เมื่อ “อำนาจตุลาการ” เข้ามาในพื้นที่การเมืองไทย

มุกดา สุวรรณชาติ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามปกติคือ ฝ่ายนิติบัญญัติเล่นกันในสภา ถ้านอกเกมก็เป็นการใช้กำลังรัฐประหาร จะไม่เห็นอำนาจตุลาการมายุ่งกับการเมืองเพราะต้องการให้เป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นกลาง

เดือนสิงหาคม 2549 ธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอเรื่อง ตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป ปรากฏว่า

หลังจากรัฐประหารกันยายน 2549 ข้อเสนอของเขาก็เป็นจริง เพราะอำนาจตุลาการได้รับโอกาสให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองได้เต็มที่

ต่อมาธีรยุทธก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการ “เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น” และก็ได้เพิ่มพื้นที่อย่างต่อเนื่องจริงๆ นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

แต่ผลที่ปรากฏคือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นไปในทิศทางที่ประชาชนไม่ได้เลือก ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และส่งผลต่อความวุ่นวาย ความแตกแยก แบบที่ยังมองไม่เห็นทางออก

 

การล้มรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ 2549

เริ่มด้วยแผนการตั้งนายกฯ แบบพิเศษ (ไม่สำเร็จ)

นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งมากเกินไป ได้ ส.ส. 377 จาก 500 คน เท่ากับ 3 ใน 4 มีคนกังวลว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา มีกระแสข่าวโจมตีอย่างต่อเนื่อง มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อเหลืองที่ร่วมกับบุคคลชั้นนำบางส่วนพุ่งเป้ากดดันให้ตัวนายกฯ ทักษิณลาออก

สุดท้ายถึงขั้นยื่นถวายฎีกา ยื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และถึง ผบ.ทบ. พร้อมกันทั้งสามจุดในคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 ในที่สุดทักษิณก็ต้องประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน

8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้ส่งเรื่องให้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

20 กรกฎาคม พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549

แต่ในเดือนสิงหาคมก็พบแผนลอบสังหารนายกฯ ทักษิณโดยคาร์บอมบ์ เหมือนกับเป็นการขู่ก็ได้ ทำจริงก็ได้

15 กันยายน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. ไม่เร่งสอบข้อเท็จจริงจ้างพรรคเล็ก

19 กันยายน 2549 ฝ่ายตรงข้ามไม่ปล่อยให้มีเลือกตั้งที่ตัวเองจะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ จึงใช้กำลังรัฐประหาร

 

ปี 2550

30 พฤษภาคม ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี 111 คน

24 สิงหาคม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

23 ธันวาคม ผลการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ปี 2551

25 พฤษภาคม พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง เริ่มต้นชุมนุม โดยอ้างว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

26 สิงหาคม ยึดทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุม ถึง 3 ธันวาคม 2551 รัฐบาลไม่สามารถใช้ประชุม ครม.ได้

ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนน

แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไป จนมีการยึดสนามบิน และใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ ตามรัฐธรรมนูญโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ 3 ธันวาคม 2551

9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สมัคร” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร “ชิมไปบ่นไป”

17 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร สุนทรเวช

7 ตุลาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้มีเหตุปะทะและเกิดการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 2 คน

21 ตุลาคม ศาลฎีกาตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี-คดีที่ดินรัชดาไม่รอลงอาญา ทำให้อดีตนายกฯ ไม่กล้ากลับเข้าประเทศไทย

24 พฤศจิกายน พันธมิตรฯ ชุมนุมภายในพื้นที่ของสนามบินดอนเมือง และ 25 พฤศจิกายน ได้เข้าไปชุมนุมภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ

2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย

ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3 ธันวาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติการชุมนุม

9 ธันวาคม ปชป.จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

มีคนบอกว่ายังดีกว่าใช้กำลังทำรัฐประหารซ้ำ เพราะม็อบก็ทำจนถึงขนาดยึดสนามบินแล้ว ตุลาการภิวัฒน์แบบสุกเอาเผากิน จึงถือเป็นทางออกที่ดีกว่า

 

ปี 2552

รัฐบาลผสม 3 อำนาจ …จากตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร และงูเห่า มีสภา มีผู้บริหาร ในที่สุดแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จ แต่ไม่ใช่บันไดขึ้นบ้าน เป็นบันไดที่ท่าน้ำสำหรับลงคลอง คือแพ้เลือกตั้ง แต่ยังได้เป็นรัฐบาล โดยมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหาร เหมือนกับเป็นการประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่ารัฐบาลนี้มาจากไหน ใครสนับสนุน

