ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]
วัฒนธรรมหมั่นไส้ และเกรงใจ
ปรากฏการณ์สาวสวยนักการเมืองแถวหน้าอย่างพรรณิการ์ วานิช โดนถล่มมาเรื่อยๆ จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากความหมั่นไส้ หมั่นไส้ที่เธอสวย รวย มีความรู้และกล้าแสดงออก เธอกลายเป็นนักการเมืองระดับโฆษกพรรค ต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปาร์ตี้ลิสต์ โด่งดังชั่วข้ามคืน
หากว่าเธอเป็นนักการเมืองที่สวย รวย มีความรู้ แต่วางมาดเฉยๆ อย่างมาดามเดียร์ เธอก็จะไม่มีใครหมั่นไส้ เพราะสังคมไทยไม่คุ้นชินกับการแสดงออกของผู้หญิงสวยในทางการเมือง
แต่ลองคิดดูว่าในบทบาท ส.ส. เธอจะทำหน้าที่ได้อย่างไรถ้าไม่ได้แสดงออก เธอไม่ใช่ประเภทดอกไม้ประดับสภา แต่ถ้าอ่านใจเธอ เธอน่าจะอยากก้าวตามรอยรุ่นพี่อย่างสุพัตรา มาศดิตถ์ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ผู้เขียนหวังว่าคุณพรรณิการ์คงจะมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อการโจมตีต่างๆ นานาที่มาจากความหมั่นไส้
เพราะคนที่โจมตีเธอไม่สามารถหาเหตุผลที่จับต้องได้มาตำหนิเธอ ว่าเธอไม่ดีตรงไหน
เลยเอาเรื่องไร้สาระอย่างเธอ “คอสั้น” ขึ้นมาพูด ทั้งหมดที่หาเรื่องขึ้นมาพูดก็ด้วยหวังว่าเธอจะหมดกำลังใจ ถอยไปจากการเมือง
มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับประเทศไทย ถ้าคนเก่งที่อยากทำอะไรดีๆ ให้สังคมจะท้อใจเพราะลมปากคน จนไม่ได้ทำอะไรดีๆ ให้สังคม…
คุณพรรณิการ์มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เกี่ยวกับการแต่งกายบ้างละ รูปร่างหน้าตาบ้างละ รวมไปถึงการนินทาว่าร้ายเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับหัวหน้าพรรค
หากแม้นว่าเธอไม่มีความอดกลั้นเพียงพอ เธอก็อาจจะท้อถอยไปแล้วก็ได้ ในต่างประเทศมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการที่คนดังโดนวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลจนมีผลต่อหน้าที่การงาน เพราะว่าลมปากของคนนั้นทำลายคนได้
ผู้เขียนก็ยังนึกไม่ออกว่ามีสังคมไหนที่ความหมั่นไส้มีผลต่อการแสดงออกและความเป็นไปในสังคมมากเท่านี้ อาจมี แต่ผู้เขียนไม่เคยได้ยิน
“หมั่นไส้” คือเอกลักษณ์ของสังคมไทย
น่าคิดว่าอาการหมั่นไส้เกิดจากความอิจฉาเจือปนอยู่หรือไม่ หากมีใครสักคนตั้งใจศึกษาเรื่องนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ว่า มันคืออารมณ์ หรือมันคือสัญชาตญาณเชิงลบที่มุ่งทำลายคนอื่น หรืออะไรกันแน่
คงไม่ได้มีแต่คุณพรรณิการ์เท่านั้นที่ถูกความหมั่นไส้ของคนเล่นงานเอา
คําว่าเกรงใจ ไม่มีในภาษาอังกฤษ เพราะเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย เคยมีคนพยายามจะใช้คำว่า considerate แต่ไม่น่าจะใช่ เพราะคำว่า considerate หมายถึงความเห็นอกเห็นใจ เช่น เราเห็นเด็กหรือคนแก่ขึ้นรถสาธารณะมาเราก็ลุกให้นั่ง หรือเห็นผู้พิการ สตรี เราก็มีความเห็นใจ
