เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | กุหลาบกลอนสุนทรภู่

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต

ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

เพลงปี่พระอภัยสะกดทัพนางละเวงด้วยกลอนนี้ ท่านสุนทรภู่แต่งไว้ราวเสกมนต์สะกดใจปานกัน ด้วยเป็นบทกลอนสมบูรณ์พร้อมทั้งรูปแบบและเนื้อหา

เพลงปี่ชุดนี้มีสามบท ต่อจากบทต้นอีกสองบท ดังนี้

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้

ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย

นำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร

หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น

ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน

จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง ฯ

งามทั้งความ ทั้งคำและน้ำเสียง

คนรักกลอนอยากแต่งกลอนได้ดีต้องอ่านจนจำได้ให้ขึ้นใจ และต้องศึกษาว่าแต่ละคำ แต่ละวรรคนั้น ท่านสุนทรภู่เสกขึ้นมาด้วยการ “แต่ง” อย่างไร

การศึกษาและวิเคราะห์กาพย์กลอนที่ดีนั้น ผู้รู้บอกว่าไม่พึงทำ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เคยกล่าวว่า

เหมือนการเด็ดกลีบกุหลาบงามเพื่อจะดูการจัดระเบียบซับซ้อนของแต่ละกลีบว่าเป็นอย่างไร ถึงจะผจงจัดคืนเป็นดอกงามดังเดิมได้เพียงใด ก็ไม่ได้ดังเดิมแล้ว ด้วยกลีบดอกนั้นจะช้ำ

จะลองแกะกลีบกุหลาบกลอนเพลงปี่พระอภัยของท่านสุนทรภู่สามบทนี้ดูนะว่า ทำไมกลอนสามบทนี้จึงงดงามและหอมหวนคงทนอยู่ได้ในทุกสมัย

ไม่ชอกช้ำ

บทกลอนดังเรียกรวมๆ ว่ากลอนแปดตามที่ท่านสุนทรภู่จัดระเบียบไว้นี้ สำคัญยิ่งคือ “เสียงท้ายวรรค” ของทุกวรรค ทั้งสี่วรรค พอจะสรุปได้ดังนี้คือ

เสียงคำท้ายวรรคแรก ใช้ได้ทุกเสียง

เสียงคำท้ายวรรคสอง ห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี

เสียงคำท้ายวรรคสาม-สี่ ต้องใช้เสียงสามัญกับตรี

มีห้ามกับต้องอยู่สามวรรคนี้เท่านั้น

เคล็ดวิธีรู้เสียงอักษรนั้นให้ใช้อักษรกลาง เช่น

ก.ไก่ เข้าไปจับ เช่นคำ “แม่ค้า” แม้มีวรรณยุกต์เอก-โทกำกับ แต่ก็ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าจะเป็นเสียงเอก-โทตามวรรณยุกต์นั้น

เมื่อเอา ก.ไก่ เข้าไปแทน สะกดตามเสียง ดัง “แม่ค้า” ต้องสะกดว่า “แก้ก๊า” จึงถอดเสียงได้ว่า “แม่” เป็นเสียงโท “ค้า” เป็นเสียงตรี ด้วย ก.ไก่ แทนเสียงด้วยรูปวรรณยุกต์ที่ถูกต้องนั่นเอง

ก.ไก่จึงเป็นกุญแจไขเสียงได้จริง

ที่ว่าคำท้ายวรรคแรกใช้ได้ทุกเสียง ก็มีกลอนท่านสุนทรภู่จากเพลงปี่พระอภัยที่เป่าครั้งแรกให้สามพรามหณ์ฟังอีกเช่นกัน เฉพาะบทนี้ที่ว่า

พระจันทรจรสว่างกลางโพยม

ไม่เทียบโฉมนางงามพี่พรามหณ์เอ๋ย

แม้ได้แก้วและจะค่อยประคองเคย

ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน

คำ “โพยม” เป็นเสียงสามัญ (จำเพาะคำ “โยม”)

กลอนจากเพลงปี่สะกดทัพทั้งสามบท คำท้ายวรรคเป็นเสียงเอก (คำจิต) เสียงโท (คำไห้-คำชื่น)

จึงสรุปว่า คำท้ายวรรคแรกใช้ได้ทุกเสียง

คำท้ายวรรคสองทุกบทไม่มีเสียงสามัญ-ตรีอยู่เลย

จึงสรุปว่าคำท้ายวรรคสองห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี

ท้ายวรรคสามสี่ของทั้งสามบทก็มีแต่เสียงสามัญกับตรีเท่านั้นเช่นกัน

จึงสรุปว่าคำท้ายวรรคสามกับสี่นั้นต้องใช้เสียงสามัญกับตรีเท่านั้น

ทีนี้มาดูภายในแต่ละวรรคกลอน ซึ่งกำหนดเป็นสามช่วงจังหวะ เป็นสาม-สอง-สาม หมายถึงช่วงจังหวะ ซึ่งไม่ได้บังคับจำนวนคำตายตัวว่าหมายถึงสามคำ สองคำ สามคำ หากหมายถึงอ่านแล้วกำหนดช่วงได้เป็นสามช่วงในแต่ละวรรคหนึ่งๆ

เช่นวรรคที่ว่า

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

นับจำนวนคำได้เก้าคำ แต่อ่านแล้วก็จะได้เป็นสามช่วงจังหวะคือ

อยู่ข้างหลัง-ก็จะแล-ชะแง้คอย

วิธีกำกับคำให้ได้ช่วงจังหวัดนั้นทำโดยใช้สัมผัสที่เรียกว่า “สัมผัสใน” เป็นหลัก ซึ่งมีทั้งใช้สระและเสียงอักษรจากพยัญชนะ เช่น วรรคแรกนี้คือ

พระโหยหวน-ครวญเพลง-วังเวงจิต

เป็นสัมผัสในด้วยสระล้วนๆ ถ้วนครบ

มีเรื่องเล่าถึงการเล่นคำเล่นความในบทคำสอยของอีสาน เพื่อเสริมเสน่ห์ “สัมผัสใน” ดังนี้

“ผู้สาวซำน่อย บ่ฮู้จักกอนสุภาพ

คันผู้บ่าวมานาบ…อ้อนี่หรือสัมผัสใน”

กลอนท่านสุนทรภู่นั้นเป็นเอกและโดดเด่นก็ด้วยการเล่น “สัมผัสใน” คือสัมผัสภายในวรรคแต่ละวรรคนี่เอง

จะผจงจักและจัดกลีบกุหลาบกลอนของท่านสุนทรภู่โดยพยายามไม่ให้ช้ำ หรือหากจะช้ำก็ขอให้

ยิ่งช้ำยิ่งหอม