ปีนี้ไม่มีคดีสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสิน

26 มีนาคม คนเสื้อแดงชุมนุม ทั้งในกรุงเทพฯ และบุกไปถึงพัทยา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสลายการชุมนุม

 

ปี 2553

26 กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป

12 มีนาคม 2553 คนเสื้อแดง (นปช.) ชุมนุมใหญ่เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่

10 เมษายน 2553 สลายการชุมนุม นปช.ที่ ถ.ราชดำเนิน มีผู้เสียชีวิต พลเรือน 21 คน ทหาร 5 นาย

13-19 พฤษภาคม 2553 สลายการชุมนุม นปช.ที่ราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 63 คน คนเสื้อแดงแค่ยึดถนนยังมีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บหลายพัน ถ้ายึดสนามบินแบบเสื้อเหลืองสงสัยตายเป็นพัน

29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 15/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน

ปี 2553 ถือเป็นปีที่รอยร้าวกลายเป็นแตกแยก การสังหารหมู่กลางเมืองทำให้สังคมไทยยิ่งแตกแบบลงลึก และรอยแตกขยายกว้างกว่าเดิม ไปในขอบเขตทั่วประเทศ 

 

ปี 2554

10 พฤษภาคม 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไป

3 กรกฎาคม ผลการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ประชาชนก็ยังคงเลือกเหมือนเดิม แยกชัดเจนกว่าเดิม ใครเคยเลือกฝ่ายไหนก็เลือกฝ่ายนั้น คนลงคะแนนคิด ถกเถียง และตัดสินใจ เลือกมาเป็นเดือนแล้ว การยึดอำนาจ 2549 และการชิงอำนาจ 2551 การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับ 2550 และอำนาจรัฐ อำนาจนอกระบบ ไม่มีผล ให้ประชาชนเปลี่ยนใจ

เพื่อไทยชนะ ได้เสียงเกินครึ่ง 265 ส.ส. (15.74 ล้านเสียง) ปชป. 159 ส.ส. (11.43 ล้านเสียง)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องบริหารและปกครองในแบบมีอำนาจครึ่งเดียว ซึ่งใครๆ ก็มองว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่มีทางอยู่นานกว่านายกฯ สมัคร ถ้าอยู่ถึง 6 เดือนก็เก่งแล้ว

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
เป็นอำนาจนิติบัญญัติ หรือตุลาการ

นักรัฐศาสตร์ชี้ว่า ทั้งอำนาจตุลาการและอำนาจทางทหาร ไม่มีสิ่งใดผูกพันกับเสียงของประชาชน ถ้าผู้ใช้อำนาจทั้งสองระบบดำรงความยุติธรรมและเป็นกลาง ก็จะไม่มีความยุ่งยากเกิดขึ้น

แต่ถ้าหากมีการกระทำที่เอนเอียงหรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามแรงผลักดันของอำนาจนอกระบบ ปัญหาจะเกิดซ้ำแบบเก่า บ้านเมืองจะวุ่นวาย กระทบทั้งประชาชนและรัฐบาล เช่น การรัฐประหารและการใช้ตุลาการภิวัตน์ ล้มรัฐบาล แบบที่ผ่านมา

การที่พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างท่วมท้น ก็เพราะประชาชนหวังว่าเสียงที่เลือก ส.ส.เกินครึ่งสภาจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้

ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย การแก้กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้ความร่วมมือของประชาชนช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

นักกฎหมายบางท่านที่รู้เกมในรัฐสภาแนะนำว่างานนี้ สภาผู้แทนฯ ควรเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และปี 2550 ควรเปิดกว้างเพื่อสรรหากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ถ้ามีการขัดขวางก็ต้องสู้กัน เพราะเราจะดำรงรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเผด็จการเป็นผู้ร่างและใช้เอาเปรียบคนทั้งสังคม เพื่อหวังสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบจะยอมให้แก้หรือ ผลก็คือ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ทำผ่านกระบวนการทางรัฐสภาก็ยังถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

 

13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ

คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 18-22/2555 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ “ควร” ทำประชามติ

