จิตต์สุภา ฉิน : เทคโนโลยีตรวจหาสัญญาณฆ่าตัวตาย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นสถานที่ที่เราใช้เพื่อระบายแม้กระทั่งความรู้สึกในซอกมุมที่อยู่ลึกที่สุดของใจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่หน้าไทม์ไลน์ก็อาจจะกลายเป็นคำสั่งเสียสุดท้ายก่อนที่เจ้าชื่อแอ็กเคาต์จะจบชีวิตตัวเองลาจากโลกนี้ไปตลอดกาล

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม จึงจำเป็นต้องทำทุกทางเพื่อที่จะระบุให้ได้ว่าผู้ใช้คนไหนกำลังอยู่ในสภาวะทางจิตใจที่ย่ำแย่ และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที

แต่การที่จะดูแลตรวจตราผู้ใช้เป็นหลักพันล้านคนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเหมือนกัน

ข้ามมาดูทางฝั่งตะวันออกบ้าง South China Morning Post รายงานเกี่ยวกับความพยายามของโซเชียลมีเดียเวยป๋อ ที่เปรียบเหมือนทวิตเตอร์ในเวอร์ชั่นของจีนเอง คือเอาไว้อัพเดตสถานะสั้นๆ แต่เป็นโซเชียลมีเดียที่ถูกควบคุมด้วยทางการจีนอย่างใกล้ชิด

และพร้อมจะเซ็นเซอร์ทุกคำสำคัญที่จีนมองว่าเป็นหัวข้อที่อ่อนไหว

 

เนื้อบทความพูดถึงชายแซ่หวางคนหนึ่ง ที่มีอาการป่วยทางจิตเกี่ยวกับการเข้าสังคม อาการเขาหนักจนถึงขนาดที่เขาไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่สามารถแม้แต่จะยกหูโทรศัพท์ขึ้นสนทนากับใครได้ ทำให้ต้องพึ่งพาญาติให้ช่วยซื้อข้าวมาวางเอาไว้ที่หน้าประตูให้ทุกวัน

การติดต่อระหว่างเขากับคนภายนอกสามารถทำได้แค่ช่องทางเดียวคือผ่านทางโซเชียลมีเดีย ที่ที่เขาสามารถพิมพ์ความรู้สึกลงไปผ่านแป้นคีย์บอร์ดได้โดยไม่จำเป็นต้องสบตากับใคร

เขาเคยคิดจะฆ่าตัวตายมาแล้วแต่ก็ยังทำไม่ลง

หวางเขียนระบายความรู้สึกลงไปในเวยป๋อ และจู่ๆ ก็ได้รับการติดต่อมาจากคนแปลกหน้าเพื่อถามไถ่ว่าเขาเป็นอย่างไร อยากจะคุยกับใครสักคนหรือเปล่า

ซึ่งก็ปรากฏว่าคนที่อยู่ปลายทางนั้นก็คือที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา ซึ่งไม่ใช่โชคชะตาที่พาให้เธอมาพานพบกับเขา

แต่เป็นเพราะโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่เธอและทีมงานใช้ในการสแกนเวยป๋อเพื่อหาคนที่มีอาการซึมเศร้าและกำลังคิดฆ่าตัวตาย เพื่อที่จะได้รีบติดต่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

และโปรแกรมนั้นก็เป็นบ็อตที่มีชื่อว่า Tree Hole หรือรูต้นไม้

Tree Hole เป็นโปรแกรมที่จะตรวจหาทุกๆ โพสต์บนเวยป๋อเพื่อดูว่าเจ้าของโพสต์คนไหนมีเจตนาที่จะฆ่าตัวตายอยู่บ้าง

โดยเป็นผลงานของทีมงานใน University of Amsterdam

โปรแกรมจะสแกนเวยป๋อทุกๆ สี่ชั่วโมง เพื่อไล่หาคีย์เวิร์ดที่บ่งชี้ให้เห็นสัญญาณของการฆ่าตัวตาย เช่น คำว่า “ความตาย” “ปลดปล่อยจากชีวิต” หรือ “จุดจบของโลก”

การตรวจจับแต่ละครั้งจะแบ่งความรุนแรงออกเป็น 10 ระดับ

ระดับที่สูงที่สุดหมายถึงโพสต์ที่ละเอียดที่สุด อย่างเช่น ระบุเวลา สถานที่ หรือวิธีที่จะใช้ในการฆ่าตัวตาย

โพสต์ไหนได้รับการจัดลำดับให้สูงกว่าลำดับที่ห้าขึ้นไป ระบบจะแจ้งเตือนให้ทีมได้รู้ทันที

ซึ่งทีมก็จะรีบส่งต่อให้จิตแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดดำเนินการต่อ ซึ่งตั้งแต่พัฒนามาได้หกเจเนอเรชั่น

ตอนนี้ระดับความแม่นยำของโปรแกรมก็มีสูงถึง 82% แล้ว

และพบสถิติว่าส่วนใหญ่คนจะโพสต์ถึงเจตนาฆ่าตัวตายมากที่สุดในช่วงเวลาตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสอง

และ 3 ใน 4 คนเป็นผู้หญิง

 

