เบื้องหลังการเขียนบท “ละครจักรๆ วงศ์ๆ” ของ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” | คนมองหนัง

คนมองหนัง

“รัมภา ภิรมย์ภักดี” คือหนึ่งในนักเขียนบทคนสำคัญของกระบวนการผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร ภายใต้นามปากกา อาทิ “ภาวิต” และ “พิกุลแก้ว”

เธอเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 ก่อนจะขึ้นถึงจุดสูงสุดครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 2540

ผ่านการดัดแปลงย่อส่วนวัฒนธรรมหลวงอย่างรามเกียรติ์มาเป็นละครพื้นบ้าน/วัฒนธรรมราษฎร์ใน “เทพศิลป์ อินทรจักร” (2542) การนำนิทานวัดเกาะมายำกับเทพปกรณัมกรีกเรื่อยไปถึงไซอิ๋วใน “เทพสามฤดู” (2546) รวมทั้งการทำลายขนบของเรื่องเล่าแบบแบ่งแยก “เทพ/ความดี” กับ “มาร/ความชั่ว” ใน “เกราะกายสิทธิ์” (2549)

ก่อนจะส่งไม้ต่อให้นักเขียนนิยายดัง “นันทนา วีระชน” รับหน้าที่ดังกล่าวอยู่นานหลายปี

รัมภาหวนคืนมาเขียนบทละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ อีกหนในช่วงไม่กี่ปีหลัง พร้อมปั้น “สังข์ทอง” (2561) จนกลายเป็นละครฮิต ได้เวลาออกอากาศเกิน 100 ตอน

ต้นปี 2562 “อัศศิริ ธรรมโชติ” เจ้าของรางวัลซีไรต์ ก้าวเข้ามาเขียนบทละครเรื่อง “ขวานฟ้าหน้าดำ” ในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะที่รัมภาได้หยุดพัก เพื่อจะกลับมาเขียนบท “นางสิบสอง” เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งกำลังแพร่ภาพอยู่ ณ ปัจจุบัน

ที่มา https://www.silpa-mag.com/culture/article_34414

รัมภาซึ่งใช้นามแฝงว่า “สุวิชา” ในการเขียนบท “นางสิบสอง 2562” นั้นมีศักดิ์เป็นหลานสาวของ “ไพรัช สังวริบุตร” ผู้ก่อตั้งบริษัทดาราวิดีโอ-ดีด้า-สามเศียร และ “บิดา” ผู้วางรากฐานให้กับละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ ไทย

เธอจบการศึกษาจากแผนกวรรณคดีและภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะเริ่มงานเขียนบทละครอย่างจริงจังในปี 2528

รัมภาเคยฉายภาพวิธีการทำงานของตนเองผ่านบทสัมภาษณ์ “ชีวิต-แนวคิดการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” ต้นตอวลี “แม่ไม่ปลื้ม”” โดย “กันตพงศ์ ก้อนนาค” ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

โดยหนึ่งในลักษณะเด่นของการเขียนบทสไตล์ “รัมภา/สามเศียร” ก็คือ การทำงานที่ปราศจากการวางโครงเรื่องล่วงหน้า

“ครูไม่ทำทรีตเมนต์ไม่ร่างไม่แร่ง (หัวเราะ) ครูเขียนออกมาเลย จินตนาการครูออกมาเต็ม แต่เราต้องคุมเรื่องให้ได้ เราจึงรู้สึกสนุก เคยมีครั้งหนึ่งสถานีโทรทัศน์ขอทรีตเมนต์ก่อน แต่เราก็บอกว่า … ไม่มี (หัวเราะ)”

รัมภายังเล่าให้กันตพงศ์ฟังถึงวิธีการดัดแปลง “หนังสือวัดเกาะ” มาสู่ “สื่อโทรทัศน์” ซึ่งมิใช่การแปร “นิทานคำกลอน” มาเป็น “ภาพเคลื่อนไหว” ชนิดตรงไปตรงมา

โดยในการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องแรกคือ “เทพสามฤดู” (2530) นั้น รัมภาเริ่มต้นผจญภัยด้วยการไล่อ่านหนังสือนิทานวัดเกาะ (เรื่อง “สามฤดู”) ไปเรื่อยๆ แล้วจึงสานต่อเรื่องราวตามบทประพันธ์ร้อยกรองข้างต้น

แต่ไพรัชกลับสอนวิธีการทำงานอีกแนวทางหนึ่งแก่ผู้เป็นหลาน นั่นคือการอ้างอิงบทประพันธ์เดิมเฉพาะช่วงต้นเรื่อง แล้วจากนั้นก็ให้ค่อยๆ ขยายบทละครออกไปตามจินตนาการร่วมสมัย

ที่มา https://www.silpa-mag.com/culture/article_34414

เมื่อจินตนาการต้องดำรงอยู่ควบคู่กับประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลแต่ละราย รัมภาจึงนำเอาภูมิหลังทางการศึกษาของตนเองมาประยุกต์ใช้ในการแต่งเติมเสริมต่อบทละครจักรๆ วงศ์ๆ

