วิเคราะห์ : เวนิสกำลังจมน้ำ สัญญาณภาวะโลกร้อน เมื่อทะเลกำลังกินเมือง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“เวนิสเป็น 1 ใน 10 เมืองของโลกที่จะต้องไปก่อนตาย” เป็นข้อความของผู้ชื่นชอบการท่องโลกกว้าง เก็บบันทึกไว้ในความทรงจำและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง รุ่นแล้วรุ่นเล่า และใครได้ไปเยี่ยมชม “เวนิส” ต่างก็ยอมรับโดยดุษณี

ดูแผนที่ประเทศอิตาลี นครเวนิสอยู่ทางทิศเหนือ เป็นเมืองหลวงของแคว้นเวเนโต ในพื้นที่ของเมืองมีทะเลสาบล้อมรอบเชื่อมติดกับทะเลเอเดรียติก ประกอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยนับได้ 118 เกาะ มี “แกรนด์คาเนล” เป็นคลองหลัก และสะพานอีกกว่า 400 แห่ง

การเดินทางไปมาในเวนิสมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก คือเดินเท้ากับนั่งเรือโดยสาร

“เวนิส” เป็นศูนย์กลางของการค้าของยุโรปตั้งแต่ยุคโบราณกว่า 1,000 ปี โบสถ์ วิหาร อาคารบ้านเรือน สร้างขึ้นอย่างโดดเด่นสวยงาม ผสมผสานกับศิลปะหลากหลายตามยุคสมัย เช่น ไบแซนไทน์ โกธิก และเรเนสซองส์

บางคนขนานนามนครเวนิสว่า ราชินีแห่งเอเดรียติก บ้างก็ตั้งฉายานครแห่งโรแมนติก นครบาดาล เมืองแห่งสะพาน ฯลฯ

 

ความมีเอกลักษณ์เฉพาะทำให้เวนิสเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยวอิตาลี แต่ละปีผู้คนทั่วโลกมาเยือน “ราชินีแห่งเอเดรียติก” ราว 20 ล้านคน

จำนวนนักท่องเที่ยวมากมหาศาลดังกล่าวสร้างปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม

ในฤดูร้อน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่างจัตุรัสซานมาร์โก สะพานริอัลโต มีนักท่องเที่ยวอัดแน่นจนแทบไม่มีทางให้เดินสวนกัน

นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยใช้สะพานเป็นที่ปิกนิก ที่ทิ้งขยะ บางแห่งกลายเป็นสระน้ำ

ขณะที่ล้อกระเป๋าเดินทางของนักท่องเที่ยวก็เป็นปัญหา เพราะไม่มีถนนให้รถวิ่ง ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อขึ้นจากเรือก็ต้องลากกระเป๋าไปหาที่พักเอง

เสียงล้อลากครูดกับพื้นถนนปูด้วยก้อนหินตลอดทั้งวันทั้งคืนสร้างความรำคาญให้กับชาวเวนิสซึ่งอยู่ถาวรราว 5 หมื่นคน

ผู้บริหารเวนิสเพิ่มโทษปรับสูงขึ้น เช่น การลากกระเป๋าในบริเวณแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทำให้เกิดเสียงดัง หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง

ใครเจอค่าปรับครั้งละ 500 ยูโร หรือราว 17,000 บาท คงไม่สนุกแน่

เวลานี้ปัญหานักท่องเที่ยวป่วนเมืองกลายเป็นประเด็นรองไปแล้ว

หลังจากเกิดพายุบริเวณจุดศูนย์กลางในทะเลติร์เรเนียน เมื่อวันที่ 11พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้กระแสลมที่เรียกว่า “ซิรอคโค” พัดจากฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาตอนเหนือเข้าสู่คาบสมุทรอิตาลีซึ่งมีรูปทรงคล้ายรองเท้าบู๊ตแล้วพุ่งตรงไปยังทะเลเอเดรียติกมีรูปทรงเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้า

กระแสลมดังกล่าวมีผลต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำในทะเลเอเดรียติกบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปลายสุดเป็นจุดที่ตั้งของนครเวนิส

นครเวนิสจึงเปรียบเหมือนกำแพง เมื่อกระแสน้ำพัดเข้าใส่ทำให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นม้วนถล่มจนท่วมเมืองครอบคลุมพื้นที่กว้าง 80 เปอร์เซ็นต์

ระดับน้ำในใจกลางนครวัดได้ 187 เซนติเมตร

เป็นความเสียหายหนักสุดในรอบ 50 ปี

นายลุยจิ บรูยาโร นายกเทศมนตรีนครเวนิส บอกว่าสาเหตุหลักของน้ำท่วมครั้งนี้มาจากภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงกว่าอดีต

ในอดีตปรากฏการณ์น้ำท่วมนครเวนิสเกิดขึ้นทุกๆ 20 ปีหรือ 30 ปีครั้ง ปัจจุบันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเฉลี่ยทุกๆ 5 ปี หรือน้อยกว่านั้น

