ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
ผ่านมากว่า 1 เดือน ที่ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กระโดดเข้ามาแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนที่ถูกแต่งตั้งโยกย้ายผิดฝั่งผิดฝา จนมีเหตุอัตวินิบาตกรรมหลายกรณี
พร้อมกับระบุว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กระทั่งมีหนังสือเวียนถึงข้าราชการสัญญาบัตรที่มีความประสงค์อยากย้ายออกนอกสายงานสอบสวน ให้ทำบันทึกความสมัครใจขอย้ายผ่านกองทะเบียนพล (ทพ.) แม้ไม่ได้รับการยืนยันว่าจะย้ายได้จริง หรือจะทันการแต่งตั้งโยกย้าย รอง ผบก.-สว. วาระปี 2562 หรือไม่
แต่ก็ปรากฏตัวเลขพนักงานสอบสวนทั่วประเทศขอย้ายออกนอกสายงาน แบ่งเป็นระดับรอง สว. (สอบสวน) จำนวน 6,278 นาย ขอย้ายออก 202 นาย, ระดับ สว. (สอบสวน) 2,543 นาย ขอย้ายออก 328 นาย, ระดับรอง ผกก. (สอบสวน) 1,940 นาย, ขอย้ายออก 90 นาย และ ผกก. (สอบสวน) 788 นาย ไม่มีแจ้งขอย้ายออก แต่เป็นการทำบันทึกสมัครใจอยากเป็นหัวหน้าโรงพัก
จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสัดส่วนปัญหาที่ค่อนข้างขัดแย้งกับกระแสที่เกิดขึ้นหลายเดือนที่ผ่านมา
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. รับผิดชอบงานบริหาร (บร.) ในฐานะโฆษก ตร. ระบุว่า ผบ.ตร.มอบหมายให้ลงมาช่วยงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา เมื่อเริ่มทำงานก็ตกผลึกได้ว่า แต่เดิมเราแก้ปัญหาโดยเพิ่มพนักงานสอบสวน แต่ไม่เพิ่มผู้ช่วย พบว่าส่วนใหญ่ 90% พนักงานสอบสวนอยากได้คนช่วยงาน เช่น เวลาเข้าเวรอยู่บนโรงพัก เขาต้องการคนที่มาช่วยเหลือ คอยช่วยตรวจที่เกิดเหตุ ช่วยจัดทำบันทึกประจำวันคดี ช่วยกรอกข้อมูลลงระบบอาชญากรรม (crime) การส่งเอกสาร
ซึ่งขณะนี้มีการรับสมัครตำรวจชั้นประทวนที่มีวุฒินิติศาสตรบัณฑิต 9,000 อัตรา ส่วนหนึ่งก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ในชายแดนใต้ และงานถวายความปลอดภัย เหลืออีกกว่า 5,000 อัตราที่จะกระจายไปเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนตามโรงพักต่างๆ
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ มีพนักงานสอบสวนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยู่ช่วยงานบนโรงพัก โดยเฉพาะกลุ่มที่มียศสูง สว.ขึ้นไป ไม่ช่วยงานรุ่นน้อง กลายเป็นว่ากลุ่ม ร.ต.ต.-ร.ต.อ. รับภาระหนักในโรงพัก เป็นปัญหาการบริหารจัดการอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไข
ส่วนที่เป็นปัญหามานานหลายปี กรณีพนักงานสอบสวนที่ยังมีปัญหาถูกโยกย้ายไปนั่งตบยุงอยู่ตามกองบัญชาการหรือกองบังคับการ ตั้งแต่ คสช.ยุบแท่งพนักงานสอบสวน ทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน และไม่มีงานทำนั้น
เริ่มเห็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2562 มีมติการกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้กับกองบังคับการกฎหมายและคดี สังกัด ภ.1-9 ทำหน้าที่ดูแลคดีปกครอง คดีแพ่ง งานตรวจสำนวน สำนวนสอบสวนคดีสำคัญที่มีอัตราโทษสูง คดีอุทธรณ์ ฎีกา
