็นบริษัทสร้างคอมพิวเตอร์แล้ว

ซึ่งก็จะแข่งกับบริษัทแอปเปิ้ลของ “สตีฟ จอบส์” โดยตรงในเวลานั้น

แต่ว่า บิล เกตส์ ไม่เห็นด้วย

เขามี “วิสัยทัศน์” ว่าอยากจะสร้างมันสมองให้กับคอมพิวเตอร์มากกว่า

ซึ่งก็คือระบบปฏิบัติการนั่นเอง

พอล อัลเลน ได้นำพาบิล เกตส์ เข้ามาศึกษาเครื่องคอมพิวเตอร์

ทำให้การสร้างมันสมอง เป็นไปได้อย่างประสบผลสำเร็จตามลำดับ

ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน

เพราะฉะนั้น การมีคู่หูช่วยคิด ช่วยตกกระทบความคิดกัน เป็นส่วนสำคัญมากในการสร้างบริษัท

อย่างที่สอง ของบทเรียนที่สำคัญ

ก็คือ การทำอะไรด้วยตัวเองทั้งหมดไม่ได้ จะโตไม่ทันการณ์

บิล เกตส์ และพอล อัลเลน คิดการใหญ่

พวกเขารู้ว่า อนาคตของเครื่องคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนไปมาก

และถ้าอยากจะสร้างมันสมองให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลก

ก็น่าจะต้องทำงานร่วมกับบริษัทคอมพิวเตอร์

เขาจึงได้เข้าไปนำเสนองานให้กับบริษัทไอบีเอ็ม (IBM)

ซึ่งตอนนั้นกำลังจะคลอด “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” ออกมาสู่ตลาด

แน่นอน มีร่างกายแล้ว ก็ต้องมีมันสมอง

บิล เกตส์ นำเสนอระบบปฏิบัติการล่าสุดของไมโครซอฟท์

มีชื่อว่า “เอ็มเอส ดอส (MS-DOS)”

เชื่อว่า หลายๆ คนจำได้

หน้าจอสีดำๆ จะเปิดอะไรก็ต้องพิมพ์คำสั่งเอา

ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ก็คงจะคิดว่า ไม่ได้ลำบากอะไรมากมาย

จนกระทั่ง บิล เกตส์ นำระบบปฏิบัติการที่เป็น “ภาพ” ขึ้นมาให้ทุกคนได้ใช้

เรียกมันว่า “วินโดวส์” ที่โด่งดังมาจนทุกวันนี้

การร่วมงานกับไอบีเอ็มครั้งนี้ เป็นก้าวแรกในความสำเร็จของบิล เกตส์ เลยก็ว่าได้

ทำให้ไมโครซอฟท์มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเป็นครั้งแรก

และกลายเป็นบริษัทที่คนจับตามองนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ถ้าไม่มีไอบีเอ็มที่ช่วยเอาผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์มาใช้ในตอนนั้น

ตอนนี้ไมโครซอฟก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เกิดก็เป็นไปได้

ในโลกการทำธุรกิจของเมืองไทยนั้น

สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่แล้ว

สามารถที่จะปรับตัว ทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ได้

เหมือนกับยืนบนไหล่ยักษ์ ทำให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

เช่นเดียวกัน องค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งก็จะต้องเรียนรู้การทำงานกับบริษัทเล็กๆ

หลายครั้ง คนในองค์กรชอบใช้บริษัทที่ปรึกษาเจ้าดังๆ และแพงมาก

ด้วยเหตุผลใต้ภูเขาน้ำแข็งง่ายๆ

“รอบคอบ” ใช้บริษัทชื่อดีๆ เข้าไว้ ยังไงก็ไม่ลำบาก

ถ้างานออกมาดี ก็ดีที่เราเลือกบริษัทดี อาจจะแพงหน่อย คุ้มหรือไม่ ก็ค่อยว่ากัน

แต่ถ้างานออกมาไม่ดี ก็ว่าบริษัทดังกล่าวได้เต็มๆ

มีเหตุผลไปบอกหัวหน้าว่า เราเลือกดีแล้ว แต่บริษัทพวกนั้นต่างหากที่ไม่ทำผลงาน

ก็ “ปลอดภัย” ดี ไม่ต้องลองของใหม่

กลับกัน คนในองค์กรที่อยากลองทำงานกับสตาร์ตอัพ

ราคาไม่แพงก็จริง แต่ทำแล้วไม่รู้จะสำเร็จมั้ย ก็เป็นของใหม่ที่ไม่มีใครเคยใช้

ถ้าสำเร็จ ก็เก่ง ดีใจกันไป

ถ้าไม่สำเร็จ ขี้คร้าน จะต้องรับผิดชอบว่า ทำไมใช้บริษัทที่ไม่มีที่มาที่ไป

โดนเอ็ดไปตามๆ กัน

ไอ้ความกล้า ที่บอกว่าให้ลองของใหม่ ล้มเหลวให้ไว

ก็เป็นเพียงลมปากแค่นั้น

บิล เกตส์ ทำให้ดูแล้วเป็นตัวอย่าง

สู้กันต่อไป องค์กรไทยๆ