เมื่อปีที่แล้ว “เวนิส” ประสบเหตุการณ์น้ำท่วมแต่ไม่หนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้

 

ในวันเกิดเหตุ บาทหลวง “ฟรานเซสโก มูราเยีย” ดูแลมหาวิหารเซนต์มาร์ก ซึ่งมีอายุเกือบ 1,000 ปี และเป็นมรดกโลก เล่าว่า น้ำทะเลซัดกระจกวิหารแตกกระจายทะลักเข้าไปในวิหารและชั้นใต้ดินซึ่งเป็นที่เก็บศพบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์

มหาวิหารเซนต์มาร์กเพิ่งได้รับการบูรณะเสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2561 เสียค่าใช้จ่ายไปราว 2.2 ล้านยูโร

แหล่งสำคัญอื่นๆ ในเวนิส เช่น โรงละครโอเปร่า ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์เยอรมัน-อิตาเลียน เป็นที่เก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็เจอน้ำทะเลท่วมเช่นกัน

ชาวเวเนเซียนให้สัมภาษณ์ว่า คลื่นลมแรงมาก พัดกระหน่ำจนน้ำทะลักเข้ามาในร้าน เก็บข้าวของไม่ทัน

น้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับเวนิสอย่างยับเยิน ประเมินเบื้องต้นราว 1,000 ล้านยูโร และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักทรุดลงไปด้วยเพราะทัวร์ยกเลิก

นายจูเซปเป้ คอนเต้ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประชุมคณะรัฐมนตรีพร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินและอนุมัติงบฯ ช่วยเหลือนครเวนิสเป็นเงิน 20 ล้านยูโร หรือราว 700 ล้านบาท แถมยังวิงวอนขอให้ชาวโลกช่วยบริจาคสมทบทุนนครแห่งโรแมนติกอีกต่างหาก

ส่วนหนึ่งของงบฯ ที่รัฐบาลอิตาลีอนุมัติให้นั้นนำไปช่วยเหลือชาวเวเนเซียนที่บ้านเจอน้ำท่วม หลังละ 5,000 ยูโร ส่วนเจ้าของภัตตาคารร้านค้าจะได้รับเงินชดเชยแห่งละ 20,000 ยูโร

เหตุน้ำท่วมครั้งล่าสุดบรรดาสื่อรุมวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารนครเวนิสว่ามืออ่อนหัด การจัดการน้ำท่วมล้มเหลวเพราะมัวแต่จ้องโกงกินงบฯ

 

ย้อนไปเมื่อปี 2546 เวลานั้นผู้บริหารเมืองเวนิสประเมินสถานการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น และในอนาคตเวนิสต้องจมอยู่ใต้บาดาลอย่างแน่นอนจึงเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมด้วยการทุ่มเงินกว่า 6,000 ล้านยูโรสร้างประตูกันน้ำทะเลและคลื่นกระแทกขนาดใหญ่ขวางปากน้ำทางเข้าทะเลสาบ 3 จุด เรียกชื่อโครงการนี้ว่าโมเช่ (MOSE-MOdulo Sperimentale Elettromeccanico, Experimental Electromechanical Module)

ช่วงไร้พายุทะเลสงบ ประตูกันน้ำท่วมจะถูกดึงพับเก็บใต้ทะเล และใช้แรงดันให้ประตูดีดขึ้นมาตั้งฉากขวางกระแสคลื่นลมเป็นระยะทางราว 1.6 กิโลเมตร

ปรากฏว่าโครงการโมเช่ซึ่งถือเป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่สุดของโลกสะดุดเนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างบานปลาย พร้อมๆ กับข้อกล่าวหาว่าผู้บริหารร่วมกันทุจริต

ในปีที่ผ่านมา ผู้บริหารนครเวนิส พยายามรื้อฟื้นและเร่งทำโครงการจนเสร็จสิ้นในบางส่วนพร้อมกับเปิดทดลองใช้

ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่า จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ตามแผนเมื่อไหร่และป้องกันน้ำท่วมเมืองได้จริงหรือไม่

วิศวกรบางคนไม่เห็นด้วยกับโครงการโมเช่ บอกว่าเป็นแนวคิดเก่าคร่ำครึ เคยมีการเสนอมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โน่น

หลายคนเห็นแย้งว่า การสร้างประตูกันน้ำท่วมเป็นเรื่องจำเป็นเพราะนครเวนิสอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร ในบางจุด เช่น มหาวิหารเซนต์มาร์ก อยู่ในระดับสูงกว่าน้ำทะเลราว 80 เซนติเมตรเท่านั้น

ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญโลกร้อนประเมินว่า หากทำประตูกันเขื่อนเสร็จและใช้งานได้ก็ป้องกันน้ำท่วมนครเวนิสได้ไม่เกิน 30 ปี

หลังจากนั้นน้ำทะเลนับวันเพิ่มสูงขึ้นจะสร้างปัญหาไม่มีจุดสิ้นสุดอันด้วยผลพวงของสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงนั่นเอง