28 ตุลาคม 2555 ม็อบแช่แข็ง ของเสธ.อ้าย จะแช่แข็งประเทศไทย 5 ปี แต่ทำไม่สำเร็จ

ในทางยุทธวิธี การยึดอำนาจด้วยตุลาการภิวัฒน์ ต้องสร้างภาพความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลขึ้นมา โดยพยายามใช้ยุทธวิธีในอดีต คือ ตั้งกลุ่มชุมนุมยืดเยื้อ เมื่อหมดคนสนับสนุนถึงขั้นต้องใช้ทั้ง ผกค.ปลอมมาหนุน เอาคนใส่หน้ากากมาหนุน

 

ปี 2556 

7สิงหาคม 2556 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภา มีการชุมนุมต่อต้านหน้าสภาโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ

28 กันยายน รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นที่มาของวุฒิสมาชิก

1 พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

20 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ไม่ชอบ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 15-18/2556 การดําเนินการ พิจารณา และลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาวุฒิสมาชิก เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

ส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขจึงให้ยกคําร้อง

แผนการเดิมที่ต้องการบดขยี้เพื่อไทยและขวางการแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มอำนาจเก่า หวังไว้ถึงขั้นยุบพรรค แต่กระแสต้านที่แรงจัดโดยเฉพาะการไปขุดคลิปของเก่า ที่มีทั้งคำพูดของตลกบางคน เสื้อเหลืองบางคน และหัวหน้าพรรคบางพรรค ทำให้ไม่มีใครเถียงออก เป็นเพราะมีแรงต้านมหาศาล จนบางคนไม่กล้าโผล่หน้าออกโทรทัศน์ ถ้าหากไม่มีแรงต้านแบบนี้ รับรองว่าจะโดนหนักกว่านี้

29 พฤศจิกายน เปิดตัวแกนนำ กปปส. การชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนขยายตัวเป็น กปปส. มีมาตั้งแต่ 31 ตุลาคม

วันนี้เปิดตัว “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) อย่างเป็นทางการ และจึงได้เห็นการนำของ ส.ส.ปชป. ที่ต้องลาออกจาก ส.ส. มาลงถนนอย่างชัดเจน

9 ธันวาคม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

21 ธันวาคม 2556 พรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

 

ปี 2557

24 มกราคม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2/2557 สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ตามที่ กกต.เสนอ ครม. และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. และ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

2 กุมภาพันธ์ วันเลือกตั้งทั่วไป ผู้ชุมนุม กปปส.ขัดขวางไม่ให้จัดการเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง

7 มีนาคม ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โมฆะ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

12 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน (เกิดวลีเด็ด “ถนนลูกรังยังไม่หมด” ซึ่งเป็นคำพูดของนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเป็นไปได้ ควรให้ถนนลูกรัง หมดไปจากประเทศก่อน”)

21 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ โมฆะ เพราะไม่สามารถจัดได้ภายในวันเดียว หน่วยที่ถูกขัดขวางต้องจัดเลือกตั้งใหม่ในภายหลัง

7 มีนาคม ศาลปกครองคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิล เปลี่ยนศรี

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิล เปลี่ยนศรี เนื่องจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

7 พฤษภาคม
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง

คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9/2557 ความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวิตร สิ้นสุดลง กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ ผู้ร้องคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิก แต่รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

จะเห็นว่ากลไกในระบอบประชาธิปไตย ได้เตรียมแก้ปัญหาไว้ โดยมีรองนายกฯ หลายคน เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองนายกฯ ลำดับ 6 เมื่อใช้ทั้งม็อบ ปิดกรุงเทพฯ ตุลาการภิวัฒน์หลายครั้งก็ยังเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้

…สุดท้ายต้องรัฐประหาร

22 พฤษภาคม 2557คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร

 

 

ระดับของการกำจัดทางการเมือง

ระดับหนักสุด…จากฉบับที่แล้วจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยนายกฯ ทักษิณโดนทั้งอำนาจทหารและอำนาจกระบวนการยุติธรรม ไม่เพียงหลุดจากตำแหน่งนายกฯ แต่เมื่อถูกลงโทษทางคดีอาญาก็ไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้ นี่เป็นการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองแบบที่แน่นอนซึ่งใช้กันมาในสมัยอดีต นายกฯ แต่ละคนที่ถูกรัฐประหาร มักจะต้องไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ

ส่วนนายกฯ ยิ่งลักษณ์แม้มีคะแนนเสียงเกินครึ่งและได้เป็นรัฐบาลก็ถูกถอดถอน หลุดจากตำแหน่งนายกฯ แต่สุดท้ายไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้จึงต้องใช้กำลังทหารทำการรัฐประหาร และฟ้องร้องดำเนินคดีจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ระดับธรรมดา ให้หลุดจากตำแหน่ง…และตัดกำลัง

จะพบว่าอำนาจของกระบวนการยุติธรรมสามารถเปลี่ยนสถานการณ์การเมืองให้พลิกกลับได้ เช่นกรณีของนายกฯ สมัคร สุนทรเวช กรณีนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และมีการยุบพรรคการเมืองทั้งไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่บังอาจมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการตัดกำลัง และข่มขวัญ

ทั้งยังสามารถพลิกสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่

 

5 ปี คสช.มีอำนาจเหนือทุกฝ่าย
เพราะมาตรา 44 และใช้คำสั่ง คสช.เป็นกฎหมายได้
ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมก็ยอมรับอำนาจของ คสช.2557
เหมือนที่ยอมรับ คมช.2549

หลังการรัฐประหารอำนาจของคณะรัฐประหารมีมากมายและใช้ได้เร็วกว่าอำนาจกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจกระบวนการยุติธรรมจึงลดลง และอำนาจนี้ไม่สามารถใช้กับคณะรัฐประหารได้ แต่ยังใช้กับคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจได้เหมือนเดิม เราจึงเห็นการใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนทางการเมือง หรือเพื่อปกป้อง และรักษาอำนาจ จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ผ่านลักษณะการใช้อำนาจ 2 แบบคือ

1. ไม่ให้มีผู้ต่อต้านอำนาจรัฐและโครงสร้างการปกครอง โดย คสช.นำเอง

การรัฐประหารถือว่าไม่ผิด เพราะรัฐธรรมนูญที่บอกว่าผิดถูกฉีกทิ้งไปแล้ว แต่คนที่ต่อต้านคณะรัฐประหารผิด เพราะขัดคำสั่ง คสช. และ รธน.2557

ดังนั้น จึงปรากฏผู้ที่มีความผิดฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เช่นนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ทอม ดันดี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฯลฯ มีการฟ้องและดำเนินคดี ส่วนใหญ่ก็ถูกปรับและรอลงอาญา คือศาลจะพิพากษาจำคุกประมาณ 6 เดือน ปรับประมาณ 10,000 บาท ยกเว้น จิตรา คชเดช เพราะอยู่ต่างประเทศ

ผู้ต้องหาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากคือพวกฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนและทำกิจการต่อต้าน คสช. ตามรายงานของ iLaw มีประมาณ 400 คน

มีทั้งเป็นกลุ่มตั้งแต่ 10-20 คน และคดีที่เป็นคนเดียว จากกิจกรรมในประเภท เช่น ชู 3 นิ้วต่อต้านรัฐประหาร ที่ กทม.และที่เชียงราย ทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อุดรฯ สุรินทร์ หนองบัวลำภู แพร่ สกลนคร ทำกิจกรรมรำลึกวันที่ 24 มิถุนายน ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง

ส่วนใหญ่จะมีโทษแค่ปรับ โทษจำคุกก็รอลงอาญา ภายหลังเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมถูกยกเลิกคดีก็ยุติ

อีกกลุ่มประมาณ 100 กว่าคนก็ถูกข้อหาปลุกปั่นยุยงตามมาตรา 116 เช่นคดี นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงการณ์ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สมบัติ บุญงามอนงค์ Facebook ชักชวนประชาชนต้านรัฐประหาร บางกลุ่มจัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดินต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางคนโพสต์ Facebook วิจารณ์ คสช. บางคนถ่ายรูปถือขันน้ำสีแดงและมีภาพทักษิณ แต่คดีนี้อัยการไม่ฟ้อง บางกลุ่มใส่เสื้อสีดำมีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท

อีกกลุ่มก็เป็นคดีมาตรา 112 มีประมาณ 98 ราย มีจำนวนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังฝากขังครบ 84 วัน ที่ถูกจำคุกจะถูกจำคุกประมาณ 2 ปี 6 เดือนถึง 5 ปี ที่จำคุกเกินกว่า 20 ปีมีเพียง 3 ราย

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษในคดี 112 ที่เกี่ยวกับการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์อีก 37 ราย เช่น คดีหมอหยอง

การใช้มาตรา 44 ของคณะรัฐประหารมีอำนาจเหนืออำนาจทุกฝ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะโยกย้ายข้าราชการระดับไหนก็ทำได้ทุกอย่าง

