สมหมาย ปาริจฉัตต์ : การศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษ…สู้ให้เป็น (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

จะท้อแท้ อ่อนใจ ไปไยเล่า ชีวิตเรา ชาตินี้ยังมีหวัง

ลมหายใจ ยังดี มีพลัง ชีวิตยัง คงอยู่ สู้ให้เป็น

คิดสิ่งใด ทำต้องได้ อย่างใจคิด สู้ชีวิต ไม่อ่อนแอ แม้ยากเข็ญ

สู้ด้วยใจ ไม่ท้อแท้ สู้ให้เป็น ให้โลกเห็น เราต้องสู้ จึงอยู่ดี

คนพิการ มิใช่น้อย ที่ไม่ด้อย ในปัญญา

คนพิการ ยิ่งมีค่า หากพัฒาให้ถูกทาง …อย่าท้อใจ

จะท้อแท้ อ่อนใจ ไปไยเล่า ชีวิตเรา ชาตินี้ยังมีหวัง

ลมหายใจ ยังดี มีพลัง ชีวิตยัง คงอยู่ สู้ให้เป็น

ดนตรี……

 

เสียงเพลง “สู้ให้เป็น” ประพันธ์เนื้อร้องโดย พ.ท.นเรศร์ จิตรักษ์ ให้ทำนองโดย อ.ศรีนวล น้อยพันธ์ บรรเลงและขับขานโดยนักดนตรีนักเรียนวงศรีสังวาลย์แบรนด์แห่งโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ดังกระหึ่มก่อนเที่ยงวันที่ 12 กันยายน 2562 ต้อนรับคณะศึกษาดูงานการศึกษาพิเศษของโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง

ทั่วบริเวณห้องโถงใหญ่ บรรยากาศอบอุ่น สนุกสนาน เป็นกันเอง ทั้งเจ้าภาพและแขกผู้มาเยือน

โรงเรียนศรีสังวาลย์จัดการศึกษาพิเศษเพื่อคนพิการดำเนินงานก้าวหน้า ทันสมัย นักการศึกษาจากทั่วประเทศและต่างชาติพากันมาไม่ขาดสาย

ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นหมุดหมายของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงสู่สนามจริง จัดประชุมสัญจรนอกกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2

หลังจากครั้งแรกเมื่อปี 2561 สมัยนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ เป็นประธาน มุ่งศึกษาประเด็นการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลชายขอบ เลียบตะเข็บชายแดนไทย-พม่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ได้บทเรียน ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะนำมาสู่การกำหนดนโยบายเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา มติ ครม.วันที่ 7 ตุลาคม 2562 ให้ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลเดียวกันที่อยู่ห่างกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ส่วนโรงเรียนที่ไม่ควรยุบ อยู่ตามขุนเขา เกาะแก่งห่างไกล เร่งส่งเสริมการพัฒนาต่อไป

 

กพฐ.สัญจร ครั้งที่สอง 2562 มี รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน มุ่งประเด็นการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ โดยเลือกเชียงใหม่เป็นแหล่งเรียนรู้และผลักดันนโยบาย เหตุเพราะมีโรงเรียนเพื่อคนพิการและด้อยโอกาสครบทุกประเภท ผลงานเป็นที่ประจักษ์

จัดการศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คนพิการ 9 ประเภท ได้แก่ บกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางสติปัญญา ทางร่างกายหรือสุขภาพ ทางการเรียนรู้ ทางการพูดและภาษา ทางพฤติกรรมและอารมณ์ ออทิสติก และพิการซ้อน

กลุ่มที่สอง เด็กด้อยโอกาส 11 ประเภท ได้แก่ เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง/กำพร้า เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ เด็กยากจน (มากเป็นพิเศษ) เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เด็กพิการเรียนรวม

สถานศึกษาที่รองรับคนพิเศษสองกลุ่มดังกล่าวตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

โรงเรียนเฉพาะความพิการมี 48 โรง แบ่งเป็น พิการทางหูหรือโสตศึกษา 21 โรง (ต่างจังหวัด 19 โรง กทม. 2 โรง) พิการทางสติปัญญาหรือกลุ่มโรงเรียนที่มีชื่อลงท้ายว่าปัญญานุกูล 19 โรง พิการทางร่างกาย 6 โรง ที่เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ชลบุรี ชัยนาท ขอนแก่น และยะลา พิการทางสายตามี 2 โรง โรงเรียนสอนคนตาบอดเชียงใหม่กับสุราษฎร์ธานี นอกจากนั้นเป็นของมูลนิธิเอกชนต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง

โรงเรียนสำหรับเด็กขาดโอกาส ยากจน 51 โรง ได้แก่กลุ่มที่ชื่อว่าโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และราชประชานุเคราะห์

 

รายการศึกษาจากของจริงในพื้นที่จริง แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกัลยาณมิตร เริ่มตั้งแต่บ่ายวันที่ 11 กันยายน กรรมการ กพฐ.จากหลากหลายสาขา นักการศึกษาท้องถิ่น นักบริหารการศึกษา อดีต ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ คุณหมอนักจิตวิทยา อาจารย์ใหญ่โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา

หนึ่งในนั้นคือ ดร.ศรินธร วิทยะสิรินันท์ โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส กทม. นักวิชาการและนักปฏิบัติในระดับแถวหน้าด้านการศึกษาพิเศษ พากันมาพบปะสานเสวนากับนักการศึกษาพิเศษในพื้นที่ นักการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ตลอดรายการประชุม 2 วัน

ไม่ใช่เพียงมาประชุม แต่เพื่อบอกกล่าว ป่าวประกาศให้สังคมได้มีส่วนร่วมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เราจัดการศึกษาให้กับคนเหล่านี้ เขาเรียนอะไรกัน เรียนอย่างไร

สำคัญยิ่งกว่านั้น เขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ช่วยเหลือตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นภาระกับคนรอบข้างและสังคมอย่างไร

การจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเขาเหล่านั้น เป็นอะไรที่น่าศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนอย่างมาก พวกเขาย้ำเสมอว่า ไม่ต้องการความสงสาร แต่ต้องการความรักและความเข้าใจ

การศึกษาพิเศษจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่สังคมควรมีโอกาสรับรู้ สัมผัส เพื่อตระหนักว่าความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ไม่ได้มีแต่ตัวเราคนเดียวเป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ประกอบไปด้วยเพื่อนมนุษย์อีกมากมายที่ต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี มีสันติ พวกเขาทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนปกติทุกประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูและพี่เลี้ยงที่มีหน้าที่จัดการศึกษาและดูแลคนเหล่านี้ หนักและเหนื่อยกว่าจัดการศึกษาในโรงเรียนทั่วไปหลายเท่าพันทวี สอนอยู่ดีๆ คนมาเรียก มีเด็กไม่สบายอาการกำเริบหนักต้องรีบพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล เหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

พวกเขาดำเนินชีวิตเพื่อผู้อื่น ผู้พิการและขาดโอกาส มิใช่ทำไปเพราะเงื่อนไขจากข้อบังคับ กฎหมายต่างๆ นานาให้การคุ้มครอง รับรองสิทธิคนพิเศษ แต่ครูและพี่เลี้ยงเหล่านี้ทำงานด้วยใจอันงดงาม จึงต้องการความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน สังคมควรสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร

 

ผมไม่ใช่ทั้งนักการศึกษา นักการศึกษาพิเศษ เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ติดสอยห้อยตามคณะ กพฐ. แบ่ง 4 สาย ไปดูโรงเรียนเพื่อคนพิเศษทั้งสองกลุ่มด้วยความสนใจ

ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เลยเก็บเรื่องราวมาถ่ายทอดตามถนัดอีกเช่นเคย ภายใต้บทสรุป โลกของคนปกติกับโลกของคนพิการ ล้วนโลกใบเดียวกัน

ก่อนลงพื้นที่สนามจริง ที่ประชุมตกลงกันว่า ไหนๆ มาเยือนหนึ่งใน 6 เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เชียงใหม่ ระยอง สตูล กาญจนบุรี ศรีสะเกษ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้

น่าให้คณะผู้ริเริ่มภาคีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เล่าถึงผลงานซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการและด้อยโอกาสรวมอยู่ด้วย ให้มองเห็นภาพรวมและทิศทางที่จะดำเนินไปอย่างชัดเจน