Wim Delvoye ศิลปินผู้สร้างเครื่องจักรผลิตสิ่งปฏิกูล

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่ผ่านมาเราว่างเว้นจากการเล่าเรื่องราวงานศิลปะแปลกๆ ไปเสียนาน ในตอนนี้ขอกลับมาพูดถึงผลงานของศิลปินระดับโลกที่ทำงานประหลาดพิลึกพิลั่นกันอีกสักหนให้พอหายคิดถึงก็แล้วกัน

ศิลปินที่เราจะกล่าวถึงในตอนนี้มีชื่อว่า

วิม เดลวอย (Wim Delvoye)

ศิลปินชาวเบลเยียม ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะอันแปลกประหลาดชวนช็อก ผลงานส่วนใหญ่ของเขาหมกมุ่นอยู่กับร่างกายของสิ่งมีชีวิต

เขามักเชื่อมโยงความน่าดึงดูดใจเข้ากับความน่ารังเกียจขยะแขยง สร้างออกมาเป็นผลงานที่มีความขัดแย้งในตัวอย่างแท้จริง จนทำให้ผู้ชมงานรู้สึกหนักใจปนกระอักกระอ่วน ว่าจะจ้องมองอย่างลุ่มหลงหรือเบือนหน้าหนีดี

ในขณะที่นักวิจารณ์ศิลปะบางคนกล่าวว่าเดลวอยเป็นศิลปินที่เปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับนิยามและต้นกำเนิดของความงามอย่างสิ้นเชิง

การทำงานศิลปะของเขาครอบคลุมความสนใจอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของร่างกาย, คูถวิยา (Scatologist / การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมูลและสิ่งปฏิกูล เพื่อค้นคว้าข้อมูลทางร่างกาย พฤติกรรม และถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ)

ไปจนถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของศิลปะในระบบเศรษฐกิจการตลาดในยุคสมัยปัจจุบัน

เดลวอยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงานที่ใช้สัตว์ที่คนบริโภคเป็นอาหารอย่าง “หมู” ที่ในบางประเทศ (โดยเฉพาะประเทศจีน) เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ในบางวัฒนธรรมก็รังเกียจและมองมันว่าเป็นตัวแทนของความสกปรกโสโครก เป็นสื่อในการทำงานศิลปะ

โดยเดลวอยซื้อหมูจากฟาร์ม แล้วนำพวกมันมาสักบนหลังด้วยลวดลายน่ารักอย่างลายการ์ตูนดิสนีย์ ไปจนถึงรอยสักโหดๆ ของสิงห์นักบิด หรือแม้แต่ลวดลายหรูหราอย่างโลโก้ของหลุยส์ วิตตอง แล้วนำหมูเหล่านั้นแสดงในฟาร์มศิลปะของเขา

Art Farm ศิลปะบนหนังหมูภาพจากhttps://wimdelvoye.be/

หลังจากหมูเหล่านั้นตาย หนังที่ถูกสักลวดลายจะถูกเอาไปทำเป็นงานศิลปะ หรือแม้แต่ขายให้กับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ เพื่อทำสินค้าในจำนวนจำกัด

ผลงานชุดนี้ของเขาสร้างความช็อกและขุ่นเคืองให้กับสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบรรดานักสิทธิสัตว์ในเบลเยียม จนเขาต้องย้ายไปทำงานชุดนี้ในประเทศจีน ที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิสัตว์ไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไหร่นัก

โดยเขาออกมาแก้ต่างว่า หมูที่เขานำมาทำงานศิลปะเหล่านี้อยู่ดีมีสุขกว่าตอนอยู่ในฟาร์มมากนัก เพราะถ้าอยู่ในฟาร์มต่อไป ท้ายที่สุดพวกมันก็ต้องจบชีวิตด้วยการถูกเชือดไปเป็นอาหารอยู่ดี

