นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พุทธ-พราหมณ์-ผี หรือ ผี-พราหมณ์-พุทธ (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่าน ตอนแรก

หลักการอย่างที่สามในศาสนาผีเกี่ยวกับความรู้ที่จะจัดการและใช้ประโยชน์จากผี ความรู้เหล่านี้สัมพันธ์กับวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วย เช่น เพศสภาพ, เพศสถานะ, ความสัมพันธ์ทางการผลิต ฯลฯ ล้วนสะท้อนออกมาในความเชื่อและพิธีกรรมของศาสนาผี ฉะนั้น จึงมีรายละเอียดสลับซับซ้อนที่ต้องเรียนรู้จดจำ เช่น จำเป็นต้องใช้ธูป 1-3-5-7-9 ดอกในพิธีกรรมใดและด้วยเหตุใด

ผู้ที่ทรงความรู้และสามารถกำกับการประกอบพิธีกรรมให้ถูกต้องได้ในศาสนาต่างๆ คือ “นักบวช” และนักบวชในศาสนาผีก็เหมือนในอีกหลายศาสนา คืออยู่ในสถานะความสัมพันธ์พิเศษบางอย่างกับอำนาจที่อยู่ภายนอก (นับตั้งแต่รู้เรื่องราวของอำนาจนั้น ถึงขนาดถูกเลือกให้เป็นร่างทรงของอำนาจ ไปจนถึงรู้ความชอบชังของอำนาจนั้นจนสามารถจัดพิธีกรรมให้พอใจได้ ดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไปด้วยการยอมรับ “ข้อห้าม” และ “ข้อปฏิบัติ” บางอย่าง) แม้ว่าโดยวิถีชีวิต, การทำมาหากิน, หรือการแต่งกายอาจไม่ต่างจากคนอื่นมากนักหรือไม่ต่างกันเลย แต่ศาสนาผีก็มีคนซึ่งอาจเรียกว่า “นักบวช” ได้เช่นกัน

นักบวชของศาสนาที่ถือว่าอำนาจอยู่ภายในเช่นพุทธศาสนาเถรวาท ไม่น่าจะมีสถานะดังกล่าวข้างต้น และที่จริงตามที่ปรากฏในอินเดียแม้ในสมัยที่พุทธศาสนายังรุ่งเรืองอยู่ ภิกษุก็ไม่ได้รับความนับถืออย่างสูงเหมือนในประเทศไทย เพราะภิกษุคือผู้สมัครใจจะรับวิธีการฝึกตนให้เกิดอำนาจจากภายในขึ้น จนบรรลุเป้าหมายทางศาสนาคือพระนิพพานเท่านั้น ประชาชนบำรุงพระภิกษุเพราะเห็นชอบกับอุดมคตินั้น

(อย่างที่ท่านพุทธทาสเล่าว่า ภิกษุสมัยพุทธกาลออกบิณฑบาตก็มักได้แต่ผักดอง ซึ่งทุกครอบครัวมักดองไว้เป็นไห ไม่มีใครเตรียมอาหารชั้นดีหรือข้าวปากหม้อไว้ตักบาตร)

แต่นักบวชในศาสนาผีอยู่ใกล้ชิดกับอำนาจภายนอกกว่านั้นมาก ในยามถูกประทับทรงก็เป็นอำนาจภายนอกในขณะนั้นเลย หรือมีรอยสักซึ่งเก็บอำนาจภายนอกบางส่วนไว้กับตัว แม้ใช้ชีวิตไม่ต่างจากชาวบ้าน แต่ทุกคนก็รู้ว่ามีอะไรต่างอยู่บ้างทั้งนั้น เช่น บางคนเว้นจากอาหารบางประเภท, จากการเสพเมถุนธรรมในบางวัน ฯลฯ เป็นต้น กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง นักบวชในศาสนาผีก็มี “ศีล” หรือพระวินัยให้ต้องยึดถือปฏิบัติเหมือนกัน เพียงแต่เป็นวินัยที่อาจแตกต่างหลากหลายกันระหว่างนักบวชแต่ละคน