ถ้าจะมีพลาดที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องการยึดสัมปทานเหมืองทองคำอัครา เพราะงานนี้การตัดสินความขัดแย้งมิได้ใช้องค์กรในประเทศไทยเป็นผู้ตัดสิน ถ้าแพ้คดีขึ้นมาต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้าน ใครจะเป็นผู้ชดใช้

2. การใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ที่มีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อคู่แข่งทางการเมือง

หลังการรัฐประหาร 2557 เราได้เห็นผลกระทบคู่แข่งทางการเมืองสำคัญ 3 รายคือ

2.1 อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ความที่เป็นบุคคลที่มีประชาชนชื่นชม มีคะแนนเสียงดีมาก ถ้าหากทิ้งเอาไว้ก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ขืนปล่อยให้ลงเลือกตั้งได้คะแนนก็จะท่วมท้นเพราะการเลือกตั้งครั้งก่อนขนาดไม่มีคนรู้จัก ใช้เวลาไม่กี่วันก็ทำคะแนนได้มากมาย

ดังนั้น นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่ควรให้มีโอกาสมาช่วยหาเสียง เป้าหมายการกำจัดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้ออกจากวงการเมืองจึงจะต้องถูกทำให้สำเร็จก่อนมีการเลือกตั้ง

23 มกราคม 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง คสช.แต่งตั้ง ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว

โดยกล่าวหาว่าละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหาต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวกสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ตกไป ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัว

17 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพออกคำสั่ง ศอฉ. สลายชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูล

27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี

 

2.2 กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าแยกออกมาจากพรรคเพื่อไทยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง เพราะถ้าหากรวมกันอยู่เป็นพรรคใหญ่ เมื่อได้ ส.ส.เขตจำนวนมากก็จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นการแก้เกมที่ฝ่ายตรงข้ามร่างกฎเกณฑ์การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นแบบพิสดารที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อให้พรรคเล็กๆ ที่แพ้การเลือกตั้งได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มบ้าง จะได้สามารถดึงมาร่วมรัฐบาล

7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัย กรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อซ้ำ และชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้เป็นเวลา 10 ปี

การตัดสินครั้งนี้ฝ่ายตรงข้ามคิดว่าเป็นการตัดกำลังคู่แข่งถือว่าตัดแขนข้างหนึ่งของพรรคเพื่อไทยทิ้งก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน

แต่นับเป็นการประเมินผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะผลก็คือ คะแนนทั้งหมดเมื่อกลับคืนไปให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้ลงสมัครในเขตนั้นๆ แต่ก็สามารถตีกลับไปให้พรรคใหม่ๆ อย่างเช่น อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ได้

มีผลให้พรรคอนาคตใหม่มีคะแนนบวกเพิ่ม และไม่ต้องตัดคะแนนกับไทยรักษาชาติ พลิกกลับมาชนะ ส.ส.ได้หลายเขต

2.3 กรณีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดิมบุคคลนี้ยังไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เมื่อแสดงทัศนะทางการเมือง นโยบายทางการเมืองการปกครอง ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่ามองว่าจะเป็นภัยแก่ตัวเองเพราะมีลักษณะก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่พวกเขาจะรับได้ แต่ก็ยังไม่กลัวเท่าไร จนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมาพบว่าได้ ส.ส.ถึง 81 คนมาเป็นอันดับ 3 ได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวมากมายจึงถือว่าเป็นอันตรายที่ต้องกำจัดออกจากวงการเมืองเช่นเดียวกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ในระดับถูกจัดหนัก

20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ “ธนาธร” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2562 จากกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด การไม่ให้นายธนาธรทำหน้าที่ ส.ส.จึงเป็นไม้แรกของการสกัดกั้น จากนั้นก็มีการฟ้องร้องต่อศาลอาญา

นี่เป็นเรื่องปกติที่ทำการพรรคฝ่ายตรงข้ามมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมองจากเป้าหมายนี้แล้วพวกเขาหวังกำจัดบทบาทของธนาธรไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง

ตุลาการภิวัตน์ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างสำคัญ

22 เมษายน 2559 การเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ปิยบุตรได้เสนอ

ผลกระทบของตุลาการภิวัตน์ ต่อทางการมือง (สรุปย่อๆ 4 รูปแบบ)

