เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : มนตราแห่งวาทกรรม

AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT

“ประเทศไม่ได้อยู่ได้เพราะประชาธิปไตย
ไม่ได้อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้อยู่ได้เพราะกฎหมาย
แต่ประเทศจะยั่งยืนอยู่ได้ ด้วยกำลังของพลเมืองดี ที่ไม่ดูดายและยอมแพ้ต่อคนชั่ว คนทุจริต ที่กัดกร่อนทำลายประเทศชาติ พลเมืองดีจึงต้องยืนหยัดรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง เพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป”

วาทะของวุฒิสมาชิกหญิงอเมริกัน เอลิซาเบธ วอร์เร็น (ELIZABETH WARREN)

AFP PHOTO / Robyn BECK
AFP PHOTO / Robyn BECK

ประเด็นสำคัญของวาทะนี้คือ ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เป็นเพียงกลไกหรือเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมให้เจริญเป็นปกติสุข ความเป็น “พลเมืองดี” ต่างหากที่เป็นผู้กุมกลไกหรือเครื่องมือเพื่อ “ขับเคลื่อน” สังคมให้เจริญเป็นปกติสุข

ประเทศไทยเราเหมือนจะติดบ่วงอยู่กับวาทกรรมประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย มาตลอดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จนถึงวันนี้

วันที่จะลงประชามติ รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ อาทิตย์ 7 สิงหาคม 2559 นี้ นับได้ 84 ปี

แปดสิบสี่ปีที่สังคมไทยถูกสะกดด้วยมนตราวาทกรรม ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

ดูจะเป็นวาทะศักดิ์สิทธิ์ราวกับว่า ที่บ้านนี้เมืองนี้ไม่เจริญ เป็นปกติสุขอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่มีประชาธิปไตย กฎหมายไม่ดี รัฐธรรมนูญไม่ดี

จริงอยู่กลไกนั้นสำคัญ แต่คนต่างหากที่สำคัญกว่า

โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจใช้ช่องโหว่ของกลไกเข้ามาเสวยอำนาจและใช้อำนาจฉ้อฉลโกงกินบ้านเมือง บิดเบือนค่านิยม ให้เห็นดีเห็นงามไปกับการเอาอธรรมเป็นอำนาจนั้นๆ

การต่อสู้ภาคประชาชนสองครั้งสำคัญ คือ สมัยเผด็จการ 14 ตุลา 2516 กับเผด็จการโดยรัฐบาลพลเรือนครั้งล่า กระทั่งเกิด คสช. นี้

นึกดูให้ดี ลึกๆ แล้วไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายเป็นเหตุ

หากเป็นเรื่องของการโกงกิน หรือที่เรียกว่า ทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือทั้งโดยบุคคลและกระบวนการ

โดยบุคคล ก็โดยการกินสินบนใต้โต๊ะ เป็นต้น

เป็นกระบวนการก็เช่น การได้สัมปทานโดยกลุ่มพวกตน ดังเรียก ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

การโกงกินกันอย่าง “โจ๋งครึ่ม” นี่แหละเป็นเหตุให้สังคมทนไม่ได้ จนต้องออกมาต่อต้าน คัดค้าน และต่อสู้กันถึงเลือดถึงเนื้อ ดังที่รู้และยังไม่รู้กันอยู่

แล้วเราก็โยนความผิดไปที่ระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนญ และกฎหมาย ด้วยการเลือกตั้งใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร่างกฎหมายใหม่

คํานำของร่างรัฐธรรมนูญฉบับจะลงประชามติล่าสุด กล่าวไว้อย่างเป็นสำคัญตอนหนึ่ง คือ

“…เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพา หรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครอง ที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…”

ประเด็นสำคัญในคำนำของร่างรัฐธรรมนูญจำเพาะที่ยกมานี้ ก็คือการให้ความสำคัญของคนหรือบุคคลอยู่นั่นเอง

รัฐธรรมนูญนี้จึงเน้นไปที่การปฏิรูป การศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย” รวมถึง “เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม” ตลอดจนการคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย”

รัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นเพียงกลไกหรือกรอบเกณฑ์ให้ปฏิบัติเท่านั้น แต่ความสำคัญก็คือ “คน” ผู้ปฏิบัตินั่นเอง

รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไข คนเป็นปัจจัยชี้ขาด

คนชั่วคนทุจริตนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงและฉ้อฉลเข้ามาฉวยใช้อำนาจ ในลักษณะ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ได้เสมอ

ฉ้อราษฎร์ คือโกงกิน

บังหลวง คือใช้อำนาจปกปิดบิดเบือนความผิดตน

เพราะฉะนั้น วาทะวุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เร็น จึงเน้นความสำคัญของการเป็น “พลเมืองดี” ว่าเป็น “กำลัง” แท้จริงของประเทศชาติ หาใช่แค่ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เพียงเท่านั้นไม่

รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ผ่านประชามติอย่างไร ก็ยังไม่สำคัญเท่าพลังของประชาชนไทยที่ “ตื่นตัว” ทางการเมืองในวันนี้ อันจะเป็น “กำลัง” ของบ้านเมืองในอนาคตนั้นมีมหาศาลนัก

สำคัญว่า การ “ตื่นตัว” นั้นจะนำไปสู่การ “ตื่นหลง” ซึ่งเป็นอุปสรรค หรือจะนำไปสู่การ “ตื่นรู้” ที่เป็นกำลังของพลเมืองดีแท้จริง

ประชามติยังไม่ใช่ตัวชี้ขาด