เมื่อพุทธศาสนาเอาชนะศาสนาผีในเมืองไทยได้ ด้วยการผนวกศาสนาผีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาแบบไทย ส่วนใหญ่ของนักบวชในศาสนาผีก็ยังทำหน้าที่ของตนต่อไป เพียงแต่นำเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ร่วมกับอำนาจภายนอกทั้งหลายที่ผู้คนให้ความนับถืออยู่แล้ว พระภิกษุจึงกลายเป็นนักบวชที่เหนือนักบวชของศาสนาผีโดยทั่วไป (ดังเช่นในตำนานนางนากพระโขนง ผู้ที่เอาชนะผีนางนากได้ในที่สุดคือหลวงพ่อโต วัดระฆังฯ)

ผมคิดว่าธรรมเนียมปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างฆราวาสกับพระสงฆ์ของไทยนั้น ล้วนลอกเลียนและขยายขึ้นจากความสัมพันธ์กับนักบวชในศาสนาผี พระภิกษุคือนักบวชในขณะมี “องค์” ประทับอยู่ (เพราะการแต่งกายและวิถีปฏิบัติของภิกษุได้เปลี่ยนตนเองจากคนธรรมดา เป็นร่างประทับทรงซึ่งสะอาดบริสุทธิ์ จนเหมาะแก่เทพทั้งหลายจะประทับทรงได้) และด้วยเหตุดังนั้น ชาวพุทธไทยจึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์เหมือนปฏิบัติต่อผีชนิดเทพที่ “ลง” ร่างทรงทั้งหลาย เป็นอำนาจจากภายนอกตัวจริงที่เดินเหินอยู่บนโลกนี้เลย

แม้กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนักบวชในศาสนาผีและพระภิกษุในสมัยหนึ่งก็ใช่จะปราศจากความตึงเครียดเสียเลย ผมอ่านเจอในประวัติพระอาจารย์อะไรสักรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์สายอาจารย์มั่นว่า เมื่อไปปฏิบัติธรรมในป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ได้ทราบจากชาวบ้านว่ามีหมอผีคนหนึ่งซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน นอกจากไม่ตักบาตรแล้ว ยังไม่ยอมเข้าวัดอีกด้วย

อีกด้านหนึ่งของศาสนาผีที่ผมอยากพูดถึงก็คือความเป็น “สากล” พุทธศาสนาเข้ามาเมืองไทยโดยกระจายจากศูนย์กลางแห่งใดแห่งหนึ่งออกไปยังปริมณฑลที่กว้างขวาง ทำให้เกิดคัมภีร์, แบบปฏิบัติ และความเชื่อที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัดแต่ละแห่ง แม้จะใหญ่เล็กต่างกัน ก็มีรูปแบบตายตัวว่าอะไรจะตั้งอยู่ตรงไหน ห่างจากอะไรอื่นสักแค่ไหน ฯลฯ ดูเหมือนศาสนาผีไม่มีความเป็นสากลอย่างนี้

อาจจะไม่มีเท่ากับพุทธศาสนาซึ่งมี “องค์กร” ใหญ่บ้างเล็กบ้างคอยกำกับควบคุมอยู่ แต่ความรู้ของศาสนาผีนั้นแพร่กระจายกว้างไกลกว่าท้องถิ่นแคบๆ เป็นอันมาก ผมอ่านพบในหนังสือหลายเล่ม เช่น Tai Magic ของ Susan Conway และการศึกษาตำรายาโบราณในภาคตะวันออกว่า ความรู้, พิธีกรรม, อักขระ, การลงยันต์ ฯลฯ แพร่กระจายจากสำนักหนึ่งไปยังอีกสำนักหนึ่งอย่างกว้างขวางมาก แต่ละแห่งตั้งอยู่ไกลกัน เช่นจากเขมรหรือภาคกลางของไทยไปถึงรัฐชาน จากภาคกลางไทยลงไปภาคใต้เลยไปถึงรัฐมลายู และกลับกันจากรัฐมลายูย้อนกลับมาอยุธยา, สุพรรณบุรี, ลพบุรี

ศาสนาผีจึงไม่ใช่ศาสนาท้องถิ่นอย่างแน่นอน มีพลังที่จะเผชิญกับศาสนาใหญ่จากภายนอก ทั้งฮินดู, พุทธ, อิสลาม และขงจื๊อ โดยไม่เคยถูกขจัดกวาดล้างไปโดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นพื้นฐานความเชื่อที่ศาสนาจากภายนอกไม่อาจเข้าแทนที่ได้เลย