Art Farm ศิลปะบนหนังหมูภาพจากhttps://wimdelvoye.be/

นอกจากเอาหมูเป็นๆ มาทำเป็นงานศิลปะแล้ว เขายังทำศิลปะด้วยการนำหมูเหล่านั้นไปหล่อเป็นแบบพิมพ์ทำประติมากรรมรูปหมูขนาดเท่าจริง แล้วหุ้มด้วยพรมเปอร์เซียสุดหรู โดยหมูแต่ละตัวจะถูกหุ้มด้วยพรมแต่ละแบบจนทำให้หมูแต่ละตัวมีบุคลิกแตกต่างกันไป

เขายังตั้งชื่อเจ้าหมูที่เลี้ยงไว้เป็นงานศิลปะเป็นเรื่องเป็นราวด้วย

นอกจากสักหมูเป็นงานศิลปะแล้ว เดลวอยยังทำงานศิลปะด้วยการสักบนร่างกายคนจริงๆ อีกด้วย โดยคนที่ยอมสละแผ่นหลังให้สักนั้นเป็นชายผู้มีชื่อว่าทิม สไตเนอร์ (Tim Steiner) โดยเดลวอยใช้เวลาสักลายรูปพระแม่มารี หัวกะโหลกเม็กซิกันและดอกกุหลาบ นกนางนวล ค้างคาว กุมารจีน และปลาคาร์พญี่ปุ่นบนแผ่นหลังสไตเนอร์ไปทั้งหมดกว่า 40 ชั่วโมง ในช่วงระยะเวลาสองปี

Tim (2006 – 2008) รอยสักศิลปะของเดลวอยบนแผ่นหลังทิมสไตเนอร์ภาพจากhttps://wimdelvoye.be/

หลังจากนั้นก็มีนักสะสมงานศิลปะขาวเยอรมันคนหนึ่ง ชอบลายสักนี้มากจนขอซื้อมัน โดยตกลงว่าจะจ่ายเงินล่วงหน้าให้สไตเนอร์ แลกกับหนังบนแผ่นหลังที่มีรอยสัก เพื่อเอาไปสะสมในคอลเล็กชั่นศิลปะของเขา หลังจากที่สไตเนอร์เสียชีวิตแล้ว

นอกจากศิลปะรอยสักแล้ว เดลวอยยังทำงานศิลปะที่ผสมผสานเรื่องราวทางศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์และชีววิทยา

อาทิ ผลงาน Double Helix ประติมากรรมรูปแถบเกลียวดีเอ็นเอ (DNA) ที่ประกอบขึ้นจากรูปปั้นพระเยซูถูกตรึงกางเขนนั่นเอง

Double Helix Crossed Crucifix (2008) ภาพจากhttps://bit.ly/2CtcjP

เดลวอยเป็นศิลปินที่ไม่ค่อยอธิบายผลงานตัวเองเท่าไหร่นัก เขาต้องการให้คนตีความผลงานของเขาด้วยตัวเอง ในทางกลับกัน เขาอธิบายถึงบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากชีวิตประจำวันด้วยการใช้วัตถุในชีวิตประจำวันมาใช้เป็นสื่อทำงานให้มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการหยิบเอาข้าวของในชีวิตประจำวันทั่วไปมาทำให้มีรูปลักษณ์แตกต่างไปจากปกติ อย่างล้อรถจักรยานสองเส้น ที่ดูเผินๆ เหมือนถูกใช้เรี่ยวแรงมหาศาลบิดจนเป็นเกลียว แต่อันที่จริงแล้วมันถูกทำขึ้นจากแม่พิมพ์สามมิติ หรือถังแก๊สที่ประดับด้วยลวดลายจนดูคล้ายกับเครื่องเคลือบดินเผาลายคราม