รวมทั้งคดีที่อยู่ในอำนาจของตำรวจภูธรภาคในการทำความเห็นแย้งคำสั่งพนักงานอัยการ สำหรับโครงสร้างกองบังคับการกฎหมายและคดี แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ฝ่ายอำนวยการ, ฝ่ายปกครองและคดีแพ่ง, กลุ่มงานตรวจสอบสำนวนคดี ดูแลความเห็นแย้ง สำนวนการสอบสวนต่างๆ มีกำลังพลในระดับ ผบก.กองกฎหมายและคดี ตัดโอนมาจาก ผบก.ประจำ ซึ่งมีอยู่ทุกภาค ส่วนรอง ผบก. ลงไปจนถึงชั้นประทวนก็ใช้วิธีการการตัดโอนมาเช่นเดียวกัน
โดยเฉลี่ยแล้วกองบังคับการกฎหมายและคดี มีประมาณ 100 คน ระดับ ผบก. 1 คน รอง ผบก. 4 คน ผกก. 30 คน รอง ผกก. 5 คน สว. 7 คน รอง สว. 20 คน และชั้นประทวน 40 คน
พล.ต.ท.ปิยะขยายให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า การกำหนดแต่งตั้งกองบังคับการกฎหมายและคดี เกิดจากในปัจจุบันคดีที่เกิดขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นความผิดเกี่ยวกับออนไลน์ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นคดีมีความซับซ้อน ต้องใช้พนักงานสอบสวนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งพนักงานสอบสวนที่อยู่แต่ละกองบัญชาการหรือกองบังคับการ มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีงานทำ ก็จะได้กลับมาทำงาน ซึ่งเป็นการเติบโตในสายงาน
คนเหล่านี้สามารถเป็น ผบก.สอบสวนได้ และรอง ผบก.จังหวัดได้อีก เหมือนสร้างเส้นทางการเติบโตของพนักงานสอบสวนอีกเส้นทางหนึ่ง เพราะตั้งแต่ระดับรอง ผกก.ลงไป ทางกองบัญชาการจะเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งเอง ส่วนระดับ ผกก.ขึ้นไปจะนำเข้าบอร์ดการพิจารณา ส่วนพนักงานสอบสวนที่ยังขาดแคลนก็จะให้ผู้ช่วยพนักงานสอบสวนที่มีคุณวุฒิครบถ้วนคัดเลือกให้เป็นพนักงานสอบสวนเพราะกลุ่มคนเหล่านี้รู้งาน สามารถก้าวขึ้นเป็นพนักงานสอบสวนได้และเป็นการแก้ไขปัญหาถูกจุด
ทั้งนี้ การจัดตั้งกองบังคับการกฎหมายและคดี ภ. 1-9 จะต้องกำหนดเป็นส่วนราชการขึ้นมาก่อน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอตรวจสอบ เพื่อเข้าที่ประชุม ครม. ก่อนออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการเพิ่มขึ้น
อีกส่วนคือการตัดโอนตำแหน่งที่เป็นอำนาจของ ก.ตร. ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รอให้ออกเป็นกฎกระทรวงก่อน โดยคาดว่าต้นปี 2563 จะแล้วเสร็จ
“ปัญหาของพนักงานสอบสวน รากของมันโดยแท้คือ เขาเหนื่อยเกินไป การจะแก้ไขปัญหาเรื่องงานสอบสวนคงแก้มิติเดียวไม่ได้ ต้องแก้ให้ครบวงจร พวก พ.ต.อ.ทั้งหลายที่ไม่มีงานทำต้องเข้าไปอยู่ใน บก.กฎหมายและคดี และต้องรับสำนวนที่มีความสำคัญ พวก พ.ต.ต.-พ.ต.ท. ที่ไปช่วยราชการที่อื่น ต้องกลับบ้านทั้งหมด มาทำหน้าที่พนักงานสอบสวน ส่วน ร.ต.ต.-ร.ต.อ. ที่คนไม่พอ ก็ต้องรับสมัครเพิ่ม”
พล.ต.ท.ปิยะระบุ