จัตวา กลิ่นสุนทร : บทบาท “สยามรัฐ” ในวังวนการเมืองไทย

เป้าหมายเดิมเพียงต้องการเล่าเรื่องเก่าซึ่งเป็นสำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” มาตั้งแต่วันแรกก่อกำเนิด กระทั่งต้องมาโยกย้ายเปลี่ยนแปลงภายในปี พ.ศ.2562

เพราะบังเอิญได้ใช้ชีวิตทั้งเรียนหนังสือ กระทั่งสำเร็จการศึกษาออกมาทำงานอยู่ละแวกนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นรวมเวลากว่า 40 ปี ดังได้กล่าวมาบ้างแล้ว และอาจจะต้องกล่าว (ซ้ำซาก) ต่อไปอีก

เกิดความผูกพันมากพอจะเก็บรวบรวมบรรยากาศจนถึงเรื่องอื่นๆ มาเขียนถึงได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การดำเนินงานของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งได้ผ่านเหตุการณ์มากมายในการต่อสู้กับอำนาจ “เผด็จการทหาร” ภายใต้ร่มบุญของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่กรรม)

เพราะฉะนั้น หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” และ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ย่อมต้องมีบทบาทไม่น้อยกับการอยากเห็น อยากได้ ต้องการให้ประเทศมีการปกครองตามระบอบ “ประชาธิปไตย” จึงต่อสู้กับการปกครองที่ประชาชนส่วนมากไม่ต้องการ ไม่ยอมรับสืบต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุผู้นำ มากหลายรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น “รัฐบาลทหาร”

รัฐบาลพลเรือนที่ทำท่าว่าจะเป็นประชาธิปไตย สอดแทรกเข้ามาบ้างเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ในที่สุดก็โดน “ปฏิวัติรัฐประหาร” ถูก “ยึดอำนาจ” เป็นระยะๆ กระทั่งกลายเป็นประเทศที่ทหารทำการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญมากที่สุดประเทศหนึ่ง

จนถึงครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งยังไม่มีใครกล้าพูดได้ว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้าย

 

จากคอลัมน์ “บทบาททางการเมือง ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งนำมาตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ในหนังสือ “100 ปีชาตกาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” (จัดพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์สยามรัฐ/ออกเผยแพร่ปี พ.ศ.2554) กล่าวถึงหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ไว้ช่วงหนึ่งว่า—

“หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เดินหันหลังจากการเมืองมาปักหลักอยู่ที่สยามรัฐ เสาเอกของประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง และนับแต่วันแรกที่เข้ามาจับงานสยามรัฐ ข้อเขียนของท่านคือ หอกแหลมคมที่ทิ่มแทงเผด็จการพลเรือนได้อย่างเจ็บแสบ และนำความสะดุ้งสะเทือนมาให้มากที่สุด–

กล่าวได้ว่าในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในยุคสมัยนี้ด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสยามรัฐคือทางออกที่ดีที่สุดของยุคมืดมนยุคหนึ่งของประเทศไทย และสยามรัฐมีส่วนในการนำมาซึ่งความไม่พอใจสูงสุดต่อรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ผลที่สุดถูกปฏิวัติไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 วันเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติตัวเอง”

การปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 โดย “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” (ถึงแก่กรรม) เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ ร่วมด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ อธิบดีกรมตำรวจ ตามรูปแบบการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย หัวหน้าคณะปฏิวัติหนนี้ คือคนเดียวกับหัวหน้า “คณะปฏิรูปฯ” วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520” แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 2519 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2521 ซึ่งมีผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารงานแทนคณะปฏิวัติ และจัดตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติแทนสภาปฏิรูปที่ถูกยุบไป

และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ก่อนคณะรัฐมนตรี ซึ่งในคณะรัฐบาลชุดนี้มี “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” (ถึงแก่กรรม) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 และเพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศ “พลเอก” ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เป็นก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่การเมือง

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า “ไม่เคยนึกมาก่อน เขาไม่เคยบอกมาก่อน ปุบปับก็บอกผมให้มาโดยไม่ได้มีเวลาตรึกตรองอะไร มันรวดเร็วเกินไป”

นายทหารคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ในการยึดอำนาจการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่ง พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ ไม่ได้มีชื่อ พล.ท.เปรม แต่มีคนค้านว่าควรมีเพราะท่านเป็นแม่ทัพภาค พล.ร.อ.สงัดจึงใส่ชื่อท่านลงไปโดยไม่ได้บอกให้เจ้าตัวทราบ และต่อมาชื่อของท่านก็ปรากฏในการปฏิวัติวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ด้วยเช่นกัน

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ตอนที่ พล.ร.อ.สงัดเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิวัติเหมือนกัน”

ซึ่งต่อมาต่างย่อมทราบดีว่าท่านเป็นนายทหารที่ “ชิงชังการปฏิวัติ” ขณะที่ท่านเป็น “นายกรัฐมนตรี” และกลุ่มนายทหาร “ยังเติร์ก” ก่อการปฏิวัติ ที่เรียกว่าเมษาฮาวาย (1-3 เมษายน 2524) ขึ้น

 

ภายหลังการปฏิวัติ (20 ตุลาคม 2520) ดังกล่าว ทำให้เกิด “รัฐธรรมนูญ” แห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ.2521 ส่งผลให้มีการเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน 2522 ซึ่งพรรค “กิจสังคม” ได้รับเลือกเข้ามามากที่สุด

แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ.2483) ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ โดยกลุ่มนายทหารหนุ่มที่คุมกองกำลังมากที่สุด เรียกว่ากลุ่ม “ยังเติร์ก” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 15)

รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เจ้าของฉายา “อินทรีบางเขน” (นายกรัฐมนตรีชอบปรุงแกงเขียวหวานใส่บรั่นดี) ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ หลายพรรค อย่างน้อยได้พยายามจะเป็น “ประชาธิปไตย” มีสภาผู้แทนราษฎร มี “ฝ่ายค้าน” ซึ่งเป็นพรรคกิจสังคม ซึ่งอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค

รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เรียกกันว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาธิปไตยครึ่งใบ ประมาณนั้น ตัวนายกรัฐมนตรีเองไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎร ไม่ชอบเข้าประชุมสภา ซึ่งดูเหมือนพยายามจะหลบหลีกประชุมสภา

จึงดูไม่แตกต่างจาก “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศนี้ในปี พ.ศ.2562 แต่ทำท่าภูมิใจบอกว่าตัวเองมาจากการ “เลือกตั้ง”?

 

อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้พักปากการามือไปจากสยามรัฐตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2516 กระทั่งไปก่อตั้งพรรคกิจสังคม ในปีถัดมา (2517) ก่อนสมาชิกจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 18 ที่นั่ง แต่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ในปี พ.ศ.2518—

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ “ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า “หนังสือพิมพ์” จะต้องเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรง วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาลอย่างหนักหน่วง จนเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าหนังสือพิมพ์ (สื่อมวลชน) ควรจะเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของผู้ก่อตั้งได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นหัวหน้ารัฐบาล หนังสือพิมพ์นโยบายการเมืองฉบับเก่าแก่ ซึ่งเน้นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างหนักมากกว่าการเสนอข่าว ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ สนับสนุนส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างหนักต่อไปอีกหรือไม่?

กองบรรณาธิการ “สยามรัฐ” ขณะนั้นพยายามวางตัวเป็นกลาง บางครั้งความรู้สึกอาจเว้นให้ได้บ้างเฉพาะตัว “นายกรัฐมนตรี” แต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลซึ่งพยายามจะเข้าหาพวกเราโดยอ้างนายเสมอ ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อสยามรัฐตำหนิติเตียนรัฐบาลจึงกลายเป็นเล่นละคร รัฐบาลทำดี มีนโยบายโดดเด่น ต้องชม ก็กลายเป็นว่ามากเกินไป

คนหนังสือพิมพ์ค่าย “สยามรัฐ” (ริมถนนราชดำเนิน) จึงกำหนดบทบาทตัวเอง วางตำแหน่งที่ยืนยากลำบาก บางทีมีความรู้สึกว่า “พรรคกิจสังคม” หรือ “คณะรัฐมนตรี” ได้กลายเป็นเหมือน “เจ้านาย” เราไปทั้งหมด

แต่ทีม “สยามรัฐ” กลับผ่านมาได้