ที่มาของชื่อ Tree Hole หมายถึงการที่สมัยก่อน เวลาคนเรามีเรื่องขัดข้องหมองใจแต่ไม่รู้จะพูดออกไปหรือจะบอกใครยังไง ก็อาจจะไปกระซิบใส่ต้นไม้เพื่อไม่ให้ใครได้ยิน

แต่มาสมัยนี้โซเชียลมีเดียก็รับหน้าที่นี้ไปแทนแล้ว จะแตกต่างกันก็ตรงที่โซเชียลมีเดียไม่ใช่การกระซิบ แต่เป็นคล้ายกับการส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือขั้นสุดท้ายมากกว่า

องค์การอนามัยโลกบอกว่า สถิติทั่วโลกนั้น การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับที่สองของกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี และมีคนจำนวน 1.5 ล้านคนจากทุกกลุ่มอายุที่จะฆ่าตัวตายภายในปีหน้า

ส่วนในจีนนั้น มีคนอย่างน้อย 136,000 คนที่ฆ่าตัวตายในปี 2016 ซึ่งนับเป็น 17% ของคนที่ฆ่าตัวตายทั่วโลกในปีเดียวกัน

ซึ่งวิธีป้องกันที่ได้ผลที่สุดก็คือการต้องระบุตัวคนที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายให้เร็วที่สุดและยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แสดงให้พวกเขาเหล่านั้นเห็นว่ายังมีคนที่เป็นห่วงและพร้อมรับฟังในทุกกรณี ซึ่งเทคโนโลยีก็สามารถเข้ามาช่วยให้หาตัวคนกลุ่มนี้ได้ง่ายและเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในโลกตะวันตกก็ยังมีอีกปัญหาที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีสแกนหาทุกประโยค ทุกคำ ที่ผู้ใช้งานพิมพ์ลงไป หรือไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาทำนายสีหน้าและอารมณ์เพื่อหาสัญญาณของอาการโรคซึมเศร้า

แม้จะมีศักยภาพในการช่วยชีวิตคนได้ แต่ก็ขัดแย้งกับหลักการเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่บางประเทศให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

ทีมผู้พัฒนา Tree Hole บอกว่า ปัญหาการติดตามและเก็บข้อมูลด้านสุขภาวะจิตของผู้ใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นอาจจะก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ใช้ในประเทศอื่นก็จริง

แต่ Tree Hole ซึ่งเน้นการสแกนโพสต์ของผู้ใช้งานชาวจีนแผ่นดินใหญ่บนเวยป๋อนั้นไม่มีปัญหาเรื่องนี้แต่อย่างใด ทีมงานบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า เวยป๋อคือแพลตฟอร์มแบบเปิด และให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตผู้ใช้มากกว่าความเป็นส่วนตัว

นอกจากการไล่สแกนหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว ทีมก็ยังพัฒนาบ็อตที่สามารถพูดคุยสนทนาเบื้องต้นกับคนที่คิดฆ่าตัวตายได้

แต่ทีมก็เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะอย่างไร บ็อตเหล่านี้ก็จะไม่สามารถแทนที่คนได้

และการได้พูดคุยตัวต่อตัวกับคนที่ให้คำปรึกษาได้นั้นก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอยู่ดี

 

ในประเทศไทย โซเชียลมีเดียหลายแห่งก็มีมาตรการรับมือกับเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

อย่างเช่น หากค้นคำว่า “อยากตาย” ในทวิตเตอร์ ก็จะได้เห็นภาพที่เขียนว่า “เราพร้อมช่วยคุณ คุณไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าคุณหรือคนรู้จักกำลังท้อแท้หรือเผชิญวิกฤตในชีวิต” พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ และสายด่วนที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันที

เช่นเดียวกับในอินสตาแกรม ที่จะให้ตัวเลือกขึ้นมาว่า จะติดต่อสายด่วน ขอเคล็ดลับความช่วยเหลือ หรือจะโทร.-ส่งข้อความหาเพื่อนสักคน

กลับมาที่หวาง ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ตัวคนเดียวเพราะพ่อ-แม่ไปใช้แรงงานอยู่ในเมืองใหญ่ ก็ได้พูดคุยกับทีมนักจิตแพทย์อย่างใกล้ชิด แม่ย้ายกลับมาอยู่ด้วยกัน และเขาก็ได้นอนหลับกินอิ่มครบทั้งสามมื้อ

ซึ่งถ้าหากไม่มีโปรแกรมที่ตรวจเจอว่าเขากำลังจะไปต่อไม่ไหวแล้ว ตอนนี้หวางอาจจะไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้อีกแล้วก็ได้

แต่จะพึ่งแค่ปัญญาประดิษฐ์อย่างเดียวก็คงไม่ไหว เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนโซเชียลมีเดียกันก็ไม่น้อย อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ที่เราเห็นสัญญาณผิดปกติบางอย่างจากเพื่อนสักคน อย่ามัวแต่คิดไปเองว่าเขาหรือเธอแค่เรียกร้องความสนใจเฉยๆ คงไม่ทำอะไรหรอก หรือปัดผ่านๆ ไปเพราะนึกว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของตัวเอง

บางครั้งแค่ส่งข้อความไปหาเพื่อถามไถ่ว่าไหวมั้ย ก็อาจจะสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นกับความตายได้แล้ว