ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / ทุ่งในกรุงศรีอยุธยา : น้ำรอการระบาย, ท้องนา และเหล้ากลั่น

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําว่า “ทุ่ง” ในพงศาวดาร และเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยานั้น มักจะใช้เรียกพื้นที่ราบระหว่างชุมชน หรือระหว่างลำน้ำต่างๆ

ดังนั้น พื้นที่รอบเกาะเมืองอยุธยา จึงเต็มไปด้วยทุ่ง และมีทุ่งที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทางทิศตะวันออกมีทุ่งหันตรา ด้านทิศใต้มีทุ่งปากกราน ทิศตะวันตกมีทุ่งประเชด ส่วนทิศเหนือมีทุ่งภูเขาทอง ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งทะเลหญ้า และทุ่งมะขามหย่อง เป็นต้น

ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนนักว่า ขอบเขตของทุ่งเหล่านี้แบ่งกันด้วยลำน้ำ หรือเกณฑ์อะไรแน่?

แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ทุ่งเหล่านี้มักใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรม เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ทุ่งเหล่านี้ก็มักจะกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วม

ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น ในพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มีข้อความระบุถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งที่ยังรับราชการอยู่ในราชสำนักอยุธยา แล้วออกรบกับทัพของฝ่ายอังวะที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงว่า

“เดือน 12 แต่งทัพเรือให้พระยาตาก พระยาเพชรบุรี…ไปตั้งอยู่วัดใหญ่ คอยสกัดเรือรบพม่าซึ่งขึ้นลงมาหากัน”

วัดใหญ่ที่มีชื่อระบุอยู่ในข้อความจากพงศาวดารนั้นก็คือ วัดใหญ่ชัยมงคล ที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลของทุ่งหันตรา ซึ่งโดยปกติที่ไม่ใช่ฤดูน้ำหลากแล้ว การทำสงครามก็ไม่จำเป็นต้องแต่งทัพเรือไปรบ แต่ช่วงเดือน 12 ในกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในเพลงร้องเล่นสมัยอยุธยาว่า

“เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง”

ดังนั้น ช่วงเดือน 12 จึงเป็นช่วงเวลาที่น้ำท่วมพื้นที่บริเวณโดยรอบนอกเกาะเมืองอยุธยา โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ทุ่งต่างๆ จนทำให้พระยาตาก และพระยาเพชรบุรี ต้องนำกองทัพเรือออกไปรบในทุ่งนั่นแหละครับ

 

และในกรณีนี้ สำหรับกรุงศรีอยุธยาแล้ว หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของ “ทุ่ง” จึงเป็นพื้นที่สำหรับพักน้ำเพื่อรอการระบาย ไม่ให้ไหลเข้าไปในเขตชุมชนของกรุงศรีอยุธยา ในช่วงฤดูน้ำหลากนั่นเอง

ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ครั้งแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ.2230 อย่าง ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ ได้กล่าวถึงพื้นที่ที่ถูกน้ำหลากแล้วท่วมขังในกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ว่า

“ดินโคลนที่ (น้ำฝนชะ) ไหลลงมาจากภูเขานี้เองเป็นตัวสาเหตุอันแน่นอน ที่ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีพื้นดินอันอุดมดีนักในที่ทุกหนทุกแห่งที่น้ำท่วมไปถึง…การที่มีน้ำท่วมเป็นประจำปี ย่อมเป็นประกันแก่ประเทศสยามในด้านความอุดมสมบูรณ์ในการทำนาข้าว และทำให้ราชอาณาจักรนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของหลายประเทศทีเดียว”

ลา ลูแบร์ ยังบอกถึงข้อดีของฤดูน้ำหลากในกรุงศรีอยุธยาเอาไว้อีกด้วยว่า นอกจากจะทำให้ดินมีปุ๋ยอันอุดมดีแล้ว ยังช่วยทำลายตัวแมลงร้ายๆ ให้หมดไปได้มิใช่น้อย

ในหนังสือจดหมายเหตุที่ลา ลูแบร์ ได้เขียนขึ้นเล่มเดียวกันนี้ ยังทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในกรุงศรีอยุธยาว่ามีอาหารหลักคือ ข้าว ดังข้อความที่ว่า

“ชายชาวสยามคนหนึ่งๆ จะอิ่มหนำสำราญด้วยข้าวซึ่งมีน้ำหนักวันละ 1 ปอนด์ ราคาตกราว 1 ลิอาร์ด แล้วก็มีปลาแห้งอีกเล็กน้อยหรือไม่ก็ปลาเค็ม ซึ่งราคาค่างวดก็ไม่แพงไปกว่าราคาข้าวนัก เหล้าโรง (arak) หรือเหล้าที่ทำจากข้าวขนาดจุ 1 ไปน์ที่กรุงปารีส ก็ตกราว 2 ซู เท่านั้นก็พอแล้ว”

นอกจากนี้ ลา ลูแบร์ ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า ผู้คนในกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ แม้จะมีผู้นำมาให้ก็ตาม ในตลาดก็มีแต่ตัวแมลงปิ้งย่างวางขาย แต่ไม่มีเนื้อย่าง หรือแม้กระทั่งโรงฆ่าสัตว์เลย

