บทวิเคราะห์ | จาก “ชัช เตาปูน” ถึง “ธรรมนัส” ลงเรือร่วม “พลังประชารัฐ” เหตุใดตีจาก “ทักษิณ”?

ถือเป็น 2 นักการเมืองที่เป็น “ผู้กว้างขวาง” สำหรับ “ชัช เตาปูน” ที่มีชื่อว่า “ชัชวาลล์ คงอุดม” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และ ปธ.ยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือ พรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งทั้งคู่เคยร่วมงานพรรคเดียวกันสมัยแรกตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเป็นเบื้องหลังให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ได้ตั้งพรรคแล้วชนะการเลือกตั้ง แม้ระหว่างทางจะเปลี่ยนเส้นทางกันไป

แต่สิ่งที่ตรงกันทั้งคู่คือ ต่างออกมาจาก “ขั้วทักษิณ” ด้วยเหตุผลที่ไปในทางเดียวกัน

“ชัช เตาปูน” ย้อนอดีตเกือบ 20 ปีก่อน ว่า ช่วงสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” กำลังตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นว่า “เขาโทรศัพท์มาหาผมว่า พี่ช่วยนัดเพื่อนๆ มาให้ผมหน่อย ก็ไปกินหูฉลามกันที่สกาล่า เขาก็บอกว่า เขารวยแล้ว ก็อยากช่วยประเทศชาติ อยากทำงานให้ประเทศชาติ ผมก็เชื่อเขาเพราะเขาประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ถ้าเขาเอาตรงนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็น่าจะดีกับประเทศเรา”

“ซึ่งผมเองต้องขอย้อนสักนิด อ.หม่อม (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เคยถามผมว่า “เอ็งช่วยพ่อ แล้วเอ็งได้อะไร” ซึ่งผมบอกว่าไม่ต้องได้ ให้ประเทศไทยได้ ผมพอใจแล้ว เพราะฉะนั้น ทักษิณก็เหมือนกัน เขารวยแล้วก็เอาความสามารถมาใช้กับประเทศชาติ ประเทศเราเดินหน้าไปได้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะฉะนั้น เราก็คงไม่ต้องลงมาทำเอง จากนั้นมาก็เลยช่วยเขา ซึ่งเขตบางซื่อ เราก็ไม่เคยไปอะไรเขาเลย เราช่วยเขาเต็มที่”

“ตอนหลังที่ออกมาก็เพราะมีคนไปพูดถึงเบื้องสูงในกลุ่ม ซึ่งเรารับไม่ได้ โดยเอ็ม (ชื่นชอบ คงอุดม ลูกชาย) ก็เป็นข้าราชการการเมือง โดยที่ผมก็ช่วยเขา เขาก็เลยให้เอ็มไปเป็นข้าราชการการเมือง เขาบอกพี่เดี๋ยวผมจะสอนมันเอง ก็เลยให้เอ็มไปอยู่ด้วย เมื่อเห็นกลุ่มนั้น ผมจึงให้เอ็มออกมา เพราะเรามีจิตมุ่งมั่น โดยสยามรัฐนั้น อ.หม่อมตั้งมาเพื่อปกป้องพระราชวงศ์ เพื่อต่อต้านเผด็จการ ผมไม่ชอบเผด็จการ แต่ถ้าใครจะล้มพระราชวงศ์ และฝ่ายไหนที่จะปกป้อง ผมก็ต้องอยู่ฝ่ายนั้น ถูกไหม นี่คืออุดมการณ์ของผม”

“ดังนั้น ใครจะว่าอะไรผม ผมไม่สน ซึ่งเราก็ไม่ต้องไปสนใจ นี่คือความรู้สึกจริงๆ ที่เรามีให้มา” ชัช เตาปูน กล่าว