ผลกระทบต่อกลุ่มแรกคือ การเข้าไปจัดการนักการเมืองโดยตรง กำจัดนักการเมืองที่ถูกมองเป็นศัตรู เป็นภัยต่อชนชั้นนำจารีตประเพณี ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มนี้คือ การยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี การปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ยึดทรัพย์สิน ผลคือนักการเมืองเหล่านี้ต้องถูกขับออกไปจากการเมือง ไม่ถาวรก็ชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง แล้วรัฐบาลต้องล้มลง ต้องมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

กลุ่มที่สอง ส่งผลทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล โดยธรรมชาติขององค์กรยุติธรรม เราไม่สามารถตัดสินคดีที่ปลดรัฐบาลล้มรัฐบาลได้อยู่บ่อยๆ ข้อจำกัดมันมี ถ้าทำมากๆ อาจทำให้เสียหายได้ แต่มันก็มีวิธีอยู่คือ มีคำตัดสินออกมาแล้วมันไปบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลหรือเปิดช่องให้องค์กรอื่นเล่นงานได้ต่อ

เช่น การตัดสินว่าการย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายประจำ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นก็มี ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เอาผลนี้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีการปลดคุณยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ

กลุ่มที่สาม คำตัดสินที่ส่งผลปกป้องแดนอำนาจของตัวเอง รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหัวใจของพวกเขา พอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากชูธงจะเข้ามาแก้ เริ่มแก้ปุ๊บก็ถูกขวางทันที ถามว่าทำไมต้องขวาง เพราะถ้าแก้กลับไปเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด คนที่จะมีอันเป็นไปคือ องค์กรอิสระทั้งหลายนี่แหละ จะต้องถูกเปลี่ยนหมดแน่นอน เพราะ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นคนเข้ามาเลือก

ดังนั้น จึงปล่อยไม่ได้ การแก้ ส.ว.จึงเป็นเหมือนกล่องดวงใจ เราถึงเห็นการตีความแบบพิสดารว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หลังจากนั้นมาเป็นชุด แก้มาตรา 190 ก็ไม่ให้แก้ แก้เรื่องยุบพรรคก็ไม่ให้แก้ นี่คือการป้องกันแดนอำนาจของตัวเอง เพราะถ้าเสียส่วนนี้ไป บางองค์กรจะพลิกโฉมทันที (ให้คอยดูการแก้ รธน.2560 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าจะทำได้หรือไม่)

กลุ่มที่สี่ คำตัดสินที่ส่งผลให้เกิดสุญญากาศ เช่น ตอนรัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ มันจะมีการชุมนุมต่อต้าน จุดประสงค์ของผู้ชุมนุมต่อต้านไม่ได้ต้องการให้ยุบสภา เพราะเขามองว่ายุบแล้วเลือกตั้งใหม่ได้พวกเดิมกลับมา เขาจะบอกปฏิรูปก่อนบ้าง เสนอ ม.7 เสนอนายกฯ พระราชทานบ้าง แต่อยู่ดีๆ เสนอไม่ได้ มันต้องเกิดสุญญากาศก่อน การเป็นรัฐบาลรักษาการก็คือเข้าสู่สภาวะสุญญากาศ และทั้งสองครั้งจบด้วยการรัฐประหาร

นี่คือผลกระทบในทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์

ข้อสรุปนี่มีมาประมาณ 3 ปีก่อนเลือกตั้ง และ อ.ปิยบุตรก็คงไม่คิดว่าตนเองจะถูกผลกระทบนี้ด้วย

ขณะนี้เกิดความไม่สมดุลในอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งแก้ไม่ได้ เพราะความไม่สมดุลนั้น ไม่ใช่แค่ระบบ แต่สามารถเอียงไปตามตัวบุคคล ตามกลุ่ม

เมื่อมาตรฐานความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้นในสภาพการเมืองที่ติดล็อก รัฐบาลเสียงไม่มาก รัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ เศรษฐกิจมองไม่เห็นทางฟื้น ผู้คนยากลำบากทั้งประเทศ เมื่ออีกฝ่ายคุมทุกอำนาจ การต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนก็จะไร้รูปแบบ สะสมแรงกดดันที่ได้รับทุกวัน ใครทนไม่ได้ก็ฆ่าตัวตายไป ที่ยังอดทนได้ก็รอวันปะทุ ซึ่งทุกคนในสังคมต้องรับผลร่วมกัน แต่จะเป็นแบบประเทศใดยังไม่รู้