บางครั้งความเห็นอกเห็นใจเกิดจากความเข้าใจในสภาพที่อ่อนแอกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ในซอยของผู้เขียนที่แคบมาก คนที่อยู่ประจำจะเข้าใจคนขับรถจรที่เข้ามาและไม่สามารถหลีกรถกันได้ คนอยู่ในซอยก็จะหาทางหลบหลีกให้
ส่วนความเกรงใจมีหลายกรณี เช่น สามีนอนกรน เกรงใจภรรยา ยินดีแยกห้องนอน หรืออีกฝ่ายกินอาหารมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ เมื่อต้องกินอาหารร่วมกัน ฝ่ายกินเนื้อก็ยอมไม่กินเนื้อ ไม่ยกเอาอาหารเนื้อขึ้นโต๊ะให้อีกฝ่ายต้องน้ำลายสอ
การไม่ทำเสียงดังในที่สาธารณะเพื่อไม่ให้ผู้อื่นต้องรำคาญหรือเสียสมาธิ เป็นเรื่องเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ใช้คำว่าเกรงใจก็ได้ อย่างนี้ก็ตรงกับคำว่า considerate
แต่ความเกรงใจที่เกิดจากความเกรงกลัวผู้ที่มีอำนาจบารมีมากกว่าก็มีไม่น้อยในสังคมไทย และฝังรากลึก มีผลสืบเนื่องตามมา เช่น เกิดการทุจริต
วัฒนธรรมไทย เกรงใจผู้มีบุญคุณ แบบนี้ไม่ใช้คำว่า considerate
เมื่อต้องเลือกที่จะทำตามความต้องการของคนสองคน เราย่อมเลือกทำตามคนที่เราเกรงใจ เนื่องจากเขามีบุญคุณมากกว่า
คำว่าเกรงใจยังเกิดจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ บารมีที่เหนือกว่า เมื่อต้องเลือกทำบางสิ่งบางอย่าง ไม่ใช่ว่าเราเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องกว่า แต่จะทำตามคนที่เราเกรงใจมากกว่า นี่คือวัฒนธรรมในสังคมไทยที่ยอมรับกันมาช้านาน
เมื่อทำเพราะความเกรงใจ อีกฝ่ายก็จะมีความพึงพอใจว่าได้รับการตอบสนอง
เช่น ลูกน้องทำแบบนี้ เพราะเจ้านายต้องการแบบนี้ จะถูกจะผิดก็ไม่รู้ แต่ลูกน้องต้องทำเพราะเกรงใจ เจ้านายก็พอใจ หรือลูกต้องทำแบบนี้เพราะพ่อ-แม่อยากให้ทำแบบนี้ อยากให้เรียนอย่างนี้ พอเรียนตามที่พ่อ-แม่ต้องการเรียบร้อยแล้วก็เบนเข็มไปเรียนตามที่ตัวเองต้องการ
น่าจะมีการทำสำรวจเช่นเดียวกันว่ามีจำนวนบัณฑิตเท่าไหร่ที่ไม่ได้เรียนตามสาขาที่ตนสนใจจริงๆ
ช่วงนี้คงจะมีการสำรวจกันเรื่องบัณฑิตตกงาน เพราะรัฐบาลตั้งใจจะเอาเงินก้อนหนึ่งจากภาษีของเราไปช่วยตรงนี้ แต่คงไม่ได้ทำละเอียดขนาดที่ว่าทำไมตกงาน
คําว่าบารมี เป็นคำที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน คนมีบารมีก็จะมีแต่คนเกรงใจ และความเกรงใจก็ซึมแทรกลงไปหมดในทุกกิจกรรม ทุกสังคม ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
นักการเมืองใช้วิธี “ให้” เพื่อสร้างบารมีก่อน หวังผลภายหลัง เช่น คะแนนเสียง การผ่อนปรน หลีกเลี่ยงกฎหมาย การหลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นไม่เห็นเมื่อนักการเมืองทำผิด
มีข่าวนักการเมืองครอบครองที่ดินผิดกฎหมายเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันก็เพราะความเกรงใจผู้มีบารมีนี่แหละ
ประเทศไทยของเรานี้ความ “เกรงใจ” นักการเมืองมีผลแผ่ไพศาล เป็นมะเร็งร้ายของประเทศ ด้วยประการฉะนี้ วิธีแก้มีไหม ช่วยกันคิดได้แล้วค่ะ