คุยกับทูต โจอาคิม อามารัล (2) | ติมอร์-เลสเต กับความหวังเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11

คุยกับทูต โจอาคิม อามารัล (2) ติมอร์-เลสเต กับความหวังเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11

“ภารกิจสำคัญในระหว่างที่ผมประจำประเทศไทยเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา ความเชื่อมโยงระหว่างกัน และส่งเสริมติมอร์-เลสเตเข้าสู่การเป็นชาติสมาชิกอาเซียน และเพื่อได้มีส่วนร่วมในภาคเอกชน นักลงทุนและนักธุรกิจไทย สถานทูตเสนอชื่อนางสาววินิตา จามิกรณ์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ท่านทูตโจอาคิม อามารัล กล่าว

“สำหรับด้านการศึกษา สถานทูตได้ร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยไทยสี่แห่งคือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หอการค้าไทย (UTCC) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)”

“เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การยกเว้นวีซ่า บันทึกความเข้าใจ (MOU) ลงนามในกรุงดิลี (Dili) ระหว่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เดินทางไปเยือนติมอร์-เลสเตอย่างเป็นทางการ ซึ่งสถานะปัจจุบันของบันทึกความเข้าใจนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย”

“ความร่วมมือทวิภาคี ติมอร์-เลสเตและไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิคระหว่างสองรัฐบาลในปี ค.ศ.2013 เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน”

“สถานทูตได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่จากติมอร์-เลสเต เพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรม การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนาชุมชนต้นแบบของประเทศไทยภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

อนึ่ง ในระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวม 61 วัน มีโครงการ “การสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเลร่วมระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต” โดยเรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ เป็นการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือด้านวิชาการและเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ เป็นเรือสำรวจของกรมประมง มีความยาว 67.25 เมตร ขนาด 1,424 ตันกรอส มีระยะทำการ 12,000 ไมล์ทะเล เคยใช้สำรวจแหล่งทำประมง นอกน่านน้ำในหลายพื้นที่ เช่น มัลดีฟส์ ศรีลังกา เซเซลส์ เมียนมา และในมหาสมุทรอินเดีย

การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจในทะเลอาณาเขต และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ทิศตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย และอยู่เหนือประเทศออสเตรเลีย

โดยมีลูกเรือและนักวิจัยของไทย 37 คน และนักวิจัยจากติมอร์-เลสเต 10 คน ร่วมสำรวจครั้งนี้

“ส่วนในด้านเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตได้ประสานงานให้นักธุรกิจไทยและนักลงทุนเข้าเยี่ยมชมและสำรวจโอกาสทางธุรกิจในติมอร์-เลสเต” ท่านทูตโจอาคิมชี้แจง

ลู่ทางการค้าการลงทุนในติมอร์-เลสเตที่มีศักยภาพ คือ ไร่กาแฟ การประมง ธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งทรัพยากรประเภทน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในเขต Timor Gap ซึ่งอยู่ระหว่างติมอร์-เลสเตกับออสเตรเลีย ส่วนสถาบันกาแฟติมอร์-เลสเต (ETCI) ก่อตั้งในเมืองเอเมร่าเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.2003 โดยผู้นำชุมชนและประชาชนชาวเมืองเอเมร่า มีเป้าหมายเพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ เป็นสถาบันเอกชนที่พัฒนาทักษะทางปัญญาความสามารถในการผลิตที่มีคุณภาพ มีการเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยเฉพาะการเกษตร และการปลูกกาแฟที่ขึ้นชื่อและมีคุณภาพ

“ประเทศคู่ค้าที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของติมอร์-เลสเต คืออินโดนีเซีย ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ติมอร์-เลสเตนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยส่วนใหญ่ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว แป้งสาลี เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน”

ติมอร์-เลสเตจับมือกับบริษัทวิจัยออสเตรเลีย ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลขยะพลาสติกชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน กำลังจะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ปลอดขยะพลาสติกโดยสิ้นเชิง

โดยรัฐบาลติมอร์-เลสเต ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัทวิจัย “มูรา เทคโนโลยี” ของออสเตรเลีย เพื่อร่วมตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อ “เรสเปกต์” เพื่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ จะเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2020 นี้

ติมอร์-เลสเตกับอาเซียน (ASEAN)

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ.1999 ติมอร์-เลสเตได้แสดงความปรารถนาถึงการเป็นสมาชิกอาเซียนอันจะเห็นได้จากการเข้าร่วมเวทีการประชุมต่างๆ ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

หลังจากได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียนในปี ค.ศ.2002 ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค (ASEAN Regional Forum) ในปี ค.ศ.2005 และร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation) ในปี ค.ศ.2007

“ติมอร์-เลสเตได้ยื่นเอกสารสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2011 ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนต่างยินดีรับใบสมัครในเชิงบวก โดยดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อบูรณาการและเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสถาบันและกลไกการปกครองในประเทศ การตั้งสถานกงสุลหรือสถานทูตประจำในชาติอาเซียน และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในทุกนัด รวมถึงการประชุมสุดยอดปี 2019 ที่ไทยรับหน้าที่ประธานด้วยเช่นกัน”

“ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนติมอร์-เลสเตเข้าสู่อาเซียนอย่างเต็มที่ โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของติมอร์-เลสเตเข้าร่วม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 52 (52nd AMM), การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 26 (26th ASEAN Regional Forum – ARF), การประชุมระดับรัฐมนตรีภูมิภาคแปซิฟิก แถบตะวันตกเฉียงใต้ครั้งที่ 17 (17th SwPD)”

“สำหรับปี ค.ศ.2020 ติมอร์-เลสเตได้รับความเชื่อมั่นให้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 18 (18th SwPD) ในเวียดนาม”

“ความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จอีกอย่างหนึ่งคือ ในระหว่างวันที่ 3-6 กันยายนที่ผ่านมา คณะค้นหาข้อเท็จจริงจากประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC FFM) นำโดยนางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนคณะกรรมการผู้แทนถาวร (CPR) และสำนักเลขาธิการอาเซียนเดินทางเยือนกรุงดิลี เพื่อประเมินความพร้อมของติมอร์-เลสเตในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน”

เอกอัครราชทูตโจอาคิม อามารัล กล่าวชื่นชมและแสดงความขอบคุณตอนท้ายว่า

“ประการแรก ประเทศติมอร์-เลสเตได้รับเกียรติอย่างสูงจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมื่อวันที่ 10-13 มิถุนายนที่ผ่านมา ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานและความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงเรียนฟาตูเกโร โรงเรียนอันนา เลมอส, โรงเรียนประถมศึกษาอะคานูโน และโรงเรียนมัธยมเอ็นชิโน บาซิโกเฮรา รวมทั้งกิจการของสถาบันต่างๆ ในติมอร์-เลสเตอีกด้วย”

“ประการที่สอง ผมขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่ประสบความสำเร็จในฐานะตำแหน่งประธานอาเซียน รวมทั้งเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ประจำปี 2019”

“ท้ายสุด ผมยินดีและซาบซึ้งในความร่วมมือที่ประเทศไทยมีต่อประเทศติมอร์-เลสเต โดยมุ่งหวังในการรักษาความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งโดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันตลอดไป”