วรศักดิ์ มหัทธโนบล : โลกทัศน์การปกครองฉบับถังไท่จง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (17)
มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

นอกจากนี้ หลี่ซื่อหมินหรือถังไท่จงยังเชื่อในมนุษย์มากกว่าสวรรค์ และเชื่อในความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าเชื่อในสิ่งเดิมๆ ที่สืบทอดกันมา

โดยหลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ในราชสำนักได้มีพิธีพยากรณ์โชคลางของราชบัลลังก์ตามประเพณี ถังไท่จงก็ทรงแย้งว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของราชวงศ์นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการปกครองและการปฏิบัติตนของบุคคล หาได้ขึ้นอยู่กับสวรรค์หรือโชคลางไม่

จากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ทำให้เห็นได้ว่า ถังไท่จงมีโลกทัศน์ที่โน้มเอียงไปในทางสัจนิยม (realist) ความโน้มเอียงนี้ย่อมมีที่มาจากภูมิหลังตั้งแต่วัยเยาว์จนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนฐานของกุลบุตรของชนชั้นสูง และตั้งอยู่บนสภาพแวดล้อมของสังคมจีนทางเหนือ ที่ในด้านหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ อีกด้านหนึ่งตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งยากทางการเมือง และการศึกที่มีกับชนชาติอื่น

จากเหตุนี้ ถังไท่จงจึงมีบุคลิกภาพและความคิดเฉพาะตน และแตกต่างไปจากจักรพรรดิทั้งก่อนหน้าและหลังจากพระองค์ไปแล้ว

ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว ถังไท่จงนอกจากจะตั้งให้เสนามาตย์ของพระองค์ได้มีตำแหน่งตามความดีความชอบแล้ว ต่อเสนามาตย์ที่เคยอยู่กับกลุ่มอำนาจเดิม พระองค์ได้รับคำแนะนำจากอี้ว์ฉือจิ้งเต๋อให้ใช้นโยบายเมตตา ด้วยการให้รับเสนามาตย์เหล่านี้มาช่วงใช้แทนที่จะทำลายเข่นฆ่าดังที่เคยปฏิบัติกันมา

ตัวอย่างการใช้นโยบายนี้ในกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือกรณีของขุนนางชื่อเว่ยเจิง

 

เว่ยเจิง (ค.ศ.580-643) มีภูมิหลังชีวิตที่ยากเข็ญ บิดา-มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็กจนต้องไปอาศัยอยู่กับอา แม้จะมีชีวิตที่ยากเข็ญ แต่เว่ยเจิงก็หาใช่คนที่ฝักใฝ่งานบ้านไม่ เขาจึงไม่เคยช่วยงานบ้านที่เขาอาศัยอยู่ดังเด็กอื่น สิ่งที่เขาฝักใฝ่ก็คือการอ่านหนังสือ

ครั้นเมื่อเติบใหญ่เขาจึงไปบวชเป็นนักพรตในลัทธิเต้าเพื่อหลีกเลี่ยงงานของครอบครัว แต่การเป็นนักพรตก็มิอาจหลีกหนีงานที่ว่าไปได้ จนเมื่อเกิดกบฏขึ้นทั่วจักรวรรดิ เว่ยเจิงจึงเข้าร่วมกับขบวนการกบฏของหลี่มี่ ครั้นเมื่อหลี่มี่สวามิภักดิ์ต่อถังแล้ว เขาก็เลือกที่ช่วงใช้หลี่เจี้ยนเฉิง

และช่วงที่เกิดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องนั้นเอง เว่ยเจิงได้เสนอให้หลี่เจี้ยนเฉิงเร่งสังหารหลี่ซื่อหมินด้วยการเป็นฝ่ายลงมือปฏิบัติการก่อน แต่หลี่เจี้ยนเฉิงไม่ปฏิบัติตาม

จากเหตุนี้ หลังจากที่หลี่ซื่อหมินก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิถังไท่จงแล้ว พระองค์จึงทรงให้คุมตัวเว่ยเจิงมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามถึงเรื่องที่เว่ยเจิงแนะนำหลี่เจี้ยนเฉิงให้สังหารพระองค์ เว่ยเจิงได้ทูลตอบด้วยท่าทีเยี่ยงนักพรตว่า หากแม้นหลี่เจี้ยนเฉิงทำตามที่ตนแนะนำแล้ว

ไม่มีทางที่ถังไท่จงจักมีโอกาสมาตรัสถามตนในเรื่องนี้เป็นแน่แท้

จากนั้นก็อธิบายว่า ตนเป็นข้าช่วงใช้หลี่เจี้ยนเฉิงย่อมต้องยึดเอาผลประโยชน์ของหลี่เจี้ยนเฉิงเป็นที่ตั้ง การกระทำของตนจึงไม่ผิด เมื่อถังไท่จงทรงฟังเช่นนั้นก็เห็นว่าจริง จากนั้นจึงตั้งให้เว่ยเจิงเป็นขุนนางของพระองค์ต่อไป

จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่า ถังไท่จงเป็นจักรพรรดิที่มีจิตใจกว้างขวาง และด้วยจิตใจเช่นนี้จึงยังความสำเร็จแก่พระองค์ในเวลาต่อมา

 

ในบรรดาเสนามาตย์ที่ใกล้ชิดถังไท่จงนั้น บุคคลแรกก็คือ จั่งซุนอู๋จี้ [ค.ศ.600(?)-659] ผู้มีเชื้อสายผู้ดีเก่าจากราชวงศ์เว่ยเหนือ เขาเกิดช่วงเดียวกับถังไท่จงและเป็นเพื่อนในวัยเด็กของพระองค์อีกด้วย

ตอนที่ร่วมเป็นกบฏกับสกุลหลี่นั้น เขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นนักยุทธศาสตร์การทหารที่ดีคนหนึ่ง โดยได้ร่วมกับถังไท่จงในศึกรวมแผ่นดินเมื่อต้นราชวงศ์ ครั้นถึงคราวรัฐประหารเสีว์ยนอู่เหมิน นอกจากเขาจะเป็นหนึ่งในผู้วางแผนแล้วก็ยังเป็นหนึ่งในมือสังหารที่เฝ้าประตูนั้นอีกด้วย

และเมื่อถังไท่จงเป็นจักรพรรดิแล้วก็ตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

ที่สำคัญ น้องสาวของเขายังเป็นมเหสีของถังไท่จงอีกด้วย ในแง่นี้ตัวเขาจึงเป็นเชษฐภาดา (พี่เขย) ของถังไท่จง ความใกล้ชิดนี้ดำรงอยู่แม้ในวาระสุดท้ายของถังไท่จง โดยจั่งซุนอู๋จี้คือหนึ่งในสองบุคคลที่ถังไท่จงทรงไว้วางใจก่อนสิ้นพระชนม์ (อีกคนหนึ่งคือ ฉู่ซุ่ยเหลียง)

คือนอกจากพระองค์จะทรงมอบพินัยกรรมและคำสั่งเสียแก่ทั้งสองแล้ว ก็ยังขอให้ทั้งสองช่วยปกป้องพระองค์จากคำให้ร้าย หรือคำที่จะยังความเสียหายแก่พระองค์ที่อาจจะมีตามมาอีกด้วย

 

บุคคลต่อมาคือ ฝังเสีว์ยนหลิง (ค.ศ.578-648) ผู้มีบิดาเป็นผู้ว่าราชการระดับท้องถิ่นในสมัยสุย โดยตัวเขาสอบเป็นดุษฎีบัณฑิตขณะมีอายุเพียง 17 ปี จากเหตุนี้ เขาจึงเข้ารับราชการในตำแหน่งขุนนางชั้นสูงของสุยตั้งแต่อายุยังน้อย

และในชั่วเวลาไม่นานหลังจากที่ถังยึดอำนาจจากสุยได้สำเร็จ เขาก็ผันตัวเองเข้าช่วงใช้ถังไท่จง โดยเมื่อครั้งที่ถังไท่จงยังเป็นเจ้าพระยาแห่งรัฐฉินอยู่นั้น ฝังเสีว์ยนหลิงเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าทำงานบริหารให้แก่ถังไท่จง และเป็นหนึ่งในผู้วางแผนรัฐประหารเสีว์ยนอู่เหมินอีกด้วย

ครั้นเมื่อถังไท่จงก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระองค์ยังคงให้เขามีหน้าที่เดิม นั่นคือเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการส่วนพระองค์

 

คนต่อมาย่อมต้องเป็นมิตรผู้ร่วมชะตากรรมของฝังเสีว์ยนหลิง นั่นคือ ตู้อี๋ว์ฮุ่ย (ค.ศ.585-630) ที่เคยถูกหลี่เจี้ยนเฉิงมีคำสั่งโยกย้ายพร้อมกับฝังเสีว์ยนหลิงไปยังที่ห่างไกล เพื่อแยกให้ทั้งสองอยู่ไกลจากถังไท่จงก่อนการรัฐประหารเสีว์ยนอู่เหมิน

ตู้อี๋ว์ฮุ่ยมีปู่ที่เคยช่วงใช้ราชสำนักโจวเหนือและสุยมาก่อน ส่วนตัวเขาเริ่มรับราชการระดับท้องถิ่นในสมัยสุย และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งราชวงศ์ถังไม่ต่างกับสองคนแรก จากนั้นก็ร่วมในทัพของถังไท่จงในศึกรวมแผ่นดินเมื่อต้นราชวงศ์

ส่วนรัฐประหารที่เสีว์ยนอู่เหมินนั้น เขาไม่เพียงมีส่วนร่วมในการวางแผนเท่านั้น หากยังเป็นผู้สังหารหนึ่งในพี่น้องของถังไท่จงอีกด้วย เมื่อถังไท่จงเป็นจักรพรรดิแล้ว ตู้อี๋ว์ฮุ่ยทำหน้าที่ไม่ต่างกับฝังเสีว์ยนหลิง

แต่เขาก็อยู่ช่วงใช้ถังไท่จงได้เพียง ค.ศ.630 ก็เสียชีวิต

 

ส่วนบุคคลสุดท้ายก็คือเว่ยเจิง ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

แม้จะมีบุคคลอื่นอีกจำนวนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถที่ได้ช่วงใช้ถังไท่จง แต่ทั้งสี่คนนี้ต่างเป็นที่ยอมรับกันว่ามีบทบาทสูง

คือไม่เพียงมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่ต่อมาได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ถังไท่จงเท่านั้น หากยังเป็นผู้ที่มีส่วนต่อความคิด ทัศนคติ ตลอดจนการครองตนของถังไท่จงอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทดังกล่าวมิอาจมีขึ้นได้เลยหากถังไท่จงไร้ซึ่งจิตใจอันกว้างขวาง

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างถังไท่จงกับเสนามาตย์ที่ใกล้ชิดนี้มีตัวอย่างอยู่มากมายที่น่าสนใจ ในที่นี้จะยกเอากรณีหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง กรณีที่จะยกมานี้เกิดขึ้นหลังจากที่ถังไท่จงได้ครองราชย์ไปแล้ว 13 ปี ช่วงที่ว่านี้เว่ยเจิงเห็นว่าถังไท่จงมิได้ครองตนดังที่ผ่านมา คือเริ่มที่จะหย่อนยานในปณิธาน และดำรงตนไม่เสมอต้นเสมอปลายดังก่อนหน้า

เว่ยเจิงจึงถวายสารฉบับหนึ่งเพื่อเตือนสติถังไท่จง สารฉบับนี้เรียกกันต่อมาว่า ฎีกาเตือนสติสิบประการ (สือซือซู, Petition on Ten Thoughts)

ฎีกาฉบับนี้มีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้

 

หนึ่ง ต้นรัชกาล ถังไท่จงสามารถลดความทะยานอยากของพระองค์ได้จนเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ราษฎร แต่บัดนี้มิอาจควบคุมความทะยานอยากนั้นได้

สอง ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงมีจิตที่เอื้ออาทรต่อราษฎรผู้ทุกข์ยาก จักทำการใดก็ดำเนินไปด้วยความมัธยัสถ์ มาบัดนี้กลับฟุ้งเฟ้อเอาแต่พระทัย แลกะเกณฑ์แรงงานราษฎรมาบำรุงสุขของพระองค์

สาม ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงสละความสุขส่วนตน มาบัดนี้ทรงมัวเมาในสุรานารี

สี่ ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงใกล้ชิดบัณฑิตในการช่วงใช้งาน มาบัดนี้กลับใกล้ชิดคนพาล

ห้า ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงครองตนสมถะโดยมีเมธีเป็นเยี่ยงอย่าง มาบัดนี้กลับแสวงหาแต่สิ่งวิเศษ

หก ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงแสวงหาแลฟังความจากผู้เป็นเมธี มาบัดนี้กลับฟังความเสนามาตย์ที่สอพลอ

เจ็ด ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงแสวงหาวิเวกธรรมจนจิตใจผุดผ่อง มาบัดนี้กลับเกษมสำราญในการประพาสล่าสัตว์

แปด ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงสุภาพอ่อนน้อมต่อเสนามาตย์ มาบัดนี้กลับละเลยมิให้แม้แต่เสนามาตย์จากหัวเมืองแดนไกลได้เข้าเฝ้า

เก้า ต้นรัชกาล ถังไท่จงทรงบากบั่นวิริยะอุตสาหะ แลนอบน้อมถ่อมตนกับมิพึงใจในตนเอง มาบัดนี้กลับยโสโอหังหลงตนว่าฉลาดปราดเปรื่อง ดูหมิ่นถิ่นแคลนบุรพจักรพรรดิ มิฟังคำทูลเตือนของเสนามาตย์

และสิบ ต้นรัชกาล เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ แม้ราษฎรจะทุกข์ร้อนยิ่งนัก แต่ก็มิได้ร้องทุกข์ ด้วยตระหนักในเมตตาธรรมของถังไท่จง มาบัดนี้ราษฎรกลับถูกเกณฑ์แรงงานไม่ขาด หากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติขึ้นอีก

จักไม่มีผู้ใดจงรักภักดีดังก่อน