หลักการประเด็นสุดท้ายของศาสนาผีที่ผมอยากพูดถึงคือเรื่อง “ศีลธรรม” มักจะกล่าวกันว่าศาสนาผีไม่มีบัญญัติทางศีลธรรม เช่น ไม่ได้ห้ามการโกหก แม้อาจไม่กล้าโกหกผี แต่ไม่ใช่เพราะการโกหกไม่ดี เพราะโกหกไปผีก็รู้ต่างหากจึงไม่โกหก

แต่ดังที่กล่าวในตอนก่อนแล้วว่าศาสนาผีก็มี “ศีลธรรม” เหมือนกัน หากเป็น “ศีลธรรม” เพื่อกำกับความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ใช่ “ศีลธรรม” ส่วนบุคคล ก็ถ้าอำนาจอยู่ภายนอก ศีลธรรมส่วนบุคคลก็ดูจะมีความจำเป็นน้อยลง นักวิชาการอินเดียบางคนเชื่อต่างจากนักปราชญ์ไทยว่า ศีลห้านั้นศาสนาฮินดูรับไปจากพุทธในภายหลังด้วยซ้ำ ในแง่นี้พุทธศาสนาเข้ามาเติมเต็มศีลธรรมส่วนที่เป็นของบุคคล (เช่น ไม่ฆ่า, ไม่ขโมย, ไม่เป็นชู้, ไม่โกหก, ไม่เมาจนขาดสติ, ไม่ดูละครฟ้อนรำ, ไม่กล่าววาจาส่อเสียด, ไม่โลภมาก ฯลฯ) ซึ่งค่อนข้างขาดหายไปในศาสนาผี

แต่ก็เป็นศีลธรรมส่วนบุคคลที่ตั้งอยู่บนอำนาจจากภายนอก เช่น การสาบานว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริง คืออาศัยอำนาจจากภายนอกประกันความจริงให้ หรือความกลัวนรก-สวรรค์ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นอำนาจภายนอกทั้งสิ้น คุณความดีที่ได้สั่งสมไว้กลายเป็นบารมี ซึ่งถูกเสนอเหมือนเป็นอำนาจภายนอกที่คอยปกปักรักษาและส่งเสริมให้ได้ดิบได้ดี

ในทางตรงกันข้าม เพราะพุทธศาสนาเข้ามาช่วงชิงเอาช่องว่างของศาสนาผีตรงนี้ไปได้ จึงประสบความสำเร็จในประเทศไทย ทำให้พุทธศาสนาแบบไทยไม่ได้พัฒนาคำสอนด้านที่เป็นศีลธรรมทางสังคมไปมากนัก และไม่อาจกลืนเอาศีลธรรมทางสังคมใหม่ๆ เช่น ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, ความเสมอภาค, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ เข้าไปในคำสอนของพุทธแบบไทยได้ (ดังที่กล่าวแล้วในตอนก่อน)

ความเข้าใจศาสนาผีดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ผมเห็นว่าพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมสมัยใหม่ของตะวันตก เช่น ความมีเหตุผลที่พิสูจน์ได้เชิงประจักษ์, การตอบสนองจิตใจที่ไร้การกำกับของคน, “จิตว่าง”, การมีสติรู้เท่าทันพระไตรลักษณ์ ฯลฯ นั้นคือศาสนาใหม่ ไม่ต่างจากคริสต์ศาสนาซึ่งได้สาวกจำนวนมากในบางสังคม เช่น ญี่ปุ่น, เวียดนาม เกาหลี และลังกา เป็นต้น สังคมไทยก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่เรายังใช้ “ยี่ห้อ” เก่าสืบมาเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเรานับถือศาสนาที่ต่างจากศาสนาของบรรพบุรุษในสมัยอยุธยา, ล้านนา, ล้านช้าง และภาคใต้อย่างมาก

โดยสรุปก็คือ การเข้าสู่ความทันสมัยของสังคมเอเชียนั้นก็เหมือนการเข้าสู่ความทันสมัยของสังคมตะวันตกเอง กล่าวคือต้องละทิ้งหลักศาสนาที่เคยยึดถือไปสู่หลักการอันใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ้น

การเข้ามาของศาสนาใหม่เช่นนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดหรือไม่? ผมคิดว่าเกิดอยู่มากทีเดียว เพียงแต่มีเหตุบางอย่างที่ทำให้มองไม่เห็นความตึงเครียดได้ชัดนัก