ถึงขนาดว่าเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเป็ด ไก่ และสัตว์อื่นๆ ที่ยังมีชีวิตให้กับคณะของลา ลูแบร์ นั้น พวกเขาก็หาโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้ จนถึงกับต้องเชือดกันเองเลยทีเดียว

 

ทุ่งต่างๆ ที่มีอยู่รายรอบเกาะเมืองอยุธยานั้น นอกจากจะเป็นพื้นที่พักน้ำรอการระบายแล้ว จึงยังเป็นพื้นที่สำหรับทำนาปลูกข้าว อันเป็นอาหารหลักของชาวอยุธยาอีกด้วย

แต่ชาวอยุธยาเมื่อครั้งกระโน้นก็ไม่ได้ปลูกข้าวเฉพาะเพียงเพื่อนำมาหุงต้ม แล้วนำมารับประทานกันเท่านั้นหรอกนะครับ พวกเขายังได้นำข้าวไปหมักเพื่อทำเป็นเหล้า ซึ่งก็เป็นสินค้าหลักชนิดหนึ่งที่กรุงศรีอยุธยาส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในบันทึกของจีนที่ชื่อว่า หยิงหยาเชิงหลั่น ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.1959 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนครินทราชา ซึ่งดูจะมีความสัมพันธ์กับจีนอย่างดีเป็นพิเศษนั้น ได้มีข้อความระบุเอาไว้ว่า ในกรุงศรีอยุธยาผลิตเหล้าเองอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เหล้าที่ทำจากข้าว และเหล้าที่ทำจากมะพร้าว โดยเป็นเหล้ากลั่นทั้ง 2 ชนิด

(มีนักประวัติศาสตร์บางท่านได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การผลิตเหล้ากลั่นจากข้าวและมะพร้าวของกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้นคงคล้ายกับในมะละกา ซึ่งก็ชวนให้เชื่อได้ว่า มีลักษณะคล้ายกับเหล้าโรงในปัจจุบัน)

แต่หลักฐานเกี่ยวกับการค้าเหล้าของกรุงศรีอยุธยานั้นพบในอาณาจักรริวกิว (หรือเกาะโอกินาว่า ในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน) มากกว่า โดยมีมาตั้งแต่เมื่อก่อน พ.ศ.2000 แล้วเลยทีเดียว

เอกสารของริวกิวที่ชื่อ เรคิได โอฮัน อันเป็นหนังสือรวบรวมเอกสารทางการทูตอย่างเป็นทางการของราชสำนักริวกิว มีข้อความระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 21 กรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระราชสาส์น พร้อมด้วยของขวัญมาให้ริวกิวหลายครั้ง เพื่อตอบแทนที่ทางริวกิวได้ช่วยเหลือลูกเรือชาวอยุธยา ที่เรืออับปางระหว่างเดินทางไปริวกิว

ในจำนวนรายชื่อของขวัญที่กรุงศรีอยุธยาส่งไปให้นั้น นอกจากผ้าจากอินเดีย ไม้ฝาง และงาช้างแล้ว ยังมีเหล้าจำนวนกว่า 70 ไห ซึ่งประกอบไปด้วยเหล้าหลายชนิด เช่น เหล้าขาว เหล้าแดง เหล้าแดงกลิ่นดอกไม้ และเหล้ากลิ่นดอกไม้ที่ข้างในมีมะพร้าวอยู่

อย่างไรก็ตาม หนังสือเรคิได โอฮัน เล่มที่ว่านี้ ไม่ได้ระบุว่า เหล้าประเภทต่างๆ เหล่านี้ เป็นเหล้าที่กรุงศรีอยุธยาผลิตขึ้นเองหรือเปล่านะครับ แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่พบบนเกาะริวกิว ซึ่งพบทั้งไห 4 หู ที่ผลิตจากเตาศรีสัชนาลัย (ถึงแม้จะเป็นเตาที่อยู่ในสุโขทัย แต่ก็เป็นการผลิตขึ้นในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา) และหม้อดินที่ผลิตจากเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี ที่กำหนดอายุได้ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในเอกสารแล้ว แถมยังพบเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ทำให้นักโบราณคดีญี่ปุ่นสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นไหเหล้าจากอยุธยา ที่ชาวริวกิวนำมาใช้บวงสรวงเทพเจ้า

ดังนั้น ต่อให้จะไม่ใช่เหล้าที่ผลิตขึ้นในอยุธยาเองทั้งหมด แต่ก็ควรที่จะมีเหล้า เมด อิน อยุธยา รวมอยู่ด้วย ยิ่งเมื่อเอกสารจีนก็ระบุเอาไว้แล้วว่า อยุธยาก็ผลิตเหล้าเองได้ตั้งสองชนิดเลยไม่ใช่หรือครับ?

ทุ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบกรุงศรีอยุธยาจึงทำหน้าที่ที่หลากหลาย ทั้งใช้พักน้ำรอการระบาย ทำนาให้ได้ข้าวมาทั้งกิน และกลั่นจนเป็นเหล้าใช้ดื่มเองทั้งในอยุธยา และส่งออกเป็นสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