“ผมเป็นคนรักพวก ผมขอย้อนกลับไปช่วงปี 2550 ที่ลงกับพรรครวมใจไทย ถ้าเอ็มจะลงพรรคไทยรักไทยหรือประชาธิปัตย์ก็ได้อยู่แล้ว เพราะคะแนนส่วนตัวเราก็มี ซึ่งเขาแพ้-ชนะก็ไม่เท่าไหร่ แต่ด้วย อ.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ตอนที่ท่านเว้นวรรคก็ไปช่วยผมที่สยามรัฐ มีอะไรก็ช่วยปรึกษาหารือให้ เพราะฉะนั้น ผมก็ถือว่าคนรักกัน เราเหมือนพี่น้องกัน ท่านก็บอกว่าพี่น้องกัน ผมก็เลยให้เอ็มมาอยู่ แต่พอดีจังหวะท่านโดนเว้นวรรค ท่านทิ้งเลย ชวนไปนั่งหน้าเวทีท่านยังไม่ไปเลย แล้วผมไม่มีอะไรในพรรคเลย ผมจะไปขึ้นเวทีอะไรก็ไม่ได้ ผมต้องพาลูกผมเดิน 4 เขต เดินไม่ไหวนะ คะแนนก็ได้ออกมา 3 หมื่นกว่า ซึ่งการเมืองมันก็มีหลายอย่าง แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่าเรารักพวก ถ้าใครเป็นพวกเรา เราไม่เคยทิ้งพวก เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็เลยมีบทเรียนอะไรเยอะ ชีวิตเราอาจจะอ่านอะไรไม่ค่อยผิด แต่ถ้าเราไม่ได้อ่านนิสัยใจคอคน นี่ไม่ได้นะ ต้องอ่านด้วย แล้วเอามาบวกด้วยว่าเป็นอย่างไร” ชัช เตาปูน กล่าว

“จากนั้นเอ็มก็อยากลงการเมือง แต่ผมไม่อยากให้ลง เพราะบ้านเมืองทะเลาะกันวุ่นวาย เบื้องหลังเขาก็ไปหา อ.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดย อ.สมคิดก็บอกว่า “พี่ให้มันลงเถอะ พรรคไหนก็ได้” ผมก็เลยให้ไปลงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเราให้ออกมาจากไทยรักไทยแล้ว เพราะมีคนไปพูดถึงสถาบันในทางที่ไม่ดี คุณดา ตอร์ปิโด เราก็เลยบอกว่าให้มาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเขาก็ได้เป็น”

“แต่พอมาคราวนี้ ผมตั้งพรรคเอง เขาจะอยู่พรรคประชาธิปัตย์ได้ไง เขาก็ต้องมาอยู่กับผม เพราะเป็นพ่อ-ลูกกัน เมื่อไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”

มากันที่ ร.อ.ธรรมนัส ที่เปรียบตัวเองเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของรัฐบาล ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ทำหน้าที่ “ประสานสิบทิศ” ให้ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการเจรจากับพรรคเล็ก-พรรคใหญ่ ซึ่งรู้จักกับ “ชัช เตาปูน” มานานแล้ว

โดยมี “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 กับนายทักษิณ – “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) พามาพบ โดย “ผู้กองมนัส” ถือเป็นน้องรักของ “เสธ.ไอซ์” ด้วย

“ก็รู้จักกันธรรมดา ซึ่งไอซ์เขาเป็นเด็กที่นี่ เด็กบางซื่อ แล้วเติบโตเป็นนักเรียนนายร้อย จปร. ก็เหมือนพี่น้องกัน เราก็ติดต่อกันตลอด ตอนนั้นใครที่อยู่กับเขา ก็มาแล้วพูดคุยกัน เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรผิดแปลกไป แค่นั้นเอง ตอนที่ไอซ์เขาจะตายนั้น ธรรมนัสเขาพูดว่า “อาครับ” เขาเรียกผมอา “พี่ไอซ์บอกให้มาอยู่กับอา” แต่พออีกไม่กี่วัน เขาก็ไปอยู่ทางพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งผมก็เข้าใจ เพราะเขาต้องไปในสิ่งที่เขาทำได้ เขามีอะไรที่ดีกว่าเรา เพราะเราไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปส่งเสริมเขา เป็นธรรมดา เราเข้าใจ” ชัช เตาปูน กล่าว