นักวิชาการทั้งไทยและเทศในช่วงหนึ่งมักพูดถึงศาสนาพุทธแบบไทยว่ามีสอง “สำนวน” หนึ่งคือสำนวนของคนที่มีการศึกษา ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบที่อ้างกันว่าตรงกับพุทธพจน์ คือมีคัมภีร์รองรับ กับ “สำนวน” ของชาวบ้านซึ่งยังงมงายอยู่กับศาสนาผี ทั้งหมดนี้ถ้าพูดแบบผมก็คือมีการปะทะกันระหว่างหลักการอำนาจอยู่ภายนอกหรือภายในนั่นเอง

แต่การปะทะนี้ไปสัมพันธ์กับความขัดแย้งทางชนชั้นด้วย เพราะคนมีการศึกษาในเมืองไทยมักอยู่ในชนชั้นได้เปรียบ ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งยังนับถือศาสนาพุทธแบบผีอยู่ในชนชั้นล่างผู้ใช้แรงงาน และไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาแผนใหม่ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางชนชั้นในเมืองไทยถูกลบคมให้ทื่อลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุหลายอย่าง นับตั้งแต่นโยบายของผู้ปกครอง และการที่พระภิกษุเองก็ปฏิบัติศาสนาผีไปพร้อมกัน (เพราะองค์กรปกครองสงฆ์ไม่แข็งเหมือนในศาสนาอื่นบางศาสนา เช่น คาทอลิก) ความขัดแย้งทางศาสนาจึงถูกเกลื่อนไปในความไม่ชัดเจนของศาสนาใหม่ ไม่แทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางชนชั้น (เช่น ทำให้สำนึกทางชนชั้นจางไป)

การขยายตัวของการศึกษาในปัจจุบัน อาจทำให้การปะทะกันระหว่างศาสนาพุทธแบบใหม่และผีไม่สะท้อนความขัดแย้งทางชนชั้นอีกต่อไป เพราะผู้ได้รับการศึกษาทางการน้อยก็อาจเป็นผู้สนับสนุนหลักการของพุทธแบบใหม่อย่างเปิดเผย ในขณะที่ผู้ได้รับการศึกษาทางการมาก ก็อาจสนับสนุนหลักการของศาสนาผีอย่างเปิดเผยเต็มที่พอๆ กัน แม้กระนั้นพุทธศาสนาแบบไทยก็ยังเป็นสอง “สำนวน” เหมือนเดิม ในหลายกรณีก็คละเคล้ากันในเชิงปฏิบัติจนแยกออกจากกันไม่ได้

สนามแข่งขันของพุทธศาสนาแบบไทยสอง “สำนวน” อยู่ที่ไหน ผมอยากเดาว่าอยู่ที่ว่าฝ่ายใดจะสามารถตอบสนองความต้องการของชีวิตสมัยใหม่ได้มากกว่ากัน ฝ่ายนั้นก็จะได้สาวกไปจำนวนมาก เวลานี้ “สำนวน” ศาสนาผีดูจะตอบสนองได้มากกว่า เช่น ให้ผลตอบแทนเป็นวัตถุได้ชัดกว่า (ผ่านการใบ้หวย, ขัดหาตัวเลข, หรือบูชาซากลูกวัวห้าขา, การเจิมรถ, บูชาเทพเมื่อเปิดการถ่ายทำหนัง ฯลฯ) ผมอยากเดาด้วยว่าพุทธศาสนาแบบไทยสำนวน “ผี” น่าจะดำรงอยู่สืบไปอีกนาน

ตราบเท่าที่พุทธศาสนาใหม่ ไม่พยายามพัฒนาคำสอนให้ตอบสนองชีวิตสมัยใหม่ได้รอบด้านมากขึ้น การบรรลุถึงจิตใจที่สงบสุขก็มีความสำคัญ แต่ชีวิตคนในโลกปัจจุบันต้องการมากกว่านั้น เช่น อยากได้ความยุติธรรม, อยากกินปลาที่ปลอดสารพิษ, อยากเห็นคนจนมีชีวิตที่ดีขึ้น, รวมทั้งอยากมีงานทำเมื่อสำเร็จหรือไม่สำเร็จการศึกษา ฯลฯ ตราบนั้นพุทธศาสนาแบบไทยก็จะมีรูปลักษณ์ที่เต็มไปด้วยศาสนาผี (ไม่ใช่ที่เปลือก แต่ที่แกนของความเชื่อเลยทีเดียว) ตลอดไป