หรือการหยิบเอาวัตถุที่เราเห็นจนชินตาในชีวิตประจำวัน เข้าไปหลอมรวมกับสัญลักษณ์เชิงศาสนา อย่างตาข่ายประตูฟุตบอลที่ทำขึ้นจากกระจกสีแบบที่เราเห็นในโบสถ์คริสต์ ที่ถ้ามีใครเตะฟุตบอลเข้าประตูก็คงแตกกระจายย่อยยับ

Penalty III (1992) ภาพจากhttps://wimdelvoye.be

หรือเครื่องผสมปูน รถบรรทุกปูน และรถบรรทุกที่ทำจากเหล็กฉลุเลเซอร์เป็นลวดลายแบบเดียวกับโบสถ์ยุคโกธิคอันอลังการตระการตา

แต่ผลงานศิลปะที่พิสดารและอื้อฉาวที่สุดของเดลวอย คือผลงานที่มีชื่อว่า Cloaca (2000) เครื่องจักรพิลึกพิลั่นที่ผลิตสิ่งที่ไร้ค่าและน่าขยะแขยงในสายตา (และรูจมูก) ของคนส่วนใหญ่ออกมา พูดง่ายๆ ว่าถ้าเปรียบเทียบงานศิลปะชั้นเลวว่าไม่ต่างอะไรกับขยะหรือสิ่งปฏิกูล เครื่องจักรที่ว่านี้ก็ผลิตสิ่งปฏิกูล หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ขี้” ออกมาจริงๆ นั่นแหละ

Cloaca Original (2000) ภาพจากhttps://wimdelvoye.be/, https://bit.ly/2CtcjP9

เดิมทีเดลวอยได้แรงบันดาลใจในการทำงานชุดนี้มาจากผลงานของศิลปินชาวอิตาเลียน ปิแอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) อย่าง Merda d”artista (ขี้ของศิลปิน) (1961) ที่เอาขี้ของตัวเองมาบรรจุกระป๋องเป็นงานศิลปะ

แต่เดลวอยไปไกลกว่านั้น ด้วยการใช้เวลาถึงสองปี ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร สร้างเครื่องจักรอันซับซ้อนที่เลียนแบบระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ออกมา

อุปกรณ์ความยาว 12 เมตร ที่ประกอบด้วยขวดแก้วทดลองวิทยาศาสตร์หกขวด ที่จำลองการทำงานของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน และลำไส้

เมื่อนำอาหารต่างๆ ใส่ลงไปในเครื่องจักรและปล่อยให้เครื่องทำงาน สิ่งที่ได้ออกมาก็ไม่ต่างอะไรกับผลงานของแมนโซนี นั่นก็คือ “ขี้” ดีๆ นี่เอง

แต่เป็นขี้แบบสดใหม่ให้เห็นและได้กลิ่นแบบจะจะกันเลย

Cloaca Original (2000) ภาพจากhttps://wimdelvoye.be/, https://bit.ly/2CtcjP9

ผลงานชิ้นนี้ของเดลวอยแสดงการเปรียบเทียบระหว่างการบริโภคของเครื่องจักรศิลปะอย่าง Cloaca และมนุษย์ ซึ่งได้ผลลัพธ์ท้ายสุดแบบเดียวกัน นั่นก็คือการผลิตของเสีย (หรือขี้) ไม่ต่างกัน นับเป็นการเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์สังคมบริโภคนิยมและระบบอุตสาหกรรมในโลกทุนนิยมได้อย่างแสบสันคันคะเยอ

มีเกร็ดขำๆ เกี่ยวกับงานชิ้นนี้ก็คือ เครื่องจักร Cloaca ที่ถูกป้อนอาหารสามครั้ง ไม่ต่างกับมนุษย์ เมื่อถูกป้อนอาหารบางอย่างติดต่อกันเป็นจำนวนมาก มันก็เกิดอาการขัดข้องคล้ายกับคนท้องผูกจริงๆ

จนต้องทำการควบคุมอาหารกันเลยทีเดียว!

ข้อมูลจาก https://wimdelvoye.be/, https://bit.ly/2CtcjP9