ด้าน ร.อ.ธรรมนัสเล่าย้อนไปถึงเมื่อครั้งลงสู่สนามการเมืองครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ว่า “ตั้งแต่ปี 2542-2543 ที่มีการเลือกตั้ง ผมอยู่กับพรรคไทยรักไทย ดูยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนนั้น ทำงานกับอดีตรัฐมนตรีปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และอยู่กับอดีตรัฐมนตรีหลายๆ คน ที่วางแผนยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งหมายความว่าช่วงเวลานั้นเราอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการเลือกตั้งซ่อมในหลายจังหวัด เรื่องยุทธศาสตร์ เราจะเป็นคนทำ พอเปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย เราก็ได้เข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งตลอด”

ครั้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการจัดระเบียบสังคมของ คสช. ทำให้ “ผู้กองมนัส” ถูกจับตาจาก คสช. ด้วยนั้น ร.อ.ธรรมนัสเล่าถึงเบื้องหลังการเข้ามาพรรคพลังประชารัฐว่า “เหตุผลสำคัญ ผมก็ได้คุยกับพี่น้องที่เป็นนักการเมืองหลายๆ ท่าน ที่มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ว่าสิ่งที่เราเดินเส้นทางการเมือง ที่เป็นอีกซีกที่เป็นขั้วการเมือง ที่สร้างให้เกิดความแตกแยกทางสังคม ในนามกลุ่มพี่น้องเสื้อแดง ผมจบ ตท.25 – จปร.36 ผมก็มีเพื่อนพี่น้องเป็นนายตำรวจ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ หลายท่านก็แนะนำ หากเล่นการเมือง ก็อยากให้เห็นประโยชน์หลักของประเทศชาติบ้าง ซึ่งบ้านเมืองจะต้องมีสิ่งสำคัญคือเสาหลักของบ้านเมือง ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดใหม่ เลยได้หารือพี่น้องเพื่อนนักการเมืองว่า ถ้ามีพรรคการเมืองที่เป็นเส้นทางเลือกใหม่ ที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็น่าจะเป็นทิศทางที่ดี ที่ทำให้บ้านเมืองสงบ ซึ่งหลังจากปี 2557 ภายใต้รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ เราก็จะเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการเมืองข้างถนน”

แน่นอนว่าทุกคนอยากทราบถึงบุคคลที่ชักชวนมาร่วมพรรคพลังประชารัฐ โดย ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า

“ไม่ขอเอ่ยนามท่าน มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่ผมให้ความรัก ความเคารพ เป็นรุ่นพี่ คือพี่ท่านนี้ก็ดูแลชีวิตผมมาตลอด ให้ความเมตตาผมมาตลอด ท่านถามผมว่า “พอรึยังกับสิ่งที่มีอยู่ทุกวันนี้” คำพูดคำนี้มันทำให้ผมหันกลับมาคิดว่าเราเป็นลูกชาวนา และทุกวันนี้เราสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้มาเป็นนักธุรกิจ-นักการเมืองที่อยู่แนวหน้าของประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้ทำคือการตอบแทนคุณแผ่นดิน คำพูดที่พี่เขาถามพอรึยัง ผมบอกว่าพอแล้ว เมื่อพอแล้วคืนสู่แผ่นดินบ้าง และคำพูดคำนี้ทำให้ผมต้องคิด และมีหลายๆ เรื่องที่พี่เขาขอร้องว่า มาทำเพื่อบ้านเมือง เพื่อสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติ”

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองยุค คสช.ภาค 2 ดังนั้น “ผู้กว้างขวาง” เหล่านี้จึงต้องมาร่วมทัพหรือเป็นพันธมิตรทางการเมืองต่อไป

ในอีกด้านก็สะท้อนภาพ “ดุลอำนาจ” ของการเมืองไทยยุคนี้