“ครูเรียนจบด้านวรรณคดีอังกฤษมา ครูนำมาปรับให้เป็นของไทยค่อนข้างเยอะ ตอนเด็กอ่านนิทานกริมม์ นิทานแอนเดอร์เซน นิทานอีสป ครูก็ปรับมาใช้ในละคร ปรับมาเรื่อยจนเรื่องที่สอง ปรับให้ร่วมสมัย ปรับสิ่งรอบตัวในปัจจุบันให้เป็นอดีต ให้คนปัจจุบันเข้าใจ เหมือนให้คนดูเข้าไปอยู่ในเรื่องได้” นักเขียนบทมากประสบการณ์บอกกับกันตพงศ์

ประเด็นนี้ยังสอดคล้องกับที่รัมภาเคยให้สัมภาษณ์ “มัณฑลี ศิลาวิเศษฤทธิ์” ไว้ในวิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบราชาธิปไตย ในละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ” (2537)

ซึ่งบ่งชี้ว่ากระบวนการเขียนบทละครของรัมภานั้น เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมอันหลากหลายเข้าด้วยกัน

“มาลัยทองที่เขียนนี่ ก็หยิบเอาอิเหนามาหน่อยหนึ่ง หยิบสังข์ทองมานิดหนึ่ง… มาปนๆ กันใหม่… แล้วบางทีก็หยิบพวกตำนานอย่างเช่น เคยเรียนพวกกรีก Mythology ก็มาปรับใหม่ให้เป็นไทยโดยที่ไม่รู้สึกตัว…” รัมภาให้สัมภาษณ์มัณฑลีในปี 2536

มิอาจปฏิเสธได้ว่าการเขียนบทโดยไม่วางโครงเรื่องก็ดี และการนำนิทานวัดเกาะมาแต่งเสริมเติมต่อก็ดีนั้นนำมาสู่การถ่ายทอดเรื่องราวในลักษณะ “ด้นสด” หรือ “ออกทะเล/มหาสมุทร” (มีความหมายทั้งในแง่บวกและลบ) ซึ่งค่อยๆ คลี่คลายกลายเป็นอัตลักษณ์หลักของละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร

ความคิดสร้างสรรค์ชั้นเลิศของรัมภาที่เพิ่งปรากฏในละครจักรๆ วงศ์ๆ ยุคหลัง ก็คือการเสริมใส่ตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศลงสู่มหรสพประเภทนี้

ผ่านกรณีโด่งดังของ “เจ้าชายไชยันต์” ใน “สังข์ทอง 2561”

รัมภาอธิบายให้กันตพงศ์ฟังว่า ตัวละครรายดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในบริบทของสังคมยุคปัจจุบันที่เปิดกว้างกว่าเก่า

ที่สำคัญ เธอยังสามารถผลักดันชะตากรรมของ “เจ้าชายไชยันต์” ให้เดินไปจนสุดทาง กระทั่งไม่สามารถกลับมาเข้ารูปเข้ารอยตามจารีต/บรรทัดฐานเดิมๆ ได้

“ตอนจบต้องทำให้ดูว่าเขาไม่สามารถกลับเป็นผู้ชาย มันง่ายไป เป็นไปไม่ได้ … จะเปลี่ยนได้อย่างไร”

สำหรับ “นางสิบสอง” ฉบับล่าสุด หนึ่งในองค์ประกอบแปลกใหม่ที่รัมภาใส่ลงไปให้มีความผิดแผกแตกต่างจากเดิม ก็คือประเด็นความขัดแย้งระหว่าง “เศรษฐีนนท์” พ่อของตัวเอกทั้ง 12 ราย ซึ่งเป็นคนธรรมดาปากไม่ดี กับ “พาลเทพ” เทวดาเจ้าคิดเจ้าแค้นผู้ชอบกลั่นแกล้งมนุษย์ ดังที่เธอบอกกล่าวกับกันตพงศ์ว่า

“ครั้งนี้ครูปรับตัวเศรษฐีให้เป็นคนปากไม่ดี ท้าเทวดาจนเทวดาไม่พอใจ ใช้วิธีการต่างๆ กลั่นแกล้งจนเศรษฐีหมดตัว และการมีลูกถึงสิบสองคนนั้นเกิดจากการกลั่นแกล้งของเทวดา เหมือนกับผู้มีอำนาจที่คอยแกล้งชาวบ้าน การทำแบบนี้ทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผู้มีอำนาจไม่ควรกระทำต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง”

ข้อมูลจาก

ชีวิต-แนวคิดการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” ต้นตอวลี “แม่ไม่ปลื้ม” โดย กันตพงศ์ ก้อนนาค https://www.silpa-mag.com/culture/article_34414

วิทยานิพนธ์หัวข้อ “การถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบราชาธิปไตยในละครโทรทัศน์จักรๆ วงศ์ๆ” โดย มัณฑลี ศิลาวิเศษฤทธิ์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/31724