ประชาชน”ไร้พลัง” ? ไม่ได้ส่งเสียง-ใส่ใจ “แก้รัฐธรรมนูญ” ?

ไร้พลัง “ทวงคืนสิทธิเท่าเทียม”

หากยอมรับกันว่า “ผลประโชน์กำหนดอำนาจการเมือง” ในความหมายที่ว่า “กลุ่มใดยึดกุมอำนาจทางการเมือง ย่อมสามารถใช้อำนาจนั้นดูแลผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องตัวเองได้”

และเมื่อใช้ผลึกความคิดนี้มาส่องดู “อำนาจการเมืองไทยเราในปัจจุบัน”

ย่อมนำสู่การเห็นภาพ “ประชาธิปไตย” ที่ถูกออกแบบให้มาให้ดูผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ยิ่งมองก็จะยิ่งเกิดภาพชัดว่าไม่ใช่อำนาจการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

เงื่อนไขใหญ่ที่ก่อสภาวะเช่นนี้ก็คือ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็น “กติกาการอยู่ร่วมกันสูงสุด” ที่คนกลุ่มหนึ่งบอกกล่าวกันให้รับรู้ว่า “ดีไชน์เพื่อพวกเรา”

โครงสร้างการบริหารจัดการประเทศที่ถูกออกแบบให้ไม่เพียง “โยงสู่ประชาชน” น้อยที่สุด แต่กระทั่งส่วนที่เชื่อมประชาชนนั้นยังถูกบั่นทอนลดอำนาจลง พร้อมๆ กับสร้างความเชื่อในทางที่ไม่ควรไว้วางใจเข้าไปปรับแก้

“นักการเมือง” ในส่วนที่อาศัยศรัทธาประชาชนเปิดทางเข้ามามีส่วนในอำนาจเผชิญอุปสรรคสารพัด

ผิดกับ “นักการเมือง” ที่ไม่ต้องอาศัยประชาชนเป็นผู้เลือก หรืออาศัยเพียงแต่น้อย สามารถเข้าสู่อำนาจได้ด้วยการอำนวยให้ของกลุ่มอภิสิทธิชนบางกลุ่มบางพวกที่ “กติกา” ให้อำนาจไว้ เป็นผู้มีบทบาทมากมายในโครงสร้างอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกในทาง “เห็นหัวประชาชน” รักษาวาสนาของตัวเองไว้ด้วยวิธีการแค่กระทำในทางที่สนองประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปเพื่อดูแลผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ก่อความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับประชาชน

มีความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไข แม้จะเป็นที่รู้กันว่าเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกแก้ไขได้ง่าย

คนที่คิดจะแก้หากไม่มีพลังอำนาจจริงไม่มีทางที่จะทำได้เลย

เพราะตระหนักดังนี้ กลุ่มที่คิดจะแก้ โดยเห็นว่าเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนในประเทศนี้กลับมาอยู่รวมกัน โดยอำนาจบริหารจัดการประเทศจะอยู่ในกรอบที่ว่า “เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมได้” จึงต้องพยายามสร้างอำนาจที่มีพลังพอ

ซึ่งก็คือ “อำนาจที่เกิดจากการเห็นพ้องต้องกันของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ”

มีเพียงหนทางเดียวคือ “ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความร่วมใจดูแลผลประโยชน์ของทุกคนอย่างเท่าเทียม”

“ความร่วมมือร่วมใจ” นั้นคล้ายกับน่าจะเกิดขึ้นไม่ยาก เพราะการบริหารจัดการประเทศที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนอยู่แล้วว่า “ยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นกับคนในชาติแค่ไหน”

ทว่าในความเป็นจริงกลับไม่ง่ายเลย

“ทัศนะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย” ยึดมั่นในฝ่ายตัวเอง ของประชาชนในประเทศนี้ ไปไกลถึงขั้นยอมแม้จะไม่พูดถึงความเสียเปรียบของตัวเอง หากเป็นเรื่องที่จะทำให้ฝ่ายที่ตัวเองเลือกเข้าข้างจะได้รับผลกระทบ

ทั้งที่ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่โครงการเอื้อประโยชน์ให้บางคน บางกลุ่มเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

แต่เมื่อ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

โดยมองผ่านคำตอบในคำถามว่าที่ “ท่านคิดว่าระยะเวลาในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญควรนานเท่าไร” ร้อยละ 46.22 ตอบว่าไม่เกิน 6 เดือน, ร้อยละ 32.06 ตอบว่าไม่เกิน 1 ปี, ร้อยละ 11.14 บอกไม่ควรมีกำหนดระยะเวลา, ร้อยละ 6.29 ไม่เกิน 2 ปี, ร้อยละ 2.94 ไม่เกิน 3 ปี, ร้อยละ 0.32 ไม่เกิน 5 ปี, มีร้อยละ 1.03 ที่ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ผลสำรวจนี้สะท้อนว่า “ความพร้อมอกพร้อมใจ” ที่เป็น “พลังประชาชน” อันจะเป็นเงื่อนไขให้ปรับวิธีการบริหารประเทศเสียใหม่ ให้เอื้อประโยชน์กับประชาชนทุกอย่าง ไม่ใช่ “อำนาจเพื่อดูแลคนบางกลุ่มบางพวก”

ยังอ